เงาะโรงเรียนมีโอกาสสูญพันธุ์ หลังชาวสวนหันมาปลูกทุเรียน และปลูกเงาะพันธุ์สีทอง ที่ให้ผลผลิตเร็วกว่า แต่รสชาติยังไม่เทียบเท่า ขณะเดียวกันมีการเตือนกลุ่มพ่อค้า ที่หลอกขายเงาะสีทอง โดยการอ้างว่าเป็นเงาะโรงเรียน ไม่ให้เอาเปรียบคนซื้อ พร้อมแนะนำวิธีสังเกต
ดร.ชูชาติ วัฒนวรรณ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวกับทีมข่าวเจาะประเด็นว่า ขณะนี้ชาวสวนที่เคยปลูกเงาะหันมาปลูกทุเรียนมากขึ้น เนื่องจากมีราคาผลผลิตสูงมากกว่า อนาคตมีโอกาสที่คนไทยจะได้กินเงาะราคาแพง เนื่องจากพื้นที่ปลูกลดลง
เพราะพื้นที่ปลูกเงาะมีความทับซ้อนกับทุเรียน ทำให้เกษตรกรหันมาปลูกทุเรียนแทน โดยคาดว่าผลผลิตเงาะจะทรงตัวเพียงพอกับการบริโภคภายในประเทศ ต้องใช้เวลาอีก 2–3 ปี

ขณะเดียวกันชาวสวน หันมาปลูกเงาะพันธุ์สีทอง มากขึ้น เนื่องจากสามารถเก็บผลผลิตได้เร็วกว่าเงาะโรงเรียน แต่เงาะพันธุ์สีทอง มีรสเปรี้ยว หากผู้บริโภคดูไม่เป็นจะรู้สึกว่าคล้ายกับเงาะโรงเรียน และมีกลุ่มพ่อค้าที่หลอกนำไปขาย โดยอ้างว่าเป็นเงาะโรงเรียน จนมีผู้บริโภคถูกหลอกจำนวนมาก
...
“เงาะพันธุ์สีทอง เปลือกภายนอกใกล้เคียงกับเงาะโรงเรียน แต่รสชาติมีความเปรี้ยว หวานกรอบน้อยกว่าเงาะโรงเรียน แต่เกษตรกรหันมาปลูกมากขึ้น เพราะเก็บผลผลิตเร็ว ออกผลผลิตตั้งแต่ต้นฤดูคือ เมษายน ขณะเดียวกันเงาะสีทอง มีกระบวนการทำให้สุกเร็วได้กว่าปกติ สิ่งนี้ทำให้ผู้บริโภค ที่กินเงาะโรงเรียนแล้วมากินพันธุ์สีทอง รู้สึกถึงรสชาติแตกต่าง แต่เปลือกนอกมีลักษณะคล้ายกัน ทำให้ผู้ค้าบางรายแอบอ้างว่าเป็นเงาะโรงเรียน”

ปกติเงาะโรงเรียนเริ่มให้ผลผลิตช่วงเดือนพฤษภาคม ขณะนี้มีผู้บริโภคที่ร้องเรียนอยากให้มีการควบคุมผลผลิตเงาะสีทอง เนื่องจากหลายคนทานแล้วรู้สึกไม่ประทับใจ ประกอบกับเกษตรกรบางราย เร่งให้สีเปลือกนอกเหมือนผลสุก แต่เนื้อภายในยังไม่ได้คุณภาพ จึงอยากเตือนผู้บริโภคว่า หากอยากทานเงาะโรงเรียนของแท้ ให้รอผลผลิตช่วงเดือนพฤษภาคมนี้
สำหรับประชาชนที่วิตกกับสารเร่งให้สุกของเงาะพันธุ์สีทอง ซึ่งยืนยันว่า ไม่มีความอันตราย เพราะเป็นสารธรรมชาติ ที่ผลิตขึ้นในผลไม้ปกติ ด้านการควบคุมไม่ให้มีการเร่งผลให้สุกเร็ว ยังเป็นเรื่องที่ควบคุมยาก แต่เกษตรกรจะเร่งให้สุกในช่วงนี้ เพราะถ้าเงาะโรงเรียนออกมาจะขายไม่ได้

เงาะสีทองต่างจากเงาะโรงเรียน
ดร.ชูชาติ แนะนำเทคนิคการดูเงาะสีทอง เพื่อไม่ให้ถูกหลอกว่า สังเกตได้จากเปลือกภายนอก โดยเงาะสีทองมีผิวสีเหลืองมากกว่า ขณะที่เงาะโรงเรียน ผิวของเปลือกมีสีเข้มแดง และออกสีส้ม พอช่วงปลายฤดูฝน เปลือกของเงาะโรงเรียนจะมีสีเขียว
สำหรับเกษตรกร พันธุ์ของเงาะมีการพัฒนาและคัดสรรมาอย่างดี แต่มีบางครั้งที่สื่อสารไม่ตรงกัน ทำให้ได้พันธุ์ที่ไม่ตรงกับความต้องการ นอกจากนี้เกษตรกรไม่ควรเร่งให้เงาะสุกเร็ว จนลืมคุณภาพ ที่ส่งผลต่อความไม่ประทับใจของผู้บริโภค ซึ่งมีผลต่อผู้ขายผลผลิตในภาพรวมของตลาด
แนวโน้มของเงาะโรงเรียน ลดลงและเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ที่มีแหล่งปลูกในสวนขนาดใหญ่ ส่งขายภายในประเทศ ต่างประเทศ แต่เมื่อชาวสวนปลูกน้อยลง เงาะบางส่วนจะไปเติบโตในส่วนของท้องถิ่น เช่น จ.เลย มีเงาะสดที่ออกตามฤดูกาล แต่ไม่ได้ให้ผลผลิตมากเหมือนแต่ก่อน อนาคตอาจเป็นไปได้ว่า หากอยากกินเงาะสดๆ อาจจะต้องเดินทางไปถึงสวน.