เสียงสะท้อนจากเซ็กซ์เวิร์กเกอร์ หรือหญิงขายบริการ พยายามผลักดันร่างกฎหมายใหม่ นำมาใช้แทน พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี 2539 ที่มีช่องโหว่ให้เจ้าหน้าที่รัฐบางรายรับส่วย เฉลี่ยเดือนละไม่ต่ำกว่า 1 แสนบาท โดยร่างกฎหมายใหม่ ทำให้อาชีพขายบริการ ได้รับการคุ้มครองแรงงาน สิทธิรักษาพยาบาล ขณะนี้อยู่ระหว่างผลักดันสู่การพิจารณา
ทันตา เลาวิลาวัณยกุล ผู้ประสานงานมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ ตัวแทนพนักงานบริการ กล่าวว่า ครั้งแรกที่ขายบริการ เพราะต้องการหาค่านมลูก อาชีพนี้ทำจนสามารถส่งลูก 2 คน เรียนจบปริญญาตรี งานบริการทำให้มีเงินเลี้ยงดูครอบครัว มีเวลาเพียงพอดูแลลูกๆ การทำงานระยะแรกไม่ได้สนใจเรื่องกฎหมาย จนถูกเอาเปรียบจากสถานบริการ ทั้งการหักหัวคิว ถูกทำร้ายจากแขกที่มาใช้บริการ ที่สำคัญสถานบริการหลายแห่งต้องจ่ายส่วยให้กับเจ้าหน้าที่รัฐ ที่คอร์รัปชันมายาวนาน
ตัวอย่างเช่น จ.เชียงใหม่ สถานบริการบางแห่งต้องจ่ายส่วยให้เจ้าหน้าที่ 10 รายต่อเดือน เป็นเงินไม่ต่ำกว่า 1 แสนบาท ถ้าเงินส่วนนี้ถูกจ่ายเป็นภาษีถูกต้อง สามารถสร้างประโยชน์สาธารณะได้มากมาย ขณะเดียวกันคนที่ขายบริการก็พร้อมจ่ายภาษี เพราะถูกกว่าจ่ายส่วยหลายเท่า
การรีดไถส่วยจากการค้าบริการทางเพศ ปัจจุบัน ไม่ว่าจะรับงานข้างถนน หรือขายตัวผ่านออนไลน์ ต่างต้องจ่ายส่วยให้กับเจ้าหน้าที่รัฐ ขณะเดียวกันการทำงานในสถานบันเทิง จะถูกตีตราว่า เป็นอาชีพผิดกฎหมาย ทำให้ไม่ถูกคุ้มครอง พอไปแจ้งความจะไม่ได้รับการดูแล เลยทำให้คนที่ทำอาชีพนี้ต้องหลบซ่อน และยอมจ่ายส่วย
...
จากการสำรวจ 80 เปอร์เซ็นต์ของผู้หญิงที่มาขายบริการเป็นแม่ มีภาระต้องดูแลครอบครัว เฉลี่ยสาวขายบริการ 1 คน ดูแลคนในครอบครัว 5 คน จึงต้องออกมาเรียกร้องสิทธิทางสังคม
“ผู้ค้าบริการ ต้องการเปลี่ยนส่วยให้กลายเป็นภาษี เปลี่ยนการวิ่งหนีตำรวจ ให้กลายมาเป็นการคุ้มครองสิทธิของผู้ค้าประเวณี ซึ่งอยากให้เก็บภาษีแบบเงินได้บุคคลธรรมดา เพราะการจ่ายภาษีถูกกว่าการจ่ายส่วยผ่านระบบใต้ดิน”
ตัวอย่างประเทศเม็กซิโก มีการแก้กฎหมายทำให้อาชีพขายบริการถูกกฎหมาย ทำให้แก้ปัญหาส่วยได้ ซึ่งถ้าคนขายบริการมีสถานะเป็นแรงงาน จะทำให้สามารถต่อรองเพื่อรับสิทธิต่างๆ ได้
สิ่งสำคัญในการคุ้มครองสิทธิหญิงขายบริการ ต้องแก้ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี 2539 ที่มีการระบุความผิดทางอาญา โดยขณะนี้หน่วยที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันร่างกฎหมายคุ้มครองการให้บริการทางเพศ ฉบับใหม่ ที่เตรียมผลักดันเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี ในรัฐบาลหน้า
ศ.ณรงค์ ใจหาญ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ฐานะร่วมร่างกฎหมายคุ้มครองการให้บริการทางเพศ ฉบับใหม่ เปิดเผยถึงเนื้อหาว่า พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี 2539 มีช่องโหว่ในการลงโทษผู้ค้าประเวณี ในความผิดทางอาญา จึงทำให้เกิดการรีดไถ
ร่างกฎหมายคุ้มครองการให้บริการทางเพศ ฉบับใหม่ แก้ไขการลงโทษผู้ค้าประเวณี ในการมีโทษปรับฐานความผิดค้าประเวณี และความผิดระหว่างอยู่ในสถานค้าประเวณี ไม่ว่าสมัครใจหรือไม่สมัครใจ รวมถึงการลงประชาสัมพันธ์ให้คนมาซื้อบริการในออนไลน์ โดยกฎหมายนี้ทำให้ คนที่สมัครใจค้าประเวณี ถูกลงโทษไปด้วย กฎหมายใหม่ จึงยกเลิกทั้งหมด
หากในสถานประกอบการ มีบุคคลอายุต่ำกว่า 18 ปี หรือถ้ามีอายุมากกว่านั้น แต่ถูกบังคับค้าประเวณี กฎหมายใหม่ถือว่า มีความผิดอยู่ โดยจะเทียบเคียงกับกฎหมายการค้ามนุษย์เดิม ที่ยังคงฐานความผิดนี้ไว้
ขณะเดียวกันเพิ่มการเข้าถึงในระบบสาธารณสุข และสามารถสมัครเข้าในระบบประกันสังคมได้ นอกจากนี้ ผู้ให้บริการทางเพศต้องมีสิทธิ ได้รับค่าตอบแทนจากสถานบริการมากกว่าค่าแรงขั้นต่ำ
...
ด้านสถานประกอบการ มีเกณฑ์กำหนด การหักค่าส่วนต่างที่สถานบริการหักจากการให้บริการ เพื่อให้เกิดความยุติธรรม มีกลไกไกล่เกลี่ยตามกฎหมาย หากผู้ค้าบริการมีปัญหากับผู้ประกอบการ โดยการไกล่เกลี่ย แต่ถ้าตกลงกันไม่ได้ สามารถฟ้องร้องในชั้นศาลต่อไป
“ส่วนการใช้ความรุนแรงกับพนักงานบริการ กฎหมายใหม่ระบุว่า สามารถยกเลิกสัญญา โดยคืนเงินการให้บริการอย่างยุติธรรม ขณะเดียวกันผู้ให้บริการต้องมีการตรวจร่างกายสม่ำเสมอ กฎหมายนี้รับรองผู้ค้าประเวณี ตั้งแต่อายุ 20 ปี ขึ้นไป”
สถานให้บริการทางเพศ กำหนดอายุผู้ให้บริการต้องมีอายุ 20 ปี ขึ้นไป และสถานประกอบการ ถ้าอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ ต้องขอจดทะเบียนกับตำรวจนครบาลฯ หากอยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัด ต้องขอขึ้นทะเบียนกับผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อควบคุมคุณภาพสถานประกอบการ ปกป้องสิทธิผู้ให้บริการ ขณะเดียวกันป้องกันไม่ให้คนอายุต่ำกว่า 20 ปี มาใช้บริการ โดบใบอนุญาตสถานประกอบการมีอายุ 3 ปี
“โทษทางอาญา สำหรับสถานประกอบการ หากมีการบังคับให้ค้าประเวณี ยังมีความผิดทางกฎหมาย ถ้าผู้ใช้บริการอายุต่ำกว่า 20 ปี ผู้ประกอบการยังได้รับโทษ แต่จะไม่ระบุว่าผู้ให้บริการทางเพศมีความผิด”
จินตนา จันทร์บำรุง อธิบดีกรมกิจการครอบครัว กล่าวว่า พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี 2539 มีการบังคับใช้มาแล้ว 27 ปี จึงมีการพยายามปรับปรุงให้เข้ากับยุคสมัย และจากการประเมินพบว่ากฎหมายเก่าไม่สอดคล้องกับผู้ที่ทำงานค้าประเวณี มีการแสวงหาผลประโยชน์ผ่านส่วยของเจ้าหน้าที่รัฐ และควรแก้กฎหมายไม่ให้มีความผิดทางอาญา ขณะเดียวกัน ความผิดเกี่ยวกับเยาวชน ยังคงความผิดไว้เหมือนเดิม โดยร่างกฎหมายใหม่ ใช้เวลาศึกษา 1 ปี
กระบวนการต่อไปจะนำเสนอร่างกฎหมายต่อคณะกรรมการกระทรวงพัฒนาสังคมฯ โดยจะนำเสนอต่อรัฐบาลใหม่ให้เห็นชอบ เพื่อผลักดันสู่การนำไปใช้เป็นกฎหมายต่อไป.
...