ประเด็นร้อนในวงการแพทย์ เมื่อนักแสดงสาว ปุยเมฆ นภสร หรือ พญ.นภสร วีระยุทธวิไล ยื่นใบลาออก ส่วนหนึ่งมาจากระบบของโรงพยาบาลรัฐที่มีคนไข้จำนวนมาก และหมอไม่ได้พักผ่อน รวมถึงปัญหาที่ซ่อนอยู่ใต้พรมมาเป็นเวลานาน
ขณะที่แหล่งข่าวในวงการแพทย์ ระบุว่า แพทย์ฝึกหัดต้องทำงาน 80-100 ชั่วโมง/สัปดาห์ อยู่เวรในโรงพยาบาลติดกัน 1-3 วัน ประกอบกับระบบราชการทำให้แพทย์รุ่นใหม่กว่า 50% ตัดสินใจยื่นใบลาออก ไปอยู่โรงพยาบาลเอกชน
ทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์ สอบถามไปยัง นพ.ณัฐ ศิริรัตน์บุญขจร ตัวแทนสหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงาน เล่าถึงปมเหตุที่หมอรุ่นใหม่ลาออกจำนวนมากว่า จากการประเมินส่วนตัวหลังจากจบคณะแพทย์มา 6 ปี ขณะนี้เพื่อนในรุ่นลาออกจากโรงพยาบาลรัฐแล้ว 50% เนื่องจากภาระงานมาก โดยเฉพาะแพทย์ฝึกหัดหลายคนทำงานเกิน 80-100 ชั่วโมง/สัปดาห์ ต้องอยู่เวรในโรงพยาบาลติดกัน 1-3 วัน แทบไม่ได้นอน ทำให้ประสิทธิภาพการตรวจคนไข้ลดลง และสุขภาพเริ่มมีปัญหา
“ที่ผ่านมามีเพื่อนแพทย์รายหนึ่ง เข้าเวรติดต่อกันหลายวัน ระหว่างกลับบ้านขับรถประสบอุบัติเหตุ เนื่องจากร่างกายอ่อนเพลีย โชคดีที่รอดมาได้ จากนั้นตัดสินใจลาออก แม้หลายคนมองว่าทำไมไม่นอนก่อนขับรถกลับบ้าน แต่สุดท้ายแล้วถ้านอนที่โรงพยาบาลก็ไม่ได้กลับบ้าน ลองคิดดูว่าหมอต้องอยู่ในโรงพยาบาลตลอดปี โดยไม่ได้กลับบ้าน”
จากประสบการณ์เคยตรวจคนไข้ในโรงพยาบาลรัฐต่างจังหวัด เฉลี่ยวันละ 100-120 คน ใช้เวลาตรวจคนไข้แต่ละคนประมาณ 5-7 นาที บางรายต้องใช้เวลาตรวจนานกว่านั้น แต่ด้วยปริมาณคนไข้ที่มาก ทำให้หมอใช้เวลาตรวจคนไข้ที่มีอาการน่าห่วงได้ในเวลาจำกัด

...
อีกปัจจัยมาจากค่าตอบแทน โดยขึ้นอยู่กับโรงพยาบาลแต่ละที่ ส่วนใหญ่หมอจบใหม่ในโรงพยาบาลรัฐได้อยู่ที่ 60,000-100,000 บาท/เดือน มีองค์ประกอบจากจำนวนเวรและงานที่ทำ ถ้าเทียบกับโรงพยาบาลเอกชน หมอจบใหม่ได้ค่าตอบแทน 150,000 บาท/เดือน หรือแพทย์ที่ไปเรียนเสริม แล้วไปอยู่คลินิกความงามประมาณ 200,000 บาท/เดือน แต่ภาระงานในโรงพยาบาลเอกชนน้อยกว่าโรงพยาบาลรัฐถึงครึ่งหนึ่ง สิ่งสำคัญแพทย์จะได้พักผ่อนเพียงพอ
“แพทย์ใช้ทุน เมื่อต้องไปอยู่โรงพยาบาลรัฐ มักเจอปัญหาในการสอนงานจากแพทย์รุ่นพี่ เป็นปัญหาเชิงวัฒนธรรมองค์กร เช่น เหตุการณ์ที่หมอรุ่นน้องโทรไปปรึกษาเคสที่ยากๆ เพราะเป็นอาการเฉพาะทาง ก็ถูกดุกลับมา หรือบางกรณีแพทย์รุ่นพี่ถามถึงการวิเคราะห์อาการ หากรุ่นน้องตอบไม่ได้ จะถูกดุด่าว่ากล่าว หลายครั้งคำที่ใช้มีความรุนแรง และแพทย์ที่อยู่มานานอาจออกตรวจแค่ 1-2 ชั่วโมง จากนั้นออกไปตรวจที่คลินิกตนเอง โดยคนไข้ที่เหลือปล่อยให้แพทย์รุ่นน้องตรวจต่อ”

น่าสนใจว่าอาจารย์หมอหลายท่าน ตัดสินใจลาออกจากระบบราชการมากขึ้น โดยเฉพาะแพทย์ศัลยกรรม ประสาท เนื่องจากในระบบมีการโยนงานให้กัน จนอาจารย์หมอบางคนรับภาระมาก ไม่มีเวลาพักผ่อน ต้องตัดสินใจลาออก ดังนั้น จะเห็นว่าประเด็นการลาออกของแพทย์ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะหมอใหม่ แต่แพทย์เฉพาะทางที่อยู่มานาน ก็เริ่มเหนื่อยหน่ายกับระบบ
ถ้ามองถึงจำนวนแพทย์ทั่วประเทศ พบว่ามีหมออยู่ในกรุงเทพฯ มากกว่าต่างจังหวัด แสดงให้เห็นถึงการกระจุกตัวของแพทย์ที่อยู่ในเมืองจำนวนมาก เป็นปัญหามาจากระบบสาธารณสุขไทย ที่ไม่มีการแยกแพทย์ตามภาระงานแต่ละสาขาชัดเจน ตัวอย่างเช่น โรงพยาบาลแห่งหนึ่งนับจำนวนแพทย์ในโรงพยาบาล ตั้งแต่ผู้อำนวยการ หมอรังสี ซึ่งสองตำแหน่งนี้ไม่ได้ตรวจคนไข้ แต่เมื่อต้องรายงานจำนวนแพทย์ในโรงพยาบาล จะรวมเข้าไปด้วย ทำให้จำนวนแพทย์ในโรงพยาบาลรัฐที่ออกตรวจจริงไม่เพียงพอ เป็นจุดอ่อนที่ยังไม่มีฐานข้อมูลว่า โรงพยาบาลรัฐแต่ละแห่ง มีความต้องการแพทย์เฉพาะทางออกตรวจจริงจำนวนเท่าไร โดยไม่นับรวมกับหมอที่นั่งในตำแหน่งบริหาร หากมีการแก้ปัญหานี้ได้ จะช่วยให้หมอที่ต้องตรวจคนไข้มีเพียงพอ เพราะโรงพยาบาลแต่ละแห่งมีจำนวนประชากรป่วยแต่ละโรคแตกต่างกัน
“การแก้ปัญหาหมอให้มีเพียงพอ ต้องมีข้อมูลองค์รวมในโรงพยาบาลทั่วประเทศว่า มีความต้องการแพทย์เฉพาะทางด้านไหน และจำนวนเท่าไร เมื่อได้ข้อมูลมาต้องจัดสรรแพทย์ให้ตรงกับความต้องการของประชาชน ขณะเดียวกัน ต้องมีการประสานกับโรงเรียนแพทย์ว่า ในปีต่อไปต้องการหมอเฉพาะทางด้านไหนเพิ่ม จะได้สร้างบุคลากรได้ทัน”

...
การที่หมอกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ มากกว่าต่างจังหวัด ทำให้หมอในพื้นที่ต่างจังหวัดต้องรับภาระการตรวจคนไข้จำนวนมาก เช่น จังหวัดบึงกาฬ หมอต้องรับภาระคนไข้กว่า 5,000 คน สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้คือ ประเทศไทยขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์เกือบทุกด้าน เป็นผลทำให้ประชาชน เมื่อต้องไปพบแพทย์หรือผ่าตัดที ต้องรอคิวนานข้ามเดือน
สิ่งที่แพทย์ต้องการในอนาคตคือ การให้บริการประชาชนได้อย่างมีความสุข หมอที่อยู่ในระบบราชการอาจไม่ได้เงินสูงเท่าโรงพยาบาลเอกชน แต่ให้สามารถอยู่ได้ในภาวะงานที่สมเหตุสมผล ขณะเดียวกัน อยากให้มีการขยายโรงเรียนแพทย์ไปอยู่ตามพื้นที่ต่างจังหวัดมากขึ้น เพราะการที่แพทย์กระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ เป็นผลมาจากแพทย์บางส่วนมีพื้นเพอยู่ในเมือง แต่ถ้ามีโรงเรียนแพทย์ที่มีมาตรฐาน และได้บุคลากรในพื้นที่มาช่วยทำให้โรงพยาบาลในชุมชนบริการเพียงพอ จะช่วยทำให้ระบบสาธารณสุขของคนไทยดีขึ้นกว่าเดิม.