เชียงรายและเชียงใหม่ ประชาชนได้รับผลกระทบจากฝุ่นควัน จนวิกฤติหนัก ต้นเหตุมาจากไฟป่า และการเผาวัชพืชในพื้นที่เกษตรกรรม มีความรุนแรงหนักในรอบ 3 ปี ซึ่งเป็นต้นเหตุทำให้เกิดฝุ่น PM 2.5 ที่รุนแรงยาวนานกว่าทุกปี
จตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยกับทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์ ว่า สถานการณ์จุดความร้อนมี 3,000 จุดทางภาคเหนือ ถ้าเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านที่ชายแดนติดกัน เช่น เมียนมา และลาว ซึ่งมีจุดความร้อนรวมกันหลายหมื่นจุด โดยพื้นที่ในไทย เจ้าหน้าที่พยายามควบคุมไฟป่าในพื้นที่อุทยานฯ แต่มีหลายจุดที่เป็นพื้นที่การเกษตร
ด้วยสภาพอากาศที่ปิด ทำให้มีมลภาวะฝุ่น PM 2.5 กระทบต่อประชาชนทางภาคเหนือจำนวนมาก ปีนี้สถานการณ์ไฟป่ารุนแรงกว่า 3 ปีย้อนหลัง เนื่องจากสภาพอากาศมีความร้อน ถ้าเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน มีความชื้นมากกว่า ทำให้ไฟป่ามีน้อยกว่าตอนนี้
...
อีกสิ่งสำคัญที่ทำให้มีฝุ่นควันมาก เกิดจากใบไม้ที่ทับถมมาหลายปี เนื่องจากปีก่อนๆ ป่ามีความชื้น ทำให้ไฟป่าไม่ลุกลามเป็นวงกว้างเท่าปีนี้
“โดยเฉพาะจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ และแม่ฮ่องสอน ภาคอีสาน ในพื้นที่จังหวัดนครพนม จะประสบปัญหาไฟป่า และผลกระทบของฝุ่นควันเพิ่มขึ้น เนื่องจากสภาพอากาศลมไม่ถ่ายเท ต้องลุ้นว่าจะมีพายุฤดูร้อนมาช่วยทำให้ฝนตก ทำให้ฝุ่นควันลดลงหรือไม่”
ต้นเหตุไฟป่าส่วนใหญ่มาจากมนุษย์เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะการจุดไฟในพื้นที่ไร่ แล้วไฟลุกลามเข้ามาในพื้นที่ป่าจนขยายวงกว้าง ขณะที่ชาวบ้านหลายคนยังลักลอบเข้ามาจุดไฟในพื้นที่ป่า เพื่อหาของป่าและล่าสัตว์
“ปีนี้สภาพอากาศแแล้งรุนแรง ประกอบกับคนที่จุดไฟเผาป่ามีจำนวนมาก เจ้าหน้าที่มีจำนวนจำกัด ทำให้ควบคุมไฟป่าได้ยาก ตอนนี้พยายามแก้ปัญหาด้วยการประกาศปิดป่ากว่า 100 แห่ง ห้ามเข้าไปในพื้นที่ เพื่อป้องกันการเข้าไปจุดไฟเผาป่า หากตรวจพบผู้ฝ่าฝืนจะมีโทษทางกฎหมายร้ายแรง”
PM 2.5 การแก้ปัญหาฝุ่นควันภาคเหนือ
จตุพร กล่าวต่อว่า การแก้ปัญหาไฟป่าในพื้นที่ภาคเหนือที่ก่อให้เกิดมลภาวะฝุ่น PM 2.5 ทางภาครัฐเตรียมเจรจากับประเทศเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดกัน ในการร่วมกันป้องกันไฟป่า ทำให้เกิดฝุ่นควันข้ามพรมแดน ขณะนี้ได้ประสานไปยังท่าน วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เตรียมเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อประสานไปยังผู้นำประเทศเพื่อนบ้าน
“หากสถานการณ์ฝุ่นควันมีความรุนแรงมากขึ้น ภาครัฐเตรียมจัดสถานที่รองรับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากฝุ่นควัน โดยเตรียมที่พักให้มีบรรยากาศถ่ายเท ซึ่งเป็นที่พักชั่วคราว เมื่อสถานการณ์ทุกอย่างดีขึ้น จะให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงกลับไปพักอาศัยยังบ้านเรือนตามปกติ คาดว่าสถานการณ์ไฟป่าและฝุ่นควันจะเริ่มดีขึ้นเมื่อเข้าสู่เดือนพฤษภาคม เป็นช่วงที่อากาศถ่ายเทมากขึ้น”
ขณะเดียวกันมีการเกณฑ์กำลังพลกว่า 1 พันนาย จากพื้นที่ภาคใต้ เพื่อดับไฟป่าในพื้นที่ภาคเหนือ เพราะไฟป่าที่เพิ่มขึ้นทำให้กำลังพลบางส่วนบาดเจ็บระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ สิ่งสำคัญใน 2-3 ปีที่ผ่านมาคือ ทางกระทรวงฯ พยายามอบรมความรู้การดับไฟป่าให้กับกำลังพล เนื่องจากการดับไฟป่า หากไม่มีความชำนาญ อาจได้รับบาดเจ็บ หรือเสียชีวิตได้ ตัวอย่างเช่น คนที่ปฏิบัติงานโดยไม่ดูทิศทางลม ทำให้ตัวเองตกไปอยู่ในวงล้อมของไฟป่า และเสียชีวิตได้
...
สำหรับประชาชนที่พบเห็นการจุดไฟเผาในพื้นที่ป่า หรือพื้นที่เกษตรกรรม อยากให้รีบแจ้งเหตุมายังหน่วยงานภาครัฐ เพื่อเข้าไปดำเนินการผู้ที่จุดไฟเผา และควบคุมไฟไม่ให้ลุกลามไปในพื้นที่ป่า จนส่งผลกระทบให้เกิดฝุ่นควันอย่างที่เป็นอยู่.