ไทยต้องเตรียมพร้อมรับมือสังคมผู้อายุ และผู้กำลังเข้าสู่วัยใกล้ฝั่งพร้อมแล้วหรือยัง ในการใช้ชีวิตบั้นปลายให้มีความสุข เพราะจากการระบาดของโควิด ได้ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของจำนวนประชากรในสังคมไทย และด้วยจำนวนคนเกิดที่ลดลงต่อเนื่อง จาก 6 แสน-8 แสนคนต่อปี ลดลงมาน้อยกว่า 6 แสนคน และจำนวนคนตายที่เพิ่มมากขึ้น ยิ่งเป็นตัวเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านโครงสร้างประชากรที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ทำให้สังคมไทยปี 2565 ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบรูณ์
ข้อมูลปี 2564 มีเด็กเกิดใหม่ประมาณ 5.4 แสนคน ลดลงมากกว่าครึ่งเป็นประวัติศาสตร์จากเมื่อ 50 ปีก่อน ส่วนคนตาย มีจำนวน 5.6 แสนคน และเมื่อนำจำนวนคนเกิดมาหักลบกับคนตาย นั่นเท่ากับว่า ไทยมีอัตราการเพิ่มของประชากรติดลบ ทำให้ปี 2565 ไทยมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากถึง 20% ของประชากรทั้งหมด หรือจำนวน 12.9 ล้านคน จากจำนวนประชากรสัญชาติไทยที่มีชื่ออยู่ในทะเบียน 66,080,812 คน (ข้อมูล ณ 31 ธ.ค. 2565) และอีกไม่ถึง 10 ปี จะก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป มากถึง 28% ของประชากรทั้งหมด จากข้อมูลสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
...
ปฏิเสธไม่ได้ในช่วงโควิดระบาด ได้สร้างความยากลำบากกับคนไทย โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีปัญหาด้านสุขภาพมากสุด มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อและการเสียชีวิต เกิดความเหลื่อมล้ำไม่เป็นธรรมในการเข้าถึงบริการทางสังคม รวมถึงกระทบต่อรายได้ในการดำเนินชีวิต ได้เพิ่มความทุกข์ยากให้กับผู้สูงอายุ โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ มีสัดส่วนผู้สูงอายุสูงที่สุดในประเทศ ถือเป็นกลุ่มเปราะบางสูงในเรื่องความเป็นอยู่
“รศ.ดร.ศุทธิดา ชวนวัน” จากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล คาดว่าในอนาคตครัวเรือนไทยมากกว่าครึ่งจะมีผู้สูงอายุอาศัยอยู่ ขณะที่ผู้สูงอายุที่อยู่ตามลำพังคนเดียวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเช่นกัน เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการเข้าไม่ถึงบริการทางสังคม เพราะไม่มีลูกหลานดูแลทำให้ยากลำบากในการเดินทาง เมื่อเกิดภาวะเจ็บป่วย นอกจากนี้ผู้สูงอายุที่อยู่ตามลำพังคนเดียวแบบไร้ญาติขาดมิตร ยังมีแนวโน้มรู้สึกกังวลและซึมเศร้ามากกว่าผู้สูงอายุที่อยู่ร่วมกับคนอื่น
“ยิ่งอายุมากขึ้น ยิ่งรู้สึกกังวลและซึมเศร้าเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะผู้หญิงสูงอายุในเขตเทศบาล ต้องการให้คนแวะเวียนมาหาบ้าง เพราะกังวลและกลัวว่าหากเป็นอะไรจะไม่มีใครรู้ ซึ่งภาครัฐควรดูแลเป็นพิเศษในเรื่องจิตใจ เพื่อให้สามารถอยู่ได้ด้วยตนเองอย่างมีอิสระ และอยู่ในสภาพที่สามารถดูแลตัวเองได้ ส่วนกรณีทุพพลภาพ หรือติดเตียง ควรมีอาสาสมัครในชุมชนและระบบเพื่อนบ้าน ช่วยดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน”
แนวโน้มการลดลงของประชากรไทยอย่างรวดเร็ว “ศ.เกียรติคุณ ดร.อภิชาติ จำรัสฤทธิรงค์” ที่ปรึกษาอาวุโส สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุในบทความ ”เส้นทางสู่นโยบายการย้ายถิ่นเพื่อทดแทนประชากร” ชี้ว่าไทยควรริเริ่มนโยบายการย้ายถิ่น เพื่อทดแทนประชากรแต่เนิ่นๆ และต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องในยามที่การแข่งขันการแย่งชิงทรัพยากรมนุษย์ยังไม่สูงมาก และประชากรไทยยังไม่ลดลงมาก ควรให้สัญชาติไทยแก่ชาวต่างชาติ จากการทำงานเชิงรุก มีขั้นตอนและกฎเกณฑ์ที่ถูกต้องเหมาะสม ใช้หลักสิทธิมนุษยชนและมุมมองแบบสากล ควบคู่กับการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตัดสินใจ โดยตั้งเป้าจำนวนต่างชาติที่จะนำเข้าต่อปี อย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 1 แสนคน
เพราะในช่วง 80 ปีข้างหน้า ประชากรไทยจะหายไปประมาณ 25% จะต้องหาประชากรมาทดแทน เพื่อช่วยชะลอการลดลงของประชากรไม่ให้ลดเร็วจนเกินไป รวมถึงให้สัญชาติแก่ราษฎรในประเทศที่ยังไม่ได้สัญชาติไทย โดยสิ่งสำคัญไทยจะต้องก้าวข้ามอุปสรรคเรื่อง Xenophobia หรือความเกลียดกลัวต่างชาติ เน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการคัดสรรประชากรต่างชาติ
...
นโยบายการย้ายถิ่นในลักษณะนี้ สหประชาชาติ เรียกว่า การย้ายถิ่นเพื่อการทดแทน คือการย้ายถิ่นที่สามารถช่วยทดแทนประชากรที่หายไปจากการตาย ซึ่งที่ผ่านมาเคยเสนอแนวทางนี้ให้กับหลายประเทศในยุโรป อเมริกา ออสเตรเลีย รวมถึงญี่ปุ่น และเกาหลี พร้อมกับการคาดว่าเมื่อสิ้นศตวรรษที่ 21 ประชากรของประเทศไทยจะลดลงเป็นสัดส่วนที่สูงที่สุดในโลก รองจากญี่ปุ่น
เมื่อปี 2563 นักวิชาการของ The Lancet (Vollset et. al.,2020) ได้สนับสนุนแนวทางของสหประชาชาติ และออกมาเปิดเผยเพิ่มเติมว่า 3 ประเทศแรกที่จะพบปัญหาน่ากังวลมากที่สุด จากจำนวนประชากรลดลงจากปัจจุบันมากกว่าครึ่งหนึ่ง คือ ญี่ปุ่น ไทย และ สเปน ตามลําดับ และเมื่อถึงปี 2643 หรือ 80 ปีข้างหน้า ประชากรของประเทศไทยจะลดลงกว่าครึ่งหนึ่ง เหลือเพียง 30 กว่าล้านคนเท่านั้น หากประเทศไทยไม่ทำอะไร จะทำให้ประชากรจะยิ่งลดลงไปเรื่อยๆ อย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้นจะต้องหาประชากรมาทดแทนประมาณ 25% หรือ 8 ล้านคน
...
จากข้อมูลสำนักทะเบียนกลาง วันที่ 31 ธ.ค. 2564 ตามหลักฐานทะเบียนราษฎร พบว่ามีผู้ไม่ได้สัญชาติไทย 9.73 แสนคน และเพิ่มเป็น 9.75 แสนคน จากการประมวลผลเมื่อวันที่ 3 พ.ค. 2565 โดยในจำนวนนี้ไม่สามารถระบุสัญชาติได้ 7.1 แสนคน เป็นบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน 4.32 แสนคน และไม่ได้สัญชาติไทย 2.79 แสนคน
บางส่วนเป็นผู้ไร้สัญชาติ หรือถูกถอนสัญชาติ รวมถึงผู้ลี้ภัยในที่พักพิงชั่วคราว รวมกว่า 1 แสนคน ส่วนบุตรของแรงงานข้ามชาติที่เกิดในไทย คาดการณ์ว่าเกิดปีละ 3 หมื่นคน อาจเป็นโอกาสในการพลิกวิกฤติ ด้วยการคลี่คลายกฎระเบียบเงื่อนไขการให้สัญชาติให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น.