เลือกตั้ง 2566 ใกล้เข้ามาในวันที่ 14 พ.ค.นี้ ทุกพรรคการเมืองต่างลงพื้นที่หาเสียง ชูนโยบายไม้เด็ดหลากหลายมิติที่เกี่ยวข้องกับเรื่องปากท้อง ความเป็นอยู่ของประชาชน รวมไปถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม ปัญหาฝุ่น PM 2.5 และวิกฤติการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ จากภาวะโลกร้อน เป็นสัญญาณเตือนหายนะที่ไทยเป็นหนึ่งในประเทศมีความเสี่ยงได้รับผลกระทบ จะต้องเตรียมรับมือ
พรรคการเมืองส่วนใหญ่ต่างชูนโยบายสิ่งแวดล้อม เพื่อให้คนไทยได้สูดอากาศสะอาด การแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 เรื่องระดับชาติจะต้องกำจัดต้นตอแหล่งกำเนิดของฝุ่นจิ๋วขนาดเล็ก การให้ความสำคัญกับพลังงานทางเลือกและพลังงานสะอาด ผ่านกลไก และมาตรการต่างๆ รวมถึงการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ให้มีแหล่งน้ำกินน้ำใช้อย่างทั่วถึงจากสถานการณ์ภัยแล้ง ควบคู่กับการแก้ปัญหาน้ำท่วม
ในส่วนพรรคเพื่อไทย แยกนโยบายสิ่งแวดล้อมออกมาอย่างชัดเจน แบ่งการทำงานระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว นอกจากมีการเสนอจะปรับลดราคาพลังงาน เพิ่มแหล่งก๊าซธรรมชาติราคาถูก ผลักดันพลังงานสะอาดและพลังงานทางเลือก จูงใจให้คนหันมาใช้รถพลังงานสะอาดด้วยมาตรการทางภาษี ยังมีการทวงคืนอากาศสะอาด บังคับใช้ พ.ร.บ.อากาศสะอาดฯ ดึงท้องถิ่นเข้ามาแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 บังคับใช้กฎหมายกับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เจรจากับเพื่อนบ้านเพื่อยุติปัญหาฝุ่น และมีการบริหารจัดการน้ำ จะต้อง “ไม่ท่วม ไม่แล้ง” และ “ประชาชนต้องมีน้ำดื่ม น้ำใช้” ด้วยการเพิ่มพื้นที่ชลประทาน สร้างทางระบายน้ำลงสู่ทะเล และมีแผนจัดการลุ่มน้ำเจ้าพระยา
...
นโยบายสิ่งแวดล้อมของพรรคก้าวไกล ผลักดันพื้นที่สีเขียว สนับสนุน พ.ร.บ.อากาศสะอาดฯ ส่งเสริมการใช้พาหนะพลังงานไฟฟ้า เปลี่ยนรถไฟดีเซลเป็นรถไฟฟ้า จัดการต้นตอก๊าซเรือนกระจก ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2050 และรับมือวิกฤติสภาพอากาศ สร้างแรงจูงใจให้ภาคการเกษตรลดการเผา ส่วนปัญหาขยะต้องเป็นศูนย์ ไม่ใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง ยกเลิกการนำเข้าขยะจากต่างประเทศ และยกเลิกโรงไฟฟ้าถ่านหินภายในปี 2035 ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมต้องเปิดเผยข้อมูลพิษและก๊าซเรือนกระจก (PRTR)
พรรครวมไทยสร้างชาติ อาจไม่เห็นนโยบายสิ่งแวดล้อมที่ชัดเจนมากนัก แต่ที่น่าสนใจจะผลักดันแนวคิดเปลี่ยนขยะเป็นเงิน ส่งเสริมให้ประชาชนเก็บขยะขายสร้างรายได้ และแยกขยะอย่างเป็นระบบ ส่วนการจัดการปัญหาฝุ่น PM 2.5 จะมีการบังคับใช้กฎหมาย และเจรจากับผู้นำ ประเทศเพื่อนบ้านทั้งลาวและเมียนมา เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาหมอกควันข้ามแดน และผลักดันให้คนใช้รถยนต์ไฟฟ้าให้มากขึ้น
มาที่พรรคพลังประชารัฐ มีการชูเมืองอัจฉริยะสีเขียวให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม และการสร้างเศรษฐกิจชีวภาพ อุตสาหกรรมหมุนเวียน นวัตกรรมสีเขียว (BCG) เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนครอบคลุมทั้งภาคการเกษตรอาหาร การแพทย์ สุขภาพ พลังงานและการท่องเที่ยวนอกจากนี้ยังเน้นการบริหารจัดการน้ำ พัฒนาแหล่งน้ำผิวดิน น้ำบาดาล น้ำประปา น้ำเพื่อการเกษตร มีการเพิ่มแหล่งกักเก็บน้ำ แหล่งน้ำสำรอง และแหล่งน้ำทางเลือก ไปจนถึงการแก้ปัญหาภัยแล้งน้ำท่วมซ้ำซาก และทำแผนผังน้ำชุมชนให้เป็นระบบ รวมถึงบริหารจัดการที่ดินให้ประชาชนมีที่ดินทำมาหากิน
พรรคภูมิใจไทย เน้นนโยบายพลังงานสะอาด เป็นมิตรต่อโลก ไม่ทำร้ายสุขภาพประชาชน และลดรายจ่ายประชาชนทั้งค่าน้ำมันและค่าไฟฟ้า มีการให้สิทธิ์ประชาชนเข้าร่วมโครงการใช้หลังคาบ้านติดตั้งโซลาร์เซลล์ฟรี เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ใช้ในบ้านไม่น้อยกว่า 450 บาทต่อเดือน ส่วนกระแสไฟฟ้าส่วนเกินขายให้รัฐบาล และยังได้สิทธิ์ซื้อมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าบ้านละ 1 คันในราคา 6,000 บาท ผ่อนชำระเดือนละ 100 บาท เป็นเวลา 60 เดือน
พรรคประชาธิปัตย์ แม้นโยบายสิ่งแวดล้อมไม่ได้ระบุอย่างชัดเจน แต่ยังคงเน้นการบังคับใช้กฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มงวดจริงจัง มีการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน และเพิ่มศักยภาพองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการจัดการขยะ การทำแนวเขตป่า และออกโฉนดที่ดิน 1 ล้านแปลงให้ประชาชนทำมาหากิน ภายใน 4 ปี เพื่อป้องกันการรุกพื้นที่ป่า
พรรคไทยสร้างไทย ให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมในแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 เชื่อมโยงกับการเกษตร การจราจร ขนส่งสาธารณะ และการเดินทาง โดยเฉพาะการเอาผิดกับคนเผาป่า สนับสนุนโรงงานผลิตรถโดยสารและรถยนต์ไฟฟ้า สร้างแรงจูงใจลดหย่อนภาษีที่ดินแก่เจ้าของที่ดินที่สมัครใจเข้าร่วมโครงการสวนสีเขียวที่เที่ยวชุมชน และผลักดันการบังคับใช้ พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ บังคับให้โรงงานมีการเปิดเผยและจัดส่งข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และมีเก็บภาษีคาร์บอน
พรรคชาติพัฒนากล้า ชูนโยบายสิ่งแวดล้อมควบคู่กับเศรษฐกิจ หรือเศรษฐกิจสีเขียว เน้นการปฏิรูปพลังงาน ให้เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และดึงประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตพลังงาน รวมถึงขยายพื้นที่ป่าให้ได้ 26 ล้านไร่ ผ่านการออกพันธบัตรป่าไม้มูลค่า 65,000 ล้านบาท สร้างรายได้ให้ประชาชน จากการขายพืชเศรษฐกิจและคาร์บอนเครดิต
...
พรรคชาติไทยพัฒนา เน้นการใช้กรีน หรือสิ่งแวดล้อม เป็นแกนหลักในการกำหนดนโยบาย จากจุดเริ่มใช้ป้ายหาเสียงพูดได้ด้วยเทคโนโลยี AR เป็นการลดขยะในการหาเสียง และให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาขยะในกรุงเทพฯ ลดการใช้พลาสติก และนำกลับมาใช้อย่างคุ้มค่าที่สุด ควบคู่กับมาตรการเข้มงวดในการคัดแยกขยะจากครัวเรือนก่อนทิ้ง และยังผลักดันการพัฒนาเกษตรกรสมัยใหม่ ส่งเสริมการทำเกษตรยั่งยืน สามารถขายคาร์บอนเครดิตให้กับบริษัทเอกชนและภาครัฐ รวมถึงการส่งเสริมการใช้พลังงานไฟฟ้า พลังงานธรรมชาติในภาคการเกษตร เพื่อลดรายจ่าย สร้างแต้มต่อในการแข่งขัน
แก้ฝุ่น PM 2.5 ชูพลังงานสะอาด แต่ไร้แอ็กชั่นแพลน
เมื่อพิจารณาดูนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของแต่ละพรรคอย่างคร่าวๆ “สนธิ คชวัฒน์” ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย มองว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมในขณะนี้ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน ซึ่งรัฐบาลชุดใหม่ต้องดำเนินการเพื่อส่งเสริมและพัฒนาที่ยั่งยืน ให้เป็นการเติบโตแบบเศรษฐกิจสีเขียว ต้องไม่ขัดแย้งกับเศรษฐกิจ เน้นในการรักษาสิ่งแวดล้อม ดูแลสังคม และชุมชนอย่างมีธรรมาภิบาล ด้วยการส่งเสริมให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 40%ภายในปี 2573
...
“เกือบทุกพรรคชูนโยบายอากาศสะอาด แก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 และส่งเสริมพลังงานสะอาด ก็เข้าใจว่าทุกคนจะลดโลกร้อน แต่มีคำถามว่ามีโรดแม็ป หรือแอ็กชั่นแพลนอย่างไร ทั้งการเน้นความเป็นเมืองน่าอยู่ เน้นพื้นที่สีเขียว การรีไซเคิลทั้งหลาย เพื่อลดฝุ่น ยกเว้นพรรคก้าวไกล มีการเอาเรื่องขยะ มารวมกับ พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมฯ และ พ.ร.บ.ขยะฯ ให้เป็นเรื่องเดียวกัน เพราะปัญหาขยะภูเขา มี 2 พันกองทั่วประเทศ ประมาณ 24.89 ล้านตัน ไม่ได้มีการฝังกลบ และพรรคอื่นมีการพูดถึงอากาศสะอาด และฝุ่น PM 2.5 ประชาชนต้องการทราบถึงโรดแม็ปจะไปถึงจุดนั้นได้อย่างไร”
นโยบายสิ่งแวดล้อม พรรคใด ได้คะแนนสูงสุดจากเต็ม 10
ในปี 2567 รถไฟฟ้าจะมีครอบคลุม ควรมีตั๋วใบเดียว และสร้างเมืองใหม่ไม่ให้กระจุกตัว เพราะฉะนั้นแล้วการซื้อรถยนต์ในกรุงเทพฯ จะต้องยากขึ้น ส่วนการจัดการต้นตอการเผา ต้องดำเนินการอย่างจริงจังทั้งการเพิ่มโทษและการไม่ซื้อสินค้าที่มาจากการเผา หากจะให้คะแนนภาพรวมนโยบายสิ่งแวดล้อมของแต่ละพรรคจากคะแนนเต็ม 10 จะให้พรรคก้าวไกล 8 คะแนน รองลงมาพรรคเพื่อไทย 7 คะแนน พรรคไทยสร้างไทย 6 คะแนน พรรคชาติพัฒนากล้า 5 คะแนน พรรคชาติไทยพัฒนา 4 คะแนน ตามด้วยพรรคพลังประชารัฐ และพรรครวมไทยสร้างชาติ
...
หรือการตั้งโรงงาน พบว่ามีปัญหาประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งควรมีระบบที่เป็นที่พึ่งของประชาชน แต่ได้สร้างปัญหาในหลายพื้นที่ เพราะตรงข้ามกับความรู้สึกของประชาชน ควรต้องมีการปฏิรูป พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม ปี 2535 เพิ่มอำนาจกรมควบคุมมลพิษ ให้มีอำนาจในการติดตามตรวจสอบแหล่งกำเนิดมลพิษ สามารถบังคับใช้กฎหมายได้โดยตรง และฟ้องเรียกค่าเสียหายแทนประชาชนได้ รวมถึงปรับปรุงกองทุนสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่แค่ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มากู้เงินดำเนินโครงการจัดการมลพิษเท่านั้น
อีกประเด็นจะต้องมี พ.ร.บ.อากาศสะอาด ภายใน 2 ปี เพราะอากาศสะอาดเป็นสิทธิของประชาชน ควรมี พ.ร.บ.เปิดเผยข้อมูลการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษ และการจะพัฒนาเมือง ตั้งโรงงานอุตสาหกรรมทั้งหลาย ต้องมีระบบประกันภัยด้านสิ่งแวดล้อม หรือ Environmental insurance หากโรงงานใดปล่อยมลพิษสู่สิ่งแวดล้อมเกินค่าที่กำหนดหรือก่อความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม ทางบริษัทประกันภัยต้องรับผิดชอบในการจ่ายค่าเสียหายทั้งหมด และควรมีศาลสิ่งแวดล้อม ให้สามารถทำคดีได้จริง ไม่ต้องรอ 3-4 ปี รวมถึงมีกองทุนฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม หรืออาจรวมกับกองทุนสิ่งแวดล้อมเดิมก็ได้.