ใกล้เลือกตั้ง 14 พ.ค. 2566 บรรดาพรรคการเมืองต่างแข่งขันอย่างดุเดือด เข็นนโยบายหาเสียงหลากหลาย หวังได้คะแนนเสียงจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั่วประเทศ 52 ล้านกว่าคน และในจำนวนนี้มีกลุ่มหลากหลายทางเพศ ต่างรอดูนโยบายของแต่ละพรรคการเมืองว่าจะให้ความสำคัญมากน้อยเพียงใด? ในเรื่องสิทธิของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศอย่างแท้จริง ด้วยความเป็นคนที่เท่ากันจะต้องได้รับการสนับสนุนเรื่องเพศอย่างเท่าเทียมเช่นกันตามหลักสิทธิมนุษยชน

นโยบายความหลากหลายทางเพศในยุคนี้ของแต่ละพรรคการเมืองจึงไม่ใช่แค่สีสันทางการเมือง หรือเป็นเพียงการทำตลาด แต่ต้องมีความชัดเจนสอดคล้องกับความต้องการของกลุ่ม LGBTQ หรือกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศในสังคมไทย ได้มีการเคลื่อนไหวเรียกร้องในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าเรื่องสมรสเท่าเทียม การรับรองอัตลักษณ์ทางเพศ กฎหมายขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล ยังรวมถึงกฎหมายยุติการตั้งครรภ์ การคุ้มครองพนักงานบริการ Sex Workers ไม่ให้ถูกกดขี่ และอื่นๆ อีกมากมายที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ และสวัสดิการ

นโยบาย LGBTQ แค่จั่วหัว ไม่ลงลึกรายละเอียด

...

ในฐานะผู้ติดตามประเด็นความหลากหลายทางเพศมาโดยตลอด “อาจารย์เคท ครั้งพิบูลย์” คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บอกว่า เท่าที่มีโอกาสติดตามดูพรรคการเมืองต่างๆ ในเรื่องนโยบายความหลากหลายทางเพศ ยังมีอยู่ไม่กี่พรรค นับได้มีประมาณ 5 พรรค จาก 50 กว่าพรรคการเมือง มักถูกซ่อนในนโยบายรองๆ และการจะพูดว่าเป็นนโยบายของพรรคตัวเองก็ยังไม่มี แต่มีบางพรรคเสนอนโยบายการบริการสุขภาพเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม เช่น การคัดกรองมะเร็ง การตรวจสุขภาพประจำปี และในแง่นโยบายมีหลายพรรคการเมืองพูดไว้ 2 เรื่อง ในการตั้งกองทุนสิทธิทางเพศ และสิทธิสตรี และนโยบายสนับสนุนกฎหมายสมรสเท่าเทียม

“แต่ในเรื่องรายละเอียดของกฎหมายสมรสเท่าเทียม ไม่ได้ลงลึกบอกว่าจะทำอย่างไร ยกเว้นถ้าได้เป็นรัฐบาลจะเดินหน้านโยบายสมรสเท่าเทียม เป็นเพียงการจั่วหัวเท่านั้น ไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจน แต่ถ้าเทียบกับการเลือกตั้งปี 2562 ถือว่ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดในเรื่องความหลากหลายทางเพศ บางพรรคมีมากถึง 10 นโยบาย มากกว่าปี 2562 อาจเพราะสถานการณ์สังคมในช่วงนั้นไม่มีเลือกตั้งมานาน และ 4 ปีผ่านมาได้เห็นว่ากลุ่ม LGBTQ ต้องการอะไร มีการเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงกฎหมาย จนข้อเสนอเหล่านั้นชัดขึ้น ทำให้นโยบายในการเลือกตั้งปี 2566 ชัดมากขึ้น”

สิ่งที่สำคัญในการจัดทำนโยบายได้เอามาเทียบกับความต้องการของกลุ่ม LGBTQ ตั้งแต่เรื่องสมรสเท่าเทียม สวัสดิการของกลุ่ม LGBTQ และบริการสุขภาพที่มีมิติมีความละเอียดมากขึ้นอย่างครอบคลุม แม้ไม่ฉูดฉาดชัดเจน แต่ก็ใกล้เคียงสอดคล้องกับความต้องการ และคิดว่าหลายพรรคคงสำรวจความต้องการของกลุ่ม LGBTQ มากขึ้น แต่ยังขาดการอธิบายในการเอานโยบายไปปฏิบัติ แตกต่างกับนโยบายด้านเศรษฐกิจและสวัสดิการ มีการระบุชัดว่าจะทำอย่างไร

ภายหลังการเลือกตั้ง และมีรัฐบาลใหม่ คิดว่าจะมีการผลักดันนโยบายเหล่านี้ ซึ่งต้องติดตามรอดูอย่างจริงจัง ก่อนออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้อง เพราะทุกคำพูด ทุกคำปราศรัย เป็นร่องรอยดิจิทัล หรือ Digital Footprint มีการถูกบันทึกไว้ หากไม่มีความคืบหน้าก็จะเกิดการทวงถาม ส่วนข้อเสนอในการคุ้มครองพนักงานบริการ Sex Workers ซึ่งคนมองว่าไม่เกี่ยวข้องกับกลุ่ม LGBTQ แต่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันกับระบบเศรษฐกิจในประเทศ และระบบสวัสดิการ จึงมีการเรียกร้องเพื่อให้กลุ่มคนเหล่านี้มีทางเลือกในการทำอาชีพที่จะเลือกทำอะไรก็ได้ เพราะที่ผ่านมาถูกลงโทษเป็นอาชญากรของสังคม เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

...

กม. LGBTQ รอดูความจริงใจนักการเมือง หลังเลือกตั้ง

ในอีกมุมหนึ่ง “กิตตินันท์ ธรมธัช” นายกสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย และประธานคณะที่ปรึกษาชุมชนที่มีความหลากหลายทางเพศ (MCAB) มีความหวังว่า กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ LGBTQ ทั้งหลายจะได้รับการตอบสนองหลังการเลือกตั้ง คาดว่าจะมีการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ในเดือน ก.ค.นี้ เพราะในช่วงโค้งสุดท้ายในการหาเสียงของแต่ละพรรคการเมืองบนเวทีดีเบต พบว่ามีประมาณ 12-14 พรรค ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายค้าน หรือรัฐบาลในอนาคต มีความเข้าใจในทิศทางเดียวกันในเรื่องกฎหมายสมรสเท่าเทียม ซึ่งเน้นความเสมอภาคของทุกเพศ ทุกสิทธิให้ทุกคู่รักเป็นคู่สมรสเหมือนกันทั้งหมด

“เมื่อมายเซตเรื่องสมรสเท่าเทียม มีความเข้าใจในทางเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นพรรคใด ก็จะทำให้กฎหมายทุกอย่างในเรื่องสิทธิเสรีภาพ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ทั้งกฎหมายรับรองเพศสภาพ ยึดเจตจำนงของประชาชนไม่ว่าเป็นเพศใดก็มีสิทธิกำหนดเพศของตัวเอง จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง หรือกฎหมายขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล รวมถึงกฎหมายอื่นๆ จะผ่านทั้งหมด หรือแม้แต่กฎหมายคุ้มครอง Sex Workers จะมีการยกเลิก พ.ร.บ.ค้าประเวณี ปี 2539 และมี พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการ ทั้งด้านสาธารณสุข โรคติดต่อทางเพศ ทรัพย์สินเงินทองต่างๆ นำไปสู่กฎหมายแรงงาน ให้เป็นแรงงานในระบบ”

...

แต่ความหวังก็ยังมีความกังวลอยู่ไม่น้อย เพราะแม้ว่ากฎหมาย LGBTQ ทุกอย่าง มาจากกลุ่ม LGBTQ ด้วยความจริงใจ ผ่านการพูดดี พูดดัง แต่กังวลว่าหากพรรคการเมืองไม่ได้พูดจากใจ มีการทำตลาด หวังจะได้คะแนนเสียงจากกลุ่ม LGBTQ เท่านั้น ทำให้เกรงว่าความเท่าเทียมจะไม่เท่ากัน เพราะ ส.ส.มีการเข้าออกในแต่ละพรรค จากเคยสนับสนุนมาก่อน แต่เมื่อย้ายไปอยู่อีกพรรคก็เกิดการไขว้กัน ไม่ให้การสนับสนุน

“กิตตินันท์” หวังว่าเมื่อมีรัฐบาลชุดใหม่ จะไม่ทำให้ทุกอย่างกลับไปเป็นศูนย์ทั้งหมด จะตั้งหน้าตั้งตาขอดูความจริงใจของนักการเมืองที่เคยพูดต่อสาธารณะ เป็นสัญญามหาชนไปแล้ว จะทำให้เกิดผลสำเร็จหรือไม่ อีกทั้งกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน ไม่ต้องใช้เงินเหมือนโยบายประชานิยม ทำให้เชื่อว่า 70-80% จะประสบความสำเร็จ และมองว่าเวทีดีเบตของพรรคการเมืองในขณะนี้มีสีสันมากขึ้น ในการนำประเด็นกลุ่ม LGBTQ ขึ้นมาพูด และประชาคมโลกก็มีบทบาทค่อนข้างมากในเรื่องนี้

“หากไม่ให้กฎหมายผ่าน ก็จะถูกประจานว่าเอาแนวคิดอนุรักษนิยมเดิมๆ มาใช้ จนสร้างความแปลกแยก ทำให้เชื่อว่ากฎหมายสมรสเท่าเทียมจะผ่านสภา เพราะ ส.ว.ส่วนหนึ่งน่าจะฟังความเห็นประชาชน จนทุกอย่างจบด้วยความสวยงาม และคิดว่าในอีก 2 ปีข้างหน้า น่าจะเห็นการเปลี่ยนแปลงของกลุ่ม LGBTQ เหมือนน้ำกำลังร้อนเต็มที่ในอุณหภูมิที่เหมาะสม และโยนหมูลงไปก็สุกทันที”.