- หลายพื้นที่ในภาคเหนือ ยังคงเผชิญวิกฤติฝุ่น PM 2.5 เกินค่ามาตรฐานส่งผลกระทบต่อสุขภาพ โดยเฉพาะ ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ มีค่า 220 ไมไครกรัมต่อลูกบาศ์กเมตร, ต.ห้วยโก๋น อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.น่าน มาค่า 210 ไมโครกรัมต่อลูกบาศ์กเมตร และ ต.เวียงพางคำ อ.แม่สาย จ.เชียงราย มีค่า 209 ไมโครกรัมต่อลูกบาศ์กเมตร ซึ่งสูงที่สุด 3 อันดับแรกในภาคเหนือ เนื่องจากเป็นพื้นที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้าน
- พื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ตั้งแต่วันที่ 5-11 เม.ย. 2566 ทางกองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ คาดการณ์ว่าสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก มีแนวโน้มที่ดี เนื่องจากสภาพอากาศที่เปิดมากขึ้น เพดานการลอยตัวอากาศที่สูงขึ้น ประกอบกับลมทางใต้ที่กำลังแรงช่วยพัดพาฝุ่นละอองออกจากพื้นที่ แต่บางพื้นที่สภาพอากาศอาจปิด ภาพรวมยังคงอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
- ขณะที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ มีแนวโน้มที่ควรเฝ้าระวังสถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 เกินมาตรฐาน มีผลกระทบต่อสุขภาพ ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน โดยเฉพาะพื้นที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้านในวันที่ 5- 11 เม.ย. 2566 และช่วงวันที่ 6-7 เม.ย. 2566 ควรเฝ้าระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากอากาศค่อนข้างปิด ไม่เอื้อต่อการกระจายตัวของฝุ่นละออง
...
วิกฤติมลพิษทางอากาศ จากฝุ่น PM 2.5 หากปล่อยให้ยืดเยื้อทุกปี จะส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจ อาจสร้างความเสียหายมากถึง 5,500-10,000 ล้านบาท คาดหวังว่ารัฐบาลชุดใหม่ จะมีแนวทางแก้ไขด้วยมาตรการเชิงรุก ในการออกกฎมายหมอกควันข้ามพรมแดน เช่นเดียวกับประเทศสิงคโปร์ และการมีอากาศสะอาดหายใจ น้ำและอาหารปลอดสารพิษ อยู่อาศัยในสิ่งแวดล้อมที่ดี เป็นสิทธิพื้นฐานที่คนไทยต้องได้รับการดูแล ในมุมมองของ “รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ” อดีตผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนานโยบายสาธารณะ สำนักนายกรัฐมนตรี
“ปัญหาสิ่งแวดล้อมในไทย เข้าขั้นวิกฤติหลายมิติหลายลักษณะ แต่เรื่องเร่งด่วนในขณะนี้ คือ วิกฤติมลพิษทางอากาศ หมอกควัน และ PM 2.5 ได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสุขภาพของประชาชนในหลายพื้นที่ ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต ส่งผลอย่างมากต่อเศรษฐกิจ โดยเฉพาะพื้นที่ที่อาศัยรายได้หลักจากการท่องเที่ยว สถานการณ์ได้เลวร้ายลง จนหลายจังหวัดในภาคเหนือมีมลพิษทางอากาศและหมอกควัน สูงติดอันดับต้นๆ ของโลก"
หากรัฐบาลปล่อยให้ปัญหามลพิษทางอากาศยืดเยื้อทุกปี ซึ่งปีหนึ่งๆ ประเทศไทยจะอยู่ในสภาพมลพิษทางอากาศและหมอกควันรุนแรงเกินกว่า 2 เดือนขึ้นไป จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตรุนแรงมากขึ้น ในส่วนของผลกระทบทางเศรษฐกิจ อาจสร้างความเสียหายได้มากถึง 5,500-10,000 ล้านบาทต่อปี ความเสียหายนี้ยังไม่ได้คำนวณผลกระทบต่อสุขภาพ ผลกระทบต่อการย้ายถิ่น จะทำให้รายจ่ายด้านสาธารณสุขและต้นทุนทางสังคมเพิ่มขึ้นในระยะยาว
การสูญเสียทางเศรษฐกิจเกิดจากการลดลงของรายได้จากการชะลอตัวลงของการท่องเที่ยวในกรุงเทพและปริมณฑล ระยองและพื้นที่อีอีซี ส่วนภาคเหนือ หากมลพิษทางอากาศรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี การชะลอตัวลงของกิจกรรมทางเศรษฐกิจกลางแจ้งและโครงการก่อสร้างต่างๆ ค่าใช้จ่ายทางด้านสาธารณสุขจะเพิ่มขึ้น และค่าเสียโอกาสจากประเด็นทางด้านสุขภาพ
รวมไปถึงผู้มีรายได้น้อยและคนจน จะได้รับผลกระทบอย่างหนัก โดยเฉพาะกลุ่มคนงานก่อสร้าง พ่อค้าแม่ค้าริมถนน ผู้ที่ทำงานกลางแจ้งในพื้นที่มลพิษเข้มข้นสูง ตำรวจจราจร พนักงานเก็บขยะ พนักงานทำความสะอาดถนน พนักงานขับรถสาธารณะและกระเป๋ารถเมล์ และวินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ซึ่งคนกลุ่มนี้จำนวนหนึ่งไม่มีอุปกรณ์ป้องกันผลกระทบจากมลพิษทางอากาศ จะทำให้สุขภาพย่ำแย่ลง และมีการวิจัยชี้ว่า ผู้ที่ต้องเผชิญการจราจรติดขัด อยู่บนท้องถนนเกิน 4 ชั่วโมงต่อวัน มีความเสี่ยงต่อสุขภาพเพิ่มขึ้นและเสี่ยงต่อการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร
งานวิจัยของธนาคารโลกชี้ด้วยว่า ต้นทุนทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือภาวะโลกร้อนที่ไม่มีการแก้ไขจะสูงถึง 20% ของจีดีพีโลก และจะเพิ่มมากขึ้นต่อเนื่องในอนาคต แต่ความเสียหายจะลดลงได้หากทุกประเทศร่วมมือกันควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและลดกิจกรรมที่ทำลายสิ่งแวดล้อม สร้างมลพิษทางอากาศ
...
หวังรัฐบาลใหม่ หยุดต้นตอการเผา ออก ก.ม.ข้ามพรมแดน
รัฐบาลใหม่ต้องออกมาตรการเชิงรุกอย่างเร่งด่วน เพื่อแก้ปัญหาวิกฤติมลพิษทางอากาศ หมอกควัน และฝุ่น PM 2.5 ให้เด็ดขาด ไม่ปล่อยให้ยืดเยื้อทำลายสุขภาพของประชาชน จนอยู่ในสภาพตายผ่อนส่งและทำลายเศรษฐกิจ จากมลพิษทางอากาศที่ลอยมาจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งส่วนใหญ่เผาป่าและพืชไร่ในเมียนมาและลาว เพราะขาดความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของผู้คน ทั้งจากเกษตรกรท้องถิ่นในพื้นที่ และกลุ่มทุนขนาดใหญ่ โดยเฉพาะการปลูกอ้อยป้อนโรงงานน้ำตาล และข้าวโพดป้อนโรงงานอาหารสัตว์
การออกกฎหมาย หรือมาตรการระหว่างประเทศและแก้ไขกฎหมายในประเทศ เพื่อหยุดยั้งต้นตอของการเกิดหมอกควันจากฝีมือของมนุษย์ โดยประเทศไทยควรหยุดยั้งการตัดไม้เผาป่าเพื่อทำการเกษตร ด้วยมาตรการจูงใจและสนับสนุนให้มีการจัดเตรียมพื้นที่เพาะปลูกทำการเกษตรด้วยวิธีการที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ และใช้มาตรการทางกฎหมายลงโทษ ส่วนการควบคุมประเทศเพื่อนบ้าน ต้องออกกฎหมายมลพิษและหมอกควันข้ามพรมแดน แบบเดียวกับสิงคโปร์ มีทั้งโทษทางอาญาและทางแพ่งต่อบริษัทที่เข้าไปทำสวนปาล์มน้ำมัน และผลิตเยื่อกระดาษด้วยการตัดไม้เผาป่าเตรียมพื้นที่เกษตร
...
“ไทยควรออกกฎหมายต่อต้านหมอกควันข้ามพรมแดนโดยเร่งด่วน และการเผาในนาข้าว ไร่อ้อยและข้าวโพดในพื้นที่ภาคกลางและภาคอีสาน ควรมีมาตรการอุดหนุนต้นทุนการเตรียมพื้นที่ให้กับเกษตรกรรายย่อย รายใหญ่และบริษัทเกษตรกรรม ในลักษณะยิ่งมีรายได้สูง ยิ่งอุดหนุนน้อย ยิ่งมีรายได้น้อย ยิ่งอุดหนุนมาก ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีสีเขียว เครื่องจักรสีเขียวในการทำการเกษตรกรรม”
จี้ออก ก.ม.อากาศสะอาด ผู้ปล่อยมลพิษ ต้องจ่ายภาษี
สำหรับปัญหามลพิษทางอากาศ ในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และพื้นที่อีอีซี โดยเฉพาะระยอง ควรจะผ่านกฎหมายอากาศสะอาด เพื่อให้ผู้ปล่อยมลพิษไม่ว่าจากโรงงานอุตสาหกรรมและยานยนต์ ต้องจ่ายภาษีการปล่อยมลพิษและต้องมีมาตรการควบคุมการปล่อยมลพิษควบคู่ไปด้วย
รวมถึงสร้างพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้น ปลูกต้นไม้ช่วยดูดซับมลพิษทางอากาศ และอนุรักษ์พัฒนาพื้นที่ป่าไม้ให้สมบูรณ์
ขณะเดียวกันต้องยกระดับมาตรฐานรถยนต์ให้มีการปล่อยมลพิษลดลง ห้ามไม่ให้รถที่มีการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์วิ่งบนท้องถนน กำหนดอายุการใช้งานรถยนต์ ห้ามรถยนต์บางประเภทวิ่งเข้าสู่กรุงเทพฯ ชั้นในในบางช่วงเวลา และยกระดับมาตรฐานน้ำมันเป็นยูโร 5 สนับสนุนการใช้รถขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าหรือพลังงานสะอาด ลดการใช้พลังงานจากถ่านหินหรือจากฟอสซิลลง และปรับลดค่าโดยสารขนส่งระบบรางให้ถูกลง ทำให้ผู้มีรายได้น้อยเข้าถึงการใช้บริการได้
...
“ปัญหามลพิษทางอากาศที่รุนแรงขึ้น ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่รัฐบาลใช้ มาตรา 44 ในการแก้ไขผังเมือง ทำให้พื้นที่สีเขียวลดลง ควรทบทวนการใช้มาตรา 44 ในการแก้ไขผังเมือง และแก้ไขผังเมืองในพื้นที่ EEC ทำให้เกิดความไม่สมดุลและก่อปัญหาสิ่งแวดล้อม อาจทำให้มลพิษทางอากาศแบบมาบตาพุดปะทุขึ้นมาได้อีกในอนาคต”
นอกจากนี้ควรจัดตั้งกองทุนสนับสนุนการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมและมลพิษทางอากาศ และอาจมีกองทุนหรือเงินอุดหนุนเพื่อช่วยเหลือ หรือมีสินเชื่อเพื่อสิ่งแวดล้อม เพราะการมีอากาศสะอาดหายใจ น้ำและอาหารปลอดสารพิษสำหรับบริโภค อยู่อาศัยในสิ่งแวดล้อมที่ดี เป็น สิทธิพื้นฐานที่สุดที่ประชาชนชาวไทยต้องได้รับการดูแล ก่อนที่ผลกระทบจะลุกลามสร้างผลเสียหายในระยะยาวจนยากที่จะเยียวยาได้.