เรื่องราวในหนังสือเรียนรายวิชาพื้นฐานภาษาไทย ชุดภาษาเพื่อชีวิต "ภาษาพาที" ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 กำลังเป็นประเด็นร้อนถูกคนในสังคมวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่า มีเนื้อหาล้าหลัง ไม่สอดคล้องกับสภาพสังคมในยุคปัจจุบัน อาจไม่เหมาะเป็นหนังสือเรียนภาษาไทย และยังถูกตั้งคำถามมากมาย โดยเฉพาะเนื้อหาระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 มีประเด็นดราม่ากินไข่ต้มครึ่งซีก เหยาะน้ำปลา หรือใส่น้ำผัดผักบุ้ง เป็นความสุขและความพอเพียง ทั้งที่ความจริงแล้วเด็กๆ ควรรับสารอาหารที่เพียงพอในแต่ละวัน

ดราม่าเนื้อหาในแบบเรียนหนังสือ "ภาษาพาที" ไม่จบสิ้น จากเรื่องกินไข่ต้ม จนมาถึงเรื่องเด็กสั่งข้าวมันไก่แล้วน้ำจิ้มเผ็ด จึงไปขอน้ำปลาจากอีกร้านหนึ่ง แม้จะถูกต่อว่าแต่ก็อนุญาตให้ตักน้ำปลา เป็นข้อคิดถึงการมีน้ำใจ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ แต่กลับกลายเป็นดราม่าที่ผู้คนต่างมองว่าน้ำปลาไม่เหมาะกับข้าวมันไก่ และอีกหลายๆ เรื่องราว ทำให้ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สั่งให้มีการตรวจสอบเนื้อหา และเตรียมหารือกับผู้เขียนเพื่อแก้ไขเนื้อหาบางส่วนแล้ว

จบดราม่าหนังสือ "ภาษาพาที" หันมาปรับเปลี่ยนแบบเรียนภาษาไทย ให้ทันยุค

...

แบบเรียนภาษาไทย ต้องอัปเดตสอดคล้องกับปัจจุบัน

ไม่ว่าจะเกิดดราม่าอย่างไร แต่เนื้อหาแบบเรียนภาษาไทยในยุคปัจจุบันนี้ควรจะเป็นเช่นไร? นั้น “อ.วีระพงศ์ มีสถาน” นักปฏิบัติการวิจัย (ผู้ชำนาญการพิเศษ) สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะครูสอนภาษาไทยมาอย่างยาวนาน เห็นว่า ควรมีการอัปเดตให้เหมาะกับสังคมในแต่ละยุค หากถอยไปเมื่อ 40-50 ปีที่แล้วเคยมีแบบเรียนภาษาไทยชั้นประถม "พ่อหลี พี่หนูหล่อ" เพื่อให้เด็กอ่านออกเขียนได้ และให้แม่นยำในการออกเสียง

แม้คนอาจมองว่าเนื้อหาในหนังสือไม่เมคเซนส์ ไม่เข้าท่า ซึ่งในสมัยนั้นต้องการให้เด็กอ่านหนังสือให้แตก ขณะที่นักภาษาศาสตร์ ก็มองว่าควรเรียนภาษาไทยเป็นคำๆ ไป แต่ในมุมมองส่วนตัว ต้องไปตามหลักการให้เข้าใจพยัญชนะ และสระ ให้เด็กได้เรียนรู้โดยอัตโนมัติ ซึ่งเนื้อหาควรปรับปรุงให้สอดคล้องกับบริบทสังคม เช่น ยุคนี้มีรถไฟฟ้าแล้ว ให้พอเหมาะพอสม แต่ไม่ให้สุดโต่งเกินไป

“อย่างการกินข้าวคลุกน้ำปลา ถ้าเป็นการบรรยายก็พอเข้าใจได้ แต่อาจไม่กินใจคนในสมัยนี้ และจริงๆ แล้ว น้ำปลา เป็นของคนภาคกลาง ทั้งเค็มทั้งเหม็น เพิ่งมีหลังปี 2504 สมัยผู้ใหญ่ลีตีกลองประชุม ส่วนคนเหนือกินน้ำปู คนอีสานกินปลาร้า คนใต้กินบูดู ถ้าจะพรรณนาเรื่องน้ำปลา อยากให้รู้ว่าคนภาคอื่นในสมัยก่อนไม่ได้กินน้ำปลา เป็นการเขียนในเรื่องของท้องถิ่นนิยม หากถามใจผม ควรจะปรับเอาเรื่องวิถีชีวิตความเป็นคนไทยมาสอดแทรก และได้สอนภาษาไทยให้ต่างชาติ ก็ได้สอดแทรกเรื่องวัฒนธรรมไทย ให้ได้เรียนรู้ไปด้วย”

จบดราม่าหนังสือ "ภาษาพาที" หันมาปรับเปลี่ยนแบบเรียนภาษาไทย ให้ทันยุค

หลายฝ่ายต้องร่วมทำสื่อการสอน ไม่ใช่วันแมนโชว์

ในกรณีแบบเรียนตำราภาษาไทย หากอยากให้คนไทยรู้สึกอย่างไร ก็ไม่ควรทำอย่างโฆษณาขายยา เพื่อไม่ให้คนแตกตื่น จะต้องใช้นักจิตวิทยาการเรียนรู้ นักประเมินผลการศึกษา นักเขียน นักภาษาศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้อง เข้ามาร่วมกันออกแบบตำราเรียน ซึ่งไทยไม่มีเหมือนญี่ปุ่น เพราะบุคลิกของคนในสังคมไทยจะเก่งแบบโดดๆ คนเดียว เช่น กีฬามวยของไทยจะเก่ง แต่เมื่อเล่นกีฬาเป็นทีมไม่เก่ง เพราะไม่ได้หล่อหลอมในการทำงานด้วยกัน หากเทียบกับคนญี่ปุ่น จะให้ความสำคัญกับความเป็นทีม เมื่อออกไปที่ใดจะสวมชุดยูนิฟอร์ม

สิ่งที่ยกขึ้นมาเพื่อแสดงให้เห็นว่าการสร้างสื่อการเรียนการสอน หากร่วมกันหลายๆ ฝ่ายในการสร้างสื่อขึ้นมา จะทำให้เกิดการพัฒนาไปอีกก้าวหนึ่ง เพราะต้องยอมรับว่าสังคมไทยที่ผ่านมาหากมีดอกเตอร์คนใด ได้รับการยอมรับนับถือ ก็จะให้เขียนหนังสือ เขียนตำราเรียนไปตีพิมพ์ แต่ไม่ได้มีการระดมสมอง ซึ่งองค์กรของรัฐควรมีการตระหนักในยุคของพ.ศ.ใหม่ จะต้องรีบเตรียมการ หากอยากให้เยาวชนเป็นคนเช่นไร ก็ควรร่วมมือกับหลายฝ่าย แม้จะเป็นเรื่องยาก ก็เข้าใจดีกับสิ่งที่เป็นอยู่

สำหรับแบบเรียนหนังสือภาษาพาที มีหลายเวอร์ชัน เริ่มมาตั้งแต่ปี 2551 ในการประกาศนโยบายการศึกษาส่วนกลาง จากกระทรวงศึกษาธิการไปยังทั่วประเทศ เพื่อต้องการให้เด็กจบชั้น ป.3-ป.4 และชั้นป.6 จะได้มีความสามารถในด้านต่างๆ ซึ่งเป็นเพียงความคาดหวัง เป็นฝันที่เกินจริง เพราะสถานการณ์ความเป็นจริงของคนจบป.6 อาจไม่มีความสามารถอย่างที่คาดหวังไว้ หรือคนจบม.3 ก็ไม่สามารถวิเคราะห์ได้

“ในอดีตมีการสอบตกให้เรียนซ้ำชั้น กระทั่งมีการยกเลิกให้มีการสอบซ่อมให้สอบผ่าน แต่ถ้าอยู่กับครูที่ขี้เกียจ ก็ให้ผ่านๆ ไป จะมีครูสักกี่คน จะต้องมาสอนใหม่ให้นักเรียนคนนั้นได้รู้ จนกลายเป็นหายนะ ก็เพราะให้สอบผ่าน เพื่อครูจะได้สบาย และถามว่าสมควรปรับเนื้อหาในหนังสือภาษาพาทีหรือไม่ ก็ต้องบอกว่าควรปรับ ไม่ใช่ถูกกระแนะกระแหนแล้วมาปรับปรุง และควรให้ผู้สันทัดเข้ามาดำเนินการ”

...

จบดราม่าหนังสือ "ภาษาพาที" หันมาปรับเปลี่ยนแบบเรียนภาษาไทย ให้ทันยุค

เนื้อหาแบบเรียน อย่าสุดโต่ง ใส่เรื่องลบ หรือบวก มากเกินไป

ความสำคัญในการทำเนื้อหาเรื่องราวในแบบเรียนภาษาไทย จะต้องเขียนถึงบุคคลที่สอง และบุคคลที่หนึ่ง แบบงานวิชาการในลักษณะของงานวิจัย แต่หากจะสอนให้เด็กเรียนรู้เพิ่มเติมต้องสอนรอบนอก ไม่ถึงกับเป็นแบบเรียน จะต้องสร้างรูปแบบให้เกิดการเรียนรู้ตามระดับชั้นของเด็ก อย่างแบบเรียนของจีน จะเอาความจริงของสังคม เอาปรากฏการณ์บางอย่างมาจัดทำเนื้อหา ซึ่งการทำแบบเรียนจะต้องให้สอดคล้องกับสังคม

หากอยากให้เยาวชนของชาติมีแนวคิดอย่างไร จะต้องไม่ใส่เรื่องราวในเชิงบวก หรือลบมากจนเกินไป และโดยทั่วไปแล้ว เมื่อแบบเรียนผ่านไประยะหนึ่ง 5-7 ปี จะต้องมีการปรับเปลี่ยน และอยากเสนอให้มีการสอนภาษาเขียนและภาษาพูด ให้กับเด็กเยาวชนในการนำไปใช้ในชีวิตอย่างถูกต้องด้วย.