เดือดร้อนถึงหมอปลา เมื่อครอบครัวหนุ่ม จ.นครศรีธรรมราช ร้องสื่อให้ช่วยเหลือ เนื่องจากป่วยประหลาด หิวตลอดเวลา เมื่อกินอาหารก็กินจำนวนมาก พออิ่มแล้วอาเจียนออกมา เป็นมากว่า 10 ปี เคยพบแพทย์หมดเงินหลายแสนบาท แต่ไม่หาย จนต้องพึ่งไสยศาสตร์

ชายหนุ่มรายนี้เปิดเผยถึงโรคปริศนา มีอาการทรมาน จนไม่สามารถไปทำงานรับจ้างกรีดยางได้ กระทบรายได้ของครอบครัว เพราะมีอาการหิวตลอดเวลา การกินแต่ละมื้อจะกินจำนวนมาก จนแม่ชายดังกล่าวต้องทำข้าวต้ม ปลาเค็ม ทิ้งไว้ เพื่อให้ลูกชายได้กินตลอดวัน แต่สิ่งที่น่าห่วงคือ เมื่อกินอิ่มแล้ว จะอาเจียนรุนแรงและร้องไห้

ขณะที่ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ ชายคนดังกล่าวมีอาการปวดท้อง ตัวสั่น เหงื่อออกมาก โดยทางครอบครัวบอกว่ามักมีอาการลักษณะนี้อยู่ตลอด แม้ที่ผ่านมาพาไปหาหมอ เมื่อตรวจแล้วกลับไม่พบความผิดปกติ จนต้องพึ่งไสยศาสตร์ แต่ก็ไม่หาย การรักษาที่ผ่านมาหมดเงินไปนับแสนบาท จึงร้องผ่านสื่อ ให้หมอปลา เข้ามาช่วยเหลือ เพื่อดูว่ามีวิญญาณเข้าสิงร่างหรือไม่

ในมุมของการแพทย์ “รศ.นพ.วีระศักดิ์ จรัสชัยศรี” แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวช มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิเคราะห์ว่า อาการของชายดังกล่าวที่ป่วยมากว่า 10 ปี จนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน และอาการที่กินอาหารแล้วอาเจียน เป็นสัญญาณโรคที่เกิดจากระบบทางเดินอาหาร ขณะเดียวกันอาจเป็นผลข้างเคียงจากโรคบางอย่างที่มีอยู่ในร่างกาย

อาการลักษณะนี้ พบได้ในคนที่มีความเครียด ทำให้มีอาการอาเจียน ขณะเดียวกันอาจเป็นอาการของโรคจิตเวช ที่เรียกว่า โรคคลั่งผอม โดยระยะเริ่มต้น คนไข้ไม่อยากรับประทานอาหาร หรือบางคนกินเข้าไปแล้วล้วงคอ เพื่ออาเจียนออกมา จนกลายเป็นพฤติกรรมติดตัว

ป่วยประหลาดกินไม่หยุด เชื่ออาถรรพณ์อิ่มแล้วอ้วก ปริศนาหาหมอหมดเงินนับแสน

...

“ชายรายนี้มีอาการร่วม เช่น ปวดท้องและร้องไห้ มีผลจากความเครียด จึงต้องรักษาในกระบวนการจิตเวช เพราะถ้าปล่อยไว้ ผู้ป่วยจะมีอาการขาดสารอาหาร เนื่องจากอาหารที่กินเข้าไปแล้วอาเจียนออกมาหมด ทำให้ร่างกายอ่อนแอจนมีโรคแทรกซ้อน ดังนั้น ชายคนดังกล่าวควรไปตรวจหาความผิดปกติในระบบทางเดินอาหารอย่างละเอียดอีกครั้ง”

โรคเกี่ยวกับทางเดินอาหาร มีอาการมาจากหลายโรค เช่น โรคลำไส้ กระเพาะอาหาร จึงต้องทำการตรวจ โดยการส่องกล้องภายในอย่างละเอียด ขณะเดียวกันบางโรค เช่น ลำไส้แปรปรวน จะไม่มีร่องรอยโรคเกิดขึ้นภายในร่างกาย แต่มีอาการอาเจียนต่อเนื่องได้เช่นกัน

กรณีดังกล่าว ต้องทำการรักษาทางการแพทย์อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้อาการของโรคทุเลาลง เพราะเสี่ยงที่จะมีอาการร้ายแรงเกิดขึ้นกับร่างกาย เช่น ภาวะขาดสารอาหารได้ในอนาคต.