“โควิด” ยังอยู่กับพวกเรา มีการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์อย่างรวดเร็วต่อเนื่อง จนมาถึงยุคโอมิครอนลูกผสม XBB.x และในที่สุดกลับมาระบาดระลอกใหม่ในไทยอีก มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากตั้งแต่ต้นปี ล่าสุดโรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ ออกประกาศว่าขณะนี้เตียงผู้ป่วยวิกฤติ และเตียงผู้ป่วยใน สำหรับดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด เต็มทุกห้องแล้ว ส่วนแผนกฉุกเฉินยังมีผู้ป่วยรอการส่งต่อ ไม่สามารถรองรับผู้ป่วยโควิดเพิ่มได้อีก
เป็นสัญญานเตือนไปยังทุกคน ให้จดจำบทเรียนในอดีต โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงพึงระวัง ต้องตั้งการ์ดในการป้องกันอย่าได้ประมาทเด็ดขาด และจากข้อมูลกรมควบคุมโรค รายงานว่าตั้งแต่ช่วงวันที่ 14 พ.ค.-20 พ.ค. 2566 มีจำนวนผู้ป่วยใหม่ 2,632 คน เฉลี่ย 376 คนต่อวัน และตั้งแต่ต้นปีมีผู้เสียชีวิตรวมแล้ว 64 ศพ เฉลี่ย 9 ศพต่อวัน แม้ผู้ติดเชื้อโควิดทั่วโลกจะลดลง แต่สายพันธุ์โอมิครอน ยังกลายพันธุ์แพร่ระบาดต่อเนื่อง
ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ออกมาเตือนสถานการณ์การระบาดของโควิดระลอกใหม่ในจีนและอาเซียน กำลังถูกขับเคลื่อนโดยโอมิครอนลูกผสม XBB ทั้ง 3 สายพันธุ์ย่อย XBB.1.5, XBB.1.16 และ XBB.1.9.1 มีแนวโน้มจะทำให้ผู้ติดเชื้อบางรายที่เคยได้รับวัคซีน หรือเคยติดเชื้อโควิดมาก่อน มีอาการรุนแรง
...
คนไทยติดโควิดมากขึ้น เพราะไม่ได้ฉีดวัคซีนมานาน
จากการอธิบายของ “ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ จันทราทิตย์” หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ ระบุว่า ภาพรวมการระบาดของโควิดในไทย สายพันธุ์โอมิครอนลูกผสมสายพันธุ์ย่อย ไม่ต่างจากโอมิครอนรุ่นก่อนในแง่ของความรุนแรง เพียงแต่ว่าภูมิคุ้มกันโดยรวมทั้งประเทศลดลงไป เพราะไม่ได้ฉีดวัคซีนโควิดอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้คนติดเชื้อกันมากขึ้น และมีผู้เสียชีวิตตั้งแต่ต้นปีประมาณ 64 ศพ เพิ่มขึ้น 200% หรือ 3 เท่า
“สถานการณ์ไม่ได้รุนแรง แต่เพราะคนเหินห่างไม่ได้ฉีดวัคซีนกันมานาน ทำให้คนติดเชื้อดูเพิ่มมากขึ้น จึงต้องเฝ้าจับตา และแม้คนติดเชื้อทั่วโลกลดลงโดยเฉพาะซีกโลกเหนือ แต่ซีกโลกใต้กลับเห็นการระบาดในจีน ในไทย บริเวณประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งออสเตรเลีย และโอมิครอนลูกผสมสายพันธุ์ย่อยทั้ง 3 ตัว ก็เข้ามาในไทย เริ่มตั้งแต่ XBB.1.5 เข้ามาตัวแรก ตามด้วย XBB.1.16 และ XBB.1.9.1 เข้ามาพร้อมๆ กัน จะเข้ามาแทนที่ตัวแรก และมีแนวโน้มจะกลายพันธุ์ต่อเนื่อง เพราะแต่ละสายพันธุ์มีอายุไม่เกิน 6 เดือน ก็จะมีสายพันธุ์อื่นมาแทน”
ย้อนไปในช่วงโควิดระบาดหนักในไทย ทำให้คนฉีดวัคซีนเป็นจำนวนมาก จนการระบาดเริ่มลดน้อยลงมีคนติดเชื้อน้อยลง ก็ไม่อยากเสี่ยงกับผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนโควิด ทำให้คนไม่ฉีดวัคซีนเป็นจำนวนมาก กระทั่งจะกลับมาฉีดอีกในขณะนี้ ซึ่งอยากแนะนำว่าผู้มีอายุตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 17 ปี ร่างกายแข็งแรง ยังไม่ต้องฉีด ส่วนผู้อายุมากกว่านี้ควรฉีดวัคซีนโควิด โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง
ขณะนี้ไทยมีวัคซีนรุ่นใหม่ “Bivalent” เป็นชนิดผสมระหว่างสายพันธุ์อู่ฮั่นและโอมิครอน หากมีอายุมากให้เข้ารับการฉีด ภายในช่วง 1 ปี หรือ 1 ปี ฉีดครั้ง และสามารถฉีดไปพร้อมๆ กับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ โดยอีกแขนฉีดวัคซีนโควิด ส่วนอีกแขนฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ หรือกรณีโควิดระบาดมาก ให้ฉีดในช่วง 6 เดือน ถึง 1 ปี
โอมิครอนลูกผสมสายพันธุ์ย่อย แพร่เร็ว หลบภูมิคุ้มกันเก่ง
สำหรับโอมิครอนลูกผสมสายพันธุ์ย่อย แม้ไม่มีความรุนแรง แต่สามารถแพร่เชื้อได้รวดเร็วมากกว่าสายพันธุ์ก่อนหน้าในช่วงระยะเวลา 5 วัน โดย 1 คนจะแพร่เชื้อได้ประมาณ 10 คน และยังหลบเลี่ยงระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายได้ดีกว่า ซึ่งหมายความว่ามีแนวโน้มที่จะทำให้คนป่วย และยังมีแนวโน้มที่จะทำให้คนที่ได้รับวัคซีนป่วยด้วย
“ปกติสายพันธุ์โอมิครอน สามารถแพร่เชื้อได้ในอัตรา 1 ต่อ 18 คน แต่การที่อัตราผู้ติดเชื้อลดลง เป็นการเปลี่ยนแปลงตามจำนวนคนติดมากหรือติดน้อย หากติดน้อยก็อัตรา 1 ต่อ 10 คน หรือกรณีไปโรงหนัง อาจจะติดน้อย เพราะคนติดเชื้อน้อยลง และโอมิครอน ไม่ชินกับภูมิอากาศเท่าไร จากเมื่อก่อนแพร่เชื้อในประเทศอากาศหนาว แต่ตอนนี้ย้ายมาแพร่เชื้อในซีกโลกใต้ที่มีอากาศร้อน”
...
ในเรื่องความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดในไทยของโอมิครอนลูกผสมสายพันธุ์ย่อย หากเต็ม 10 ให้แค่ 5 ยังไม่กังวลเท่าไร แต่ต้องกินร้อนช้อนกลาง และฉีดวัคซีน อีกทั้งองค์การอนามัยโลก ยังไม่ได้ประกาศจัดประเภท XBB.1.5, XBB.1.16 หรือ XBB.1.9.1 ซึ่งมาแทนที่สายพันธุ์ดั่งเดิม ให้เป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวล หรือ Variant of Concern แต่หากกลายพันธุ์มีความน่ากังวลก่อโรครุนแรง จะระบุชื่อใหม่เป็นตระกูล π (พาย หรือ Pi) ซึ่งเป็นอักษรกรีก ถัดจากโอมิครอนที่แพร่เชื้อได้ดีกว่า และรุนแรงกว่า หรือดื้อต่อวัคซีนมากกว่า.