ช่วงนี้แม้จะมีฝนตก จากอิทธิพล “พายุฤดูร้อน” ทำให้ปัญหาฝุ่น Pm 2.5 เริ่มจางๆ ไปบ้าง แต่...หาใช่ว่าจะดีขึ้น ส่วนใครพอมีกำลังทรัพย์ ก็ใช้วิธี “เอาตัวรอด” ด้วยการลงทุนซื้อเครื่องฟอกอากาศ หรือใส่แมสก์ N95
ที่ผ่านมา หน่วยงานภาครัฐ พยายามรณรงค์ให้ ประชาชนหันมา “ปลูกต้นไม้” ให้มากขึ้น เพื่อลดปัญหาฝุ่นพิษ ซึ่งจะช่วยได้จริง หรือไม่ "ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์" มีโอกาสพูดคุยกับ “ศศิน เฉลิมลาภ” เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร
“การปลูกต้นไม้ สามารถช่วยลด PM 2.5 ได้...แต่มันไม่ได้ลดในเชิงภาพรวม มันเป็นการลดฝุ่นในระดับหมู่บ้าน ชุมชน หรือ ในบ้าน ยกตัวอย่างบ้านผม มีต้นไม้เยอะ อยู่ในบ้านสบายๆ”
ศศิน บอกว่า ปีนี้ฝุ่นพิษ PM 2.5 แรงๆ อยู่ในรีสอร์ต ที่มีต้นไม้เยอะ อากาศดีไม่รู้สึกอะไร แต่...เมื่อย่างก้าวออกจากรีสอร์ต แค่ 100 เมตร โอ้โห...ฝุ่นเต็มไปหมด ดังนั้น การปลูกต้นไม้ สามารถช่วยให้พื้นที่ที่เราอยู่ หรือจุดใดจุดหนึ่ง มีสภาพอากาศดีขึ้น
...
คำถามคือ เราต้องปลูกแค่ไหน...ที่จะทำให้เราปลอดภัย ศศิน ตอบแบบตรงๆ ว่าผมก็ไม่รู้เหมือนกัน แต่ทางที่ดีคือ ต้อง “บ้านใครบ้านมัน”
สาเหตุเพราะกลไกที่ทำให้เกิดฝุ่น ชัดเจนแล้วว่า มาจากการเผาในพื้นที่การเกษตร และป่าบางส่วน จากนั้น เมื่อมีลมใหญ่หอบพัดไปมา ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ก็ทำให้ประชาชนเดือดร้อน ส่วนเมืองใหญ่ ก็มีที่มาจากควันรถโดยเฉพาะ รถบรรทุก และคนใช้รถด้วยน้ำมันดีเซล หรือการก่อสร้าง โดยเฉพาะเส้นทางรถไฟฟ้า
ดังนั้น สิ่งที่จะบรรเทาได้สำหรับคนในเมือง คือ อยากให้เร่งก่อสร้างให้แล้วเสร็จ หรือ ถ้าไม่เสร็จ ก็ให้หยุดก่อสร้าง ในวันที่ PM 2.5 แรงๆ สภาพอากาศเลวร้าย
เติมต้นไม้ ในทุกระดับพื้นที่ เริ่มตั้งแต่บ้าน ถึงเมือง
สิ่งที่ควรทำ คือ การหาทาง “เติมต้นไม้” ในพื้นที่ต่างๆ พื้นที่ใครพื้นที่มัน แต่ละคนต้องอดทน และหาทาง “เอาตัวรอด” กันเอง ด้วยการปลูกต้นไม้ รอบบ้าน รอบหมู่บ้าน เพราะเชื่อว่า เราต้องอยู่กับฝุ่นแบบนี้อีกไม่ต่ำกว่า 10 ปี ฉะนั้น ปัญหาฝุ่น PM 2.5 จึงต้องแก้ไขในระดับบุคคล เช่น ถ้าสร้างตึกก็ควรมีการออกแบบให้เหมาะสม
“เรื่องสำคัญ คือ บางคนป่วยภูมิแพ้รุนแรง จำเป็นต้องดูแลให้ดีที่สุด คนท้อง เด็ก หรือคนมีโรคประจำตัวอื่นๆ แบบนี้จะทำยังไง นี่คือปัญหาระดับบุคคล ระดับบ้าน หรือ หมู่บ้าน การปลูกต้นไม้ช่วยได้ ผมเชื่ออย่างนั้น ส่วนจะปลูกอะไร ก็แนะนำว่า ควรเป็นต้นไม้โตเร็ว ต้นอะไรก็ได้ เช่น ต้นอโศก ไทรญี่ปุ่น เน้นกรองอากาศในหมู่บ้านให้ได้มากที่สุด”
ส่วนระดับ ตำบล อำเภอ จังหวัด ก็ต้องเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้มากที่สุด...เพราะเราต้องเจอปัญหานี้อีก 10 ปี แต่พอเป็น ปัญหา 10 ปี ในทางการเมืองมักไม่มีใครแก้...
แก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 เชิงนโยบาย และภาคเกษตร
ศศิน ยังสะท้อนปัญหาฝุ่น ในระดับภูมิภาคว่า เราพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ได้ชัดเจนแล้ว การแก้ปัญหาระดับภูมิภาค แทบเป็นไปไม่ได้ สิ่งที่ต้องปรับตัวทำให้ “ขนจมูก” เราละเอียดขึ้น หรือ สร้างขนจมูกเทียม เพราะตอนนี้เรียกว่า ฝุ่นมันอวนอยู่ใน 1 ใน 3 ของโลกไปแล้ว
“ถึงแม้การเผาเพื่อเตรียมเพาะปลูกของไทย จะลดลงมาเยอะ โดยเฉพาะ อ้อย แต่บางพื้นที่ เช่น ฝั่งตะวันออก ก็ยังพบการเผาอยู่ แต่สำหรับการ เกษตรในเมียนมา ลาว กัมพูชา ก็ยังมีมากเชื่อว่า อย่างน้อยต้องใช้เวลา 10-20 ปี กว่าฝุ่นภาคเกษตรจะหายไป เพราะถึงแม้ประเทศไทย ใช้เครื่องจักรในการจัดการแก้ปัญหา ก็คาดว่าน่าจะใช้เวลาใน 5 ปี ลาว กัมพูชา ก็น่าจะ 10-15 ปี”
เมื่อถามว่า ในเชิงนโยบายที่ภาครัฐดำเนินการ ถือว่าได้ผลแค่ไหน ศศิน กล่าวว่า ถ้าประเด็นเรื่องการเผาอ้อย ถือว่า ช้าไปหน่อย ทุกวันนี้ รมว.เกษตรฯ เป็นใคร ยังไม่มีใครรู้เลย
เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร กล่าวว่า ในแง่ นโยบาย การบริหารงานด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ต้องเริ่มจาก “รองนายกรัฐมนตรี” ในฐานะประธานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ที่ทุกวันนี้ ไม่มีใครรู้ว่าเป็นใคร แต่พอผมเมื่อเฉลยมา...ก็คือ พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ ฉะนั้น การจะแก้สิ่งแวดล้อม ก็ต้องอาศัย นักวิชาการ กฎหมาย เพื่อเข้ามาแก้ไข
...
ยกตัวอย่าง พื้นที่ ใน กทม. เจอ PM 2.5 แรงๆ ในระดับพื้นที่เขต ถามว่าใครจะเป็นคนเข้าไปแก้ไข... สิ่งที่จะเอามาใช้อาจเป็น พ.ร.บ.สาธารณสุข ในส่วน ของกฎหมายเรื่องความเดือดร้อน รำคาญ ซึ่งในคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ก็มีตัวแทน จาก ก.สาธารณสุขอยู่แล้ว โดยมีการให้อำนาจ เช่น การประกาศหยุดโรงเรียน เพื่อเซฟสุขภาพและชีวิตเด็ก เพราะการที่ไม่ไปส่งลูกหลาน ก็บรรเทาฝุ่นจากรถได้
ดังนั้น สิ่งที่เกิดขึ้น จำเป็นต้องได้รับการตัดสินใจ ของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีหลายหน่วยงานเข้ามาเป็นคณะกรรมการ ทั้ง กรมควบคุมมลพิษ, กระทรวงสาธารณสุข และอื่นๆ แต่ กรมควบคุมมลพิษ ไม่มีอำนาจไปสั่งนักเรียนหยุด คนที่สั่งได้ก็คือ กทม. หรือ อบจ. เทศบาล ดังนั้น กว่าจะทำอะไรได้ ก็จำเป็นต้องมีมาตรการร่วมกัน
...
“ปัญหาคือ ไม่มีหน่วยงานไหนที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จ แต่มีผู้ประสานงานหลัก คือ ท่านรองนายกรัฐมนตรี ที่เป็นคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ โดยมีคนที่ต้องวิ่งประสานงานในการแก้ปัญหาให้เสร็จ คือ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเอามาติ จากกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ไปให้ ก.ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ก.เกษตร, ก.คมนาคม, ก.สาธารณสุข ซึ่งกลไก ลักษณะนี้ ใช่ว่าใครจะทำได้”
ศศิน ทิ้งท้ายว่า ถ้าเรามีรองนายกฯ ที่เข้าใจกลไก แบบนี้ เชื่อว่าการแก้ปัญหา จะดีขึ้น ส่วนท่านประวิตร ท่าน อาจจะเหมาะกับการเป็นนายกฯ มากกว่า ก็ให้ท่านเป็นไป...ส่วนใครที่รู้เรื่องนี้ ก็ควรให้เข้ามาทำงานในรัฐบาลหน้า
รายชื่อ ไม้ต้น และไม้พุ่ม ลดฝุ่น PM 2.5
จากรายงานของ “ต้นไม้ลดฝุ่น PM 2.5 สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และ พันธุ์พืช ระบุ ว่า ต้นไม้ทุกชนิดมีคุณสมบัติดักจับฝุ่นละออง โดยเฉพาะฝุ่น PM 2.5 และมลพิษได้ ส่วนจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับ ลักษณะทางสัณฐานวิทยา
ต้นไม้ลดฝุ่น PM 2.5 ได้อย่างไร...
...
1.ต้นไม้สามารถดูดซับกลิ่น มลพิษและฝุ่นละออง ผ่านทางใบและเปลือกหรือลำต้น ดังนั้น ใบของต้นไม้ไม่ว่าชนิดใด จึงมีคุณสมบัติในการ “ดักจับฝุ่นละอองขนาดเล็ก” ในอากาศได้
2.อากาศที่มีมลพิษ เมื่อไหลผ่านเรือนยอดของต้นไม้แล้ว สามารถลดปริมาณฝุ่น PM 2.5 ได้ 10-50% ทำให้อุณหภูมิลดลง 0.4-3 องศาเซลเซียส
3.ฝุ่น PM 2.5 จะเกาะแน่นกับผิวใบไม้ ที่เป็นชั้นเยื่อบุภายนอก มีสารคล้ายขี้ผึ้งห่อหุ้มบางๆ (epicuticular wax) และมีเส้นขน (trichome) ที่ปกคลุมบนผิวใบ เปลือก กิ่งก้าน หรือ ลำต้น ฝุ่นที่เกาะอยู่ เมื่อโดนน้ำฝน หรือการพ่นน้ำ ก็จะไหลสู่พื้นดิน หรือ หากเป็นฝุ่นใหญ่ๆ ก็อาจจะฟุ้งกระจายไปสู่ผิวดิน หรือ ถนน
4. ฝุ่น PM 2.5 สามารถเข้าสะสมในเนื้อเยื่อของพืชได้ ทางช่องเปิดของปากใบ และช่องอากาศตามกิ่งไม้และลำต้น เนื่องจากปากใบมีขนาดกว้าง 10-80 ไมครอน
5. การสังเคราะห์แสงของพืช ช่วยดูดฝุ่น PM 2.5 และก๊าซพิษต่างๆ เข้าไป แล้วเปลี่ยนออกซิเจนและไอน้ำ ออกมาแทนที่ ทำให้คุณภาพอากาศดีขึ้น เปรียบเสมือนกับเครื่องกรองและเครื่องปรับอากาศที่มีชีวิตนั่นเอง
คุณสมบัติ ต้นไม้โตเร็ว
1.มีใบจำนวนมาก ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการดักจับฝุ่น PM 2.5 มากขึ้น
2.โครงสร้างขนาดเล็กของผิวไม่เรียบ มีขนขนาดเล็ก หรือรูขนาดเล็ก หรือไขปกคลุม มีส่วนสำคัญในการดูดซับฝุ่น
7 ประเภท ไม้ต้น ไม้พุ่ม ลดฝุ่น PM 2.5
1.ไม้พุ่มทนร่ม แนะนำ ข่อย แก้ว ไทรย้อยใบทู่ ไทรย้อยใบแหลม ชาข่อย ชาฮกเกี้ยน จั๋งไทย หมากเหลือง กะพ้อ เป็นต้น
2.ไม้พุ่มทนแดด : กรรณิการ์ ทองอุไร ยี่โถ ทรงบาดาล หางนกยูงไทย พรวด เข็ม รัก เป็นต้น
3 ไม้ต้นทนร่ม : โกงกางเขา พิกุล ต้นสั่งทำ มะเกลือกา มหาพรหม ลำดวน แจง กาสะลองคำ เป็นต้น
4.ไม้ต้นทนแดด (พื้นที่จำกัด) : สนประดิพัทธ์ สนทะเล รวงผึ้ง ตะลิงปลิง มะกล่ำต้น ตะเคียนหนู ปีบ แจงหม่อน เป็นต้น
5.ไม้ต้นทนแดด (พื้นที่กว้าง) : สนทะเล ทองกวาว นนทรี มะขาม มะกล่ำต้น มะเดื่อปล้อง มะยมป่า เป็นต้น
6.ไม้เลื้อย : เล็บมือนาง เครือออน พวงคราม ติ่งตั่ง การเวก นมแมว กะทกรก อรพิม ใบสีทอง เป็นต้น
7.ไม้เลื้อย มีรากยึดผนัง : เหลืองชัชวาล ตีนตุ๊กแก พลูแฉก เงินไหลมา และพลูด่าง
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านบทความที่น่าสนใจ