14 เมษายน เป็น “วันครอบครัว”

ช่วงเวลานี้ สำหรับคนไทย คือ ช่วงเวลาแห่งความสุข ในเทศกาลสงกรานต์ คนที่ออกไปใช้แรงงาน ทำงานหาเลี้ยงชีพ ได้โอกาสกลับบ้าน พบปะ ปู่ ย่า ตา ยาย ญาติพี่น้อง บางคนไม่เจอกัน 1 ปี บางคนไม่เจอกันหลายสิบปี ก็มี ถือเป็นช่วงเวลากระชับความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้น

ด้วยสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ทำให้ “ครอบครัว” ของคนไทย มีขนาดเล็กลง ความรักความอบอุ่นของบางครอบครัวไม่เหมือนเดิม จากปัญหาเศรษฐกิจ จากพิษโควิด ทัศนคติของสังคม หรือแม้แต่ความเชื่อผิดๆ ที่ฝังรากมา

นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) หรือ หมอเดว หมอผู้เชี่ยวชาญด้านสถาบันครองครัว และจิตวิทยาเด็ก กล่าวกับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ว่า ปัญหาของสถาบันครอบครัว มีการแบ่งออกไปหลายมิติ แต่ที่ใหญ่และหนักมากในเวลานี้คือ “ความรุนแรงในครอบครัว” สาเหตุหลักมาจาก สัมพันธภาพภายในบ้านไม่ดี

...

“ความรุนแรงในครอบครัว” : เป็นปัญหาที่เรียกว่าติดอันดับโลก ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ครอบคลุมทุกระดับ ตั้งคนรวย คนจน ซึ่งสมัยก่อนเราไม่เห็นข่าว “ลูกทำร้ายพ่อแม่” ถ้ามีก็น้อย แต่ปัจจุบันเราพบปัญหานี้มากขึ้น ลูกเมายาเสพติด พ่อข่มขืนลูกแท้ๆ ของตัวเอง สมัยก่อน เราเจอปัญหาการทารุณกรรมในครอบครัวน้อย แต่ปัจจุบันมีมาก ใช่ว่าเพราะสื่อนำเสนอ แต่ที่ไม่เสนอก็มีมาก เรียกว่าเกิดขึ้นหลายจุดทั่วประเทศ นี่คือ เหตุผลหนึ่งที่ครอบครัวคุณธรรม เราทำ คือ ครอบครัวพลังบวก

“การหย่าร้าง” คือ อีกหนึ่งปัญหาที่ “หมอเดว” ได้ชี้ให้เห็น ด้วยสภาพครอบครัวที่เปลี่ยนแปลงไป มีขนาดเล็กลง คนไทยมีลูกน้อยลง จนกลายเป็นสถิติของประเทศ อัตราการเจริญพันธุ์ของครอบครัว อยู่ที่ 1.4 คนไทยมีลูกเฉลี่ย 1.4 คน แม้สถิติดังกล่าว ยังไม่ต่ำถึงระดับโลก เมื่อเปรียบเทียบกับเกาหลีใต้ หรือ ญี่ปุ่น ที่สถิติอยู่ที่ 0.8 คน นี่คือ ประเด็นของโครงสร้างสังคม ครอบครัวเล็กลง อัตราการหย่าร้างเพิ่มสูงขึ้น มากกว่า 10%

“การเลี้ยงลูก” มีปัญหาถึง 80% 

ประเด็นใหญ่ อีกหนึ่งเรื่องที่ นพ.สุริยเดว เน้น เป็นพิเศษ พร้อมอธิบายว่า การเลี้ยงลูกของคนเราแบ่งออกเป็น 3 แบบ ประกอบด้วย

เลี้ยงแบบเผด็จการ : ใช้อำนาจนิยม สั่งการ เผด็จการ ผู้ใหญ่ตัดสินทุกอย่างในชีวิต ตัดสินแม้กระทั่งอนาคตของลูก การทำงาน อาชีพ หรือแม้แต่การแต่งงาน วิถีชีวิตทั้งชีวิตถูกกำหนดโดยพ่อแม่

หมอเดว บอกว่า การเลี้ยงลูกลักษณะนี้ มีมากที่สุดในประเทศไทย เรียกว่าเกือบครึ่งหนึ่ง หรือ 50% สาเหตุมาจาก “ค่านิยม” บวกกับความเข้าใจ และคำพูดที่ว่า “ผู้ใหญ่อาบน้ำร้อนมาก่อน” ต่อให้เป็นพ่อแม่ยากจน หรือ รวย วิธีการคิดเหมือนกันหมด ลูกจะถูกเลี้ยงดูมาแบบพ่อแม่ทำแทนทุกอย่าง

ผลลัพท์ ถือเกิดขึ้นจากเลี้ยงลูกแบบนี้ “ภาวะผู้นำ” ของลูกจะหายหมด ลูกจะไม่รู้จักคิดเอง หรือ เกิดความมั่นใจ ขาดแรงบันดาลใจ เด็กจำนวนไม่น้อย เรียนหนังสือโดยไม่มีเป้าหมายชีวิต ตามกระแสนิยม

“เลี้ยงลูกแบบนี้ เขาจะไม่มีพื้นที่ให้ฝึกวิชาชีวิต ไม่มีพื้นที่เหลาความคิด ฝึกภาวะผู้นำ บางครั้งกลายเป็นคนไม่รับชอบ ซึ่งเราพบเห็นมากขึ้น”

นอกจากนี้ ยังมีผลลัพท์ที่ฉีกแนวออกไป คือ การไม่เคารพกฎเกณฑ์ ด้วยการประชดประชัน เกิดการทะเลาะเบาะแว้ง ปิดประตูกั้นตนเอง

“ผลลัพท์ของการเลี้ยงลูกแบบเผด็จการจะส่งผล 2 รูปแบบคือ การเป็นคนหน่อมแน้ม ขาดภาวะผู้นำ แต่ฉีกอีกแนวคือ พร้อมจะแหกกฎทุกอย่างทั้งหมด กลายเป็นคนสุดโต่งทั้ง 2 ฝั่ง”

...

การเลี้ยงลูกแบบปล่อยปละละเลย : มีราว 30% ของครอบครัวไทย คือ อยากได้ลูกเป็นคนดี แต่ไม่มีเวลา ฝากสังคมช่วยเลี้ยง ถ้าครอบครัวนี้เป็นคนมีเงินหน่อย จะใช้เงินซื้อระบบนิเวศ ซื้อโรงเรียนดี คอร์สดี คบเพื่อนดี แต่กลายเป็นว่า ถูกปล่อยปละละเลย ความรัก รากเหง้าในวัฒนธรรมครอบครัวหายไปหมด ความผูกพันกับองค์กรไม่มี เมื่อเด็กเหล่านี้เติบโตก็พร้อมที่จะเปลี่ยนสายงาน วิธีคิด กลายเป็นวัตถุนิยม บริโภคนิยม วัตถุเป็นสรณะ

ครอบครัวหัวใจประชาธิปไตย : ครอบครัวประเภทนี้เป็นครอบครัวที่สร้างการมีส่วนร่วมตั้งแต่เล็ก ครอบครัวแบบนี้มีไม่มาก จาก 20 ล้านครอบครัว มีไม่ถึง 20% หรือ 4-5 ล้านครอบครัว

ตัวเลขสุดอึ้ง! พบพ่อแม่ไม่เลี้ยงลูกมากกว่า 3 ล้านคน

“ตัวเลขที่ยูนิเซฟเก็บไว้ พบว่า เด็กที่ถูกพ่อแม่ทิ้ง ไม่เลี้ยงดู ทั้งที่ยังมีชีวิตอยู่ มีประมาณถึง 3 ล้านคน ในจำนวนนี้ คือ อายุน้อยกว่า 18 ปี ส่วนอีก 5-6 แสนคน อายุน้อยกว่า 6 ปี ซึ่งกลุ่มนี้เขาจะฝากปู่ ย่า ตา ยาย เลี้ยง ฝากคนรับใช้เลี้ยง หรือ แม้แต่ฝากโทรทัศน์ มือถือ เลี้ยงดู กลุ่มนี้คือ พ่อแม่ไม่ได้หย่าร้าง และมีชีวิตอยู่เพียงแต่ไม่เลี้ยงลูก”

นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผอ.สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว
นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผอ.สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว

...

เศรษฐสถานะ มีส่วนทำครอบครัวมีปัญหา แต่ไม่ใช่ทั้งหมด

ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรมฯ ยอมรับว่า เศรษฐสถานะ หรือ เศรษฐกิจภายในบ้าน มีส่วนที่ทำให้ครอบครัวมีปัญหา เพียงแต่ข้อสำคัญที่สุดคือ หากความสัมพันธภาพภายในบ้านดี ก็จะทำให้ครอบครัวแข็งแรง และอบอุ่นได้ แม้บ้านนั้นๆ จะฐานะยากจนก็ตาม

ฉะนั้น สิ่งที่อยากจะฝากไปถึงฝ่ายการเมือง สิ่งที่ท่านต้องทำ คือ ต้องทำให้สุขภาพวะในครอบครัวดี ซึ่งที่ผ่านมา เรามีการทำเป็นตัวอย่างในศูนย์คุณธรรม อาทิ ระบบพี่เลี้ยงในชุมชน การสื่อสารแบบสร้างพลังบวก เรื่องราวเหล่านี้ ฝ่ายการเมืองน่าจะมีนโยบายเพื่อขยายผล

“ครอบครัวคือ หน่วยสร้างคนสร้างชาติ เวลาฝ่ายการเมืองจะหาเสียง เขาจะชูนโยบายเพียงเรื่องเดียว คือ “เศรษฐสถานะ” และ “ปากท้อง” เรื่องนี้หมอไม่ปฏิเสธว่าก็สำคัญ เพียงแต่ไม่เคยเห็นการหาเสียงในมิติการสร้างคุณภาพพลเมือง ซึ่งถือเป็นมิติทางสังคม หากเปรียบเทียบง่ายๆ คือ กล้าการันตีหรือไม่ หากครอบครัวร่ำรวยแล้วบ้านจะอยู่เย็นเป็นสุข ซึ่งเรื่องนี้ไม่มีใครกล้าการันตี ฉะนั้น ส่วนสำคัญของครอบครัว คือ การเลี้ยงดู ทักษะการเลี้ยงดู และการสื่อสารภายในครอบครัว การสร้างระบบเพื่อรองรับ ในระดับตำบล เป็น พี่เลี้ยงในชุมชน เพราะบางเรื่องแก้ไขไม่ได้ ก็จำเป็นต้องมีพี่เลี้ยง”

หมอเดว ย้ำอย่างหนักแน่นว่า สิ่งที่อยากจะขอให้เลิก คือ “เลิกท่องจำ” เรื่องการสร้างคุณธรรม เพราะการท่องจำ เป็นนามธรรม เพราะสิ่งที่ศูนย์คุณธรรม คือ คุณธรรมที่จับต้องได้ วัดผลได้ กินได้ สัมผัสได้ เป็นคุณธรรมสัมผัสได้ และอยากเห็นการขยายผลการสร้างคุณธรรมแบบนี้ขยายผลไปทั่วประเทศ การทำแบบนี้ จะช่วยสร้างฐานที่มั่นพลังบวกให้กับประเทศไทย

...

ความรัก ความอบอุ่นในครอบครัว กำลังหายไป

ทีมข่าวฯ ถามว่า ในช่วงยุคสมัยที่เปลี่ยนไป คิดว่า ประเด็นไหนในสถาบันครอบครัว มันเริ่มหายไป หมอเดว ตอบทันว่า ความรักความอบอุ่นในครอบครัว ความรักที่มีในเวลานี้ บางครั้งเป็นความรักจอมปลอม มีครอบครัวไทยไม่น้อยที่รักกันแบบ “สร้างภาพ”

ความเอื้ออาทร หากเริ่มหายไป เราจะเห็นภาพชุมชนอยู่แบบตัวใครตัวมัน เพราะชุมชน ผลิตมาจากหลายครอบครัว ฉะนั้น หากมองในสมัยเดิม เราจะเห็นความเอื้ออาทร มีความรัก ความอบอุ่นต่อกันมากกว่านี้

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน 

อ่านบทความที่น่าสนใจ