คดีแอม ไซยาไนด์ อายุ 36 ปี ผู้ต้องหาในคดีฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และข้อหาลักทรัพย์ ด้วยการวางยาก้อย สาวเท้าแชร์วัย 32 ปี และอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของบุคคลที่รู้จักกับแอมอีก 10 กว่าศพ น่าจะเสียชีวิตในลักษณะเดียวกันกับก้อย อยู่ระหว่างการสอบสวนขยายผลของเจ้าหน้าที่ตำรวจ

พฤติกรรมของ แอม ไซยาไนด์ ทำให้คนมองว่าเหี้ยมโหดเกินมนุษย์ เพราะขาดความยับยั้งชั่งใจ ขาดความสำนึกผิดไร้ความเห็นใจผู้อื่น เอาตัวเองเป็นจุดศูนย์กลาง เพื่อหวังผลประโยชน์ส่วนตัว อาจเข้าข่ายโรคไซโคพาธ ซึ่งทางจิตแพทย์จะต้องทำการประเมินในหลายๆ ด้าน แม้ว่า 5 ปีก่อนเคยมีประวัติการรักษาโรคทางจิตเวช แต่การป่วยจิตเวช ไม่ได้แปลว่าคนกระทำความผิดจะได้รับโทษน้อยลง รวมถึงการตั้งครรภ์ 4 เดือน อาจทำให้แอม หลุดรอดจากโทษหนักได้ง่ายขึ้น อย่างที่หลายคนเข้าใจ

“แอม ไซยาไนด์” อ้างป่วยจิตเวช-ท้อง ไม่ได้แปลว่ารอด จับตาตัวละครโผล่เพิ่ม

ข้อถกเถียงของคนในสังคม จากประเด็นอาการป่วยทางจิตเวช เกรงว่า แอม ไซยาไนด์ จะหลุดรอดลอยนวล หรือรับโทษน้อยลง "รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล" ผู้ช่วยอธิการบดี และประธานกรรมการ คณะอาชญาวิทยา มหาวิทยาลัยรังสิต ระบุว่า คนป่วยทางจิตและมีการกระทำความผิดไม่ได้รอดเสมอไป ต้องแยกความผิดปกติทางจิต ระหว่างโรควิกลจริตจิตฟั่นเฟือน กับโรคบุคลิกภาพผิดปกติแบบต่อต้านสังคม หรือไซโคพาธ ซึ่งในกรณีแรกจะมีผลในทางกฎหมาย ถ้าผู้กระทำความผิดกระทำไปในขณะที่ตัวเองไม่รู้สึกผิดชอบชั่วดี จิตฟั่นเฟือนวิกลจริต เช่น เดินถอดเสื้อ ถือไม้ไล่ตีคนตามท้องถนน มีผมเผ้ารุงรัง จะมีแนวโน้มหลุดรอดจากการกระทำความผิด

...

แต่ประเด็นที่สองเกิดขึ้นบ่อยครั้ง จากที่อาชญากรมักมีบุคคลิกภาพแบบต่อต้านสังคม หรือไซโคพาธ คือเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง ไม่สนใจความรู้สึกคนอื่น ขาดความสำนึก ขาดความรู้สึกผิดชอบชั่วดี ขาดคุณธรรม และเอาแต่ประโยชน์ตัวเองเป็นหลัก เช่น ถ้ามีความต้องการทางเพศ ก็จะสามารถทำร้ายคนอื่นในการล่วงละเมิดทางเพศ หรือถ้าต้องการจะได้ทรัพย์สิน จะต้องทำทุกวิถีทางให้ได้ทรัพย์สิน

ในกรณี แอม ไซยาไนด์ จะเข้าข่ายไซโคพาธ หรือไม่ ต้องให้จิตแพทย์เป็นผู้ประเมิน จากแบบสัมภาษณ์และข้อคำถาม แต่เท่าที่ดูแผนประทุษกรรมในคดีการเสียชีวิตของก้อย ในพื้นที่บ้านโป่ง จ.ราชบุรี หรือคดีก่อนหน้านี้ที่มีความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกับผู้ต้องหาคนเดียวกัน ซึ่งจากประสบการณ์ที่เคยเป็นตำรวจ และเคยทำงานสืบสวนมาก่อน ดูแล้วมีลักษณะการวางแผนอย่างเป็นขั้นเป็นตอน

“หากเป็นคนป่วยจิตเวชเวลาคุยปกติธรรมดา ส่วนใหญ่ก็จะสื่อสารไม่เข้าใจ ไม่ค่อยรู้เรื่อง พูดอะไรบางทีก็พูดไปคนเดียว พูดไปเรื่อย ขณะที่คนมีบุคลิกภาพผิดปกติแบบต่อต้านสังคม จะมีวิธีการคิดอีกแบบหนึ่ง”

“แอม ไซยาไนด์” อ้างป่วยจิตเวช-ท้อง ไม่ได้แปลว่ารอด จับตาตัวละครโผล่เพิ่ม

ในเคสของแอม ดูจากแผนประทุษกรรม พบว่ามีการสร้างความคุ้นเคย สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกับเหยื่อ และการเคยมีสามีเป็นตำรวจที่เป็นนายร้อยตำรวจ ยิ่งเป็นการสร้างเครดิต ทำให้คนในวงการตำรวจเกรงใจ โดยเฉพาะตำรวจที่ยศน้อยกว่า ทำให้ตัวเองมีความน่าเชื่อถือ จากการมีสถานภาพทางสังคม เป็นช่องทางทำให้สามารถเข้าไปถึงในใจของเหยื่อได้ง่าย ในการหลอกลวงทรัพย์สินจากเหยื่อ

นอกจากนี้ ยังมีความโหดร้ายมีการฆาตกรรมในการลอบใส่ยาพิษกับเหยื่อ เพราะฉะนั้นจะต้องพิสูจน์ในคดีก่อนหน้านี้ เพื่อหาความเชื่อมโยงและตรวจสอบให้ได้ เพราะบางเคสเริ่มโผล่มาว่ามีการใช้ไซยาไนด์ ขณะเดียวกันก็ต้องยอมรับว่าการชันสูตรศพที่โดนยาพิษมีความสำคัญ ในการตรวจเลือดเนื้อเยื่อในแล็บว่าโดนสารพิษหรือไม่ โดยแพทย์และผู้เชี่ยวชาญแผนกพิษวิทยา หากศพถูกฌาปนกิจไปแล้ว ก็อาจทำให้หนึ่งในพยานหลักฐานสูญหาย

แต่ยังต้องไปดูหลักฐานพยานอื่นๆ เช่น เคสที่ จ.อุดรธานี มีพยานให้การตรงกันว่าผู้ต้องหาอ้างเป็นภรรยา ได้ฝากให้นำเอกสารของผู้เสียชีวิตที่ใส่ถุงดำนำไปฝังดิน และในถุงมีขวดอยู่ขวดหนึ่ง เหมือนบรรจุสารไซยาไนด์ ซึ่งอยู่ระหว่างการตรวจพิสูจน์ว่ามีจริงหรือไม่ ตรงนี้เป็นความผิดปกติอีกว่า เมื่ออ้างเป็นภรรยาแล้วทำไมต้องจ้าง 500 บาท ในการนำถุงดำที่มีเอกสารของสามีไปฝังดิน และต่อมารู้ว่ายังไม่มีการฝัง ได้มีการเสนอเงินอีก 1 หมื่นบาท ให้นำถุงดำกลับมาให้ ยิ่งผิดปกติกันใหญ่

เลิกกับตำรวจจริงหรือไม่ จับตาตัวละครโผล่เพิ่ม

ประการต่อมา การที่บอกว่าเลิกกับนายตำรวจแล้ว ได้สร้างความสงสัยว่าเลิกจริงหรือไม่ หรือเลิกเฉพาะทางนิตินัย แต่ทางพฤตินัยยังไม่เลิก และระหว่างไปเจอใครต่อใคร อาจเกี่ยวข้องกับทางคดีว่ามีใครร่วมประสบเหตุด้วยอีกหรือไม่ และการจะปล่อยเงินกู้เพียงอย่างเดียว โดยไม่ทำอาชีพอื่นคงไม่ได้ เชื่อว่าทางตำรวจจะต้องตรวจสอบเส้นทางการเงิน หรือความสัมพันธ์ของคนที่เกี่ยวข้อง และน่าจะมีตัวละครเพิ่มขึ้น อาจเป็นพยานหรือมีคนร่วมกระทำผิดเพิ่ม

...

ที่น่าสนใจจากเคสแรกๆ ประมาณปี 2558 ที่มีการให้ข้อมูลว่าหญิงสาวที่มีสามีเป็นชาวต่างชาติ และแอมได้ไปรับที่สนามบิน จนต่อมาหญิงสาวคนนั้นเสียชีวิต ซึ่งมองว่าตั้งแต่ปี 2558 มีการเว้นช่วงไปถึงปี 2562 และมีการก่อเหตุในปี 2563 ทำให้เกิดคำถามว่าในช่วงนั้นมีเหยื่ออีกหรือไม่ เพราะโดยธรรมชาติของอาชญากรจะย่ามใจ เมื่อก่อเหตุรายแรกแล้วประสบความสำเร็จก็จะทำอีก โดยเฉพาะปี 2563-2564 ก่อคดีถี่มาก แต่ทำไมช่วงนั้นที่เว้นไป ต้องไปดูต่อว่ามีเหยื่อเพิ่มขึ้นอีกหรือไม่ในช่วงหลังปี 2558

“แอม ไซยาไนด์” อ้างป่วยจิตเวช-ท้อง ไม่ได้แปลว่ารอด จับตาตัวละครโผล่เพิ่ม

กรณีของแอม เป็นฆาตกรต่อเนื่องหรือไม่นั้น ซึ่งนิยามของฆาตกรต่อเนื่อง มีการให้นิยามที่แตกต่างกัน เอฟบีไอก็นิยามแบบหนึ่ง นักวิชาการอาชญาวิทยาก็นิยามแบบหนึ่ง และกระทรวงยุติธรรมในอังกฤษก็นิยามแบบหนึ่ง แต่โดยหลักการสรุปว่า 1. ผู้กระทำความผิดเป็นคนเดียวกัน 2. เหยื่อถูกฆาตกรรมตั้งแต่ 2 หรือ 3 ศพขึ้นไป 3. ก่อเหตุในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน และ 4. แผนประทุษกรรมมีรูปแบบคล้ายๆ กัน

“ถ้าครบองค์ประกอบเหล่านี้ มีแนวโน้มว่าคนคนนี้เป็นฆาตกรต่อเนื่อง เพราะอดีตที่ผ่านมาฆาตกรต่อเนื่องกระทำโดยคนผิดปกติทางจิต เช่น เอามีดแทง เอามีดผ่าชำแหละศพ ผ่าท้อง แต่หลังๆ คนที่มีบุคลิกภาพต่อต้านสังคม ไม่ใช่มีความผิดปกติทางจิตอย่างเดียว อาจไม่ก่อเหตุรุนแรงแบบนั้น อาจก่อเหตุฆาตกรรมประสงค์ต่ออย่างอื่น เช่น ต่อทรัพย์ เหมือนในญี่ปุ่น มีผู้หญิงคนหนึ่งวางยาสามี หวังเงินกรมธรรม์”

...

จากข้อมูลพบว่าส่วนใหญ่ผู้ชายที่เป็นฆาตกรต่อเนื่อง จะก่อเหตุร้ายแรงด้วยการใช้กำลังทำร้าย และมีการล่วงละเมิดทางเพศด้วย ส่วนผู้หญิงที่เป็นฆาตกรต่อเนื่อง จะใช้รูปแบบวิธีการรุนแรงน้อยกว่า ด้วยการลอบวางยาพิษ

“แอม ไซยาไนด์” อ้างป่วยจิตเวช-ท้อง ไม่ได้แปลว่ารอด จับตาตัวละครโผล่เพิ่ม

ตั้งครรภ์ อาจไม่โดนประหาร แต่ติดคุกยาว

ในส่วนโทษของแอม ด้วยข้อหาฆ่าคนตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน โทษสูงสุดคือประหารชีวิตอยู่แล้ว แต่ผู้ต้องหาอยู่ระหว่างการตั้งครรภ์ อาจจะไม่โดนโทษประหารชีวิต แต่ระเบียบใหม่กรมราชทัณฑ์ หากการฆาตกรรมอย่างทารุณโหดร้าย โดยผู้กระทำผิดไม่สำนึก ก็จะไม่ได้รับโอกาสลดโทษ ทำให้โอกาสถูกจองจำยาวก็มีความเป็นได้สูง

สำหรับคดีนี้ในเคสของก้อย ตำรวจหาพยานหลักฐานไม่ยาก ไม่ว่าการผ่าชันสูตรศพ ภาพจากกล้องวงจรปิด และการหาสารไซยาไนด์ แต่คดีที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ ขึ้นอยู่กับพยานหลักฐานที่แตกต่างกัน บางคดีมีความเห็นแพทย์ออกมาอย่างชัดเจนถึงสาเหตุการเสียชีวิต บางคดีแพทย์เขียนว่าหัวใจล้มเหลว และเป็นเหตุให้แอม น่าจะรู้ช่องโหว่ว่าแพทย์นิติเวชในพื้นที่ไม่มี

หรือแม้ตำรวจจะสามารถคลี่คลายคดีของก้อย ได้เพียงคดีเดียว ก็ทำให้แอมโดนโทษประหารได้เช่นกัน แต่ตำรวจก็ต้องพยายามทำพยานหลักฐานให้แน่นหนา และมีคำถามอีกว่าหากคนอยู่ด้วยกัน ก็ต้องรู้ว่าทำงานอะไร มีรายได้มาจากไหน ทุกอย่างต้องอธิบายได้ และคิดว่าตำรวจสามารถตรวจสอบได้ว่าแอมและนายตำรวจ เลิกกันจริงหรือไม่ หรือยังมีการไปมาหาสู่ โดยพฤตินัยไม่ได้เลิกกัน หากไปไหนด้วยกันกล้องเห็นหมด คงต้องมีการตรวจสอบว่ามีการใช้ชีวิตอยู่กันฉันสามีภรรยาหรือไม่

...

“มีญาติของเหยื่อ เชื่อว่านายตำรวจรู้เรื่องการปล่อยเงินกู้อย่างแน่นอน เพราะเคยไปด้วยกันกับแอม แต่เรื่องวางยาต้องไปพิสูจน์ว่ารู้เห็นด้วยหรือไม่ ซึ่งตำรวจสามารถตรวจสอบได้จากร่องรอยการสนทนาระหว่างกันทางแชต มีการดูดข้อมูลทุกอย่างไปตรวจสอบ และคิดว่าคนคนเดียวจะคิดเองคนเดียวได้ขนาดนี้หรือ”

การกระทำทุกอย่างที่เกิดขึ้น ถือได้ว่าผิดธรรมชาติของความเป็นคน จากรูปแบบในการตีสนิท สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ เพราะความอยากมี อยากได้ อยากเป็น แต่ไม่สามารถทำด้วยวิธีการที่ถูกต้องได้ ตามทฤษฎีความกดดันทางสังคมทางอาชญาวิทยา จนต้องเลือกใช้วิธีการแบบนี้ เหมือนคนขายยาเสพติด เพราะอยากได้เงิน.