หญิงสูงวัยถูกแมวกัดจมเขี้ยว หลังพยายามห้ามแมวที่กำลังกัดกัน จนเป็นรอยช้ำบริเวณน่อง แม้ไปหาหมอแล้ว แต่อาการไม่ดีขึ้น หลังจากนั้น 7–8 วัน แผลมีหนองจากอาการติดเชื้อ ทำให้กังวลว่าแผลจะลุกลาม ส่วนสัตวแพทย์ เตือนแบคทีเรียบริเวณฟันและเล็บมีหลายร้อยชนิด เมื่อถูกกัดอาจมีอาการติดเชื้อรุนแรง โดยเฉพาะเด็กเล็ก ไม่ควรปล่อยให้อยู่กับแมวเพียงลำพัง
กลายเป็นประเด็นที่ทาสแมวคาดคิดไม่ถึง เมื่อหญิงสูงวัยรายหนึ่ง ขณะพักผ่อนอยู่ในบ้านพัก ได้ยินเสียงเคาะประตู จึงเดินมาเปิดประตูหน้าบ้าน พบแมวสองตัวกำลังกัดกัน เลยเข้าไปห้าม แต่ถูกแมวตัวหนึ่งกัดจมเขี้ยวแบบไม่ยอมปล่อย ทำให้มีแผลจากรอยกัดตามร่างกาย ที่หนักสุดคือ แผลบริเวณน่อง
โดยหญิงรายดังกล่าวเมื่อถูกกัด ได้ตะโกนขอความช่วยเหลือ และลูกชายได้พาไปพบแพทย์ ซึ่งบริเวณรอยที่ถูกกัดเริ่มมีอาการปวดบวม หลังจากนั้นอีก 7-8 วัน รอยกัดเริ่มเห็นเป็นเขี้ยวชัด แต่อาการปวดบวมกลับหนักขึ้น เมื่อไปพบแพทย์ได้ทำการผ่าเอาหนองออก และให้ยาฆ่าเชื้อ ซึ่งทางญาติยังมีความเป็นห่วงว่า บาดแผลจะลุกลาม เนื่องจากหญิงรายดังกล่าวมีโรคประจำตัวเช่น เบาหวาน ความดัน และโรคพุ่มพวง
...
กรณีนี้เมื่อมีการโพสต์ในโลกออนไลน์ ได้มีชาวเน็ตถกเถียงกันถึงการป้องกัน โดย “ผศ.สพญ. ดร.จุฑามาส เบ็ญจนิรัตน์” อาจารย์สัตวแพทย์ประจำคลินิกพฤติกรรมสุนัขและแมว โรงพยาบาลสัตว์เล็ก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยกับ “ทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์” ว่า โดยปกติบริเวณปากและฟันของแมวมีแบคทีเรียหลายร้อยชนิด เมื่อถูกกัดจะมีอาการติดเชื้อ ทำให้แผลอักเสบมีหนอง หากไม่ดูแลอาจจะมีอาการลุกลามได้ อาการลักษณะนี้ไม่ได้เกิดกับคนที่ถูกแมวกัดเท่านั้น แต่แมวที่กัดกันเอง ก็มีอาการเช่นเดียวกัน
“เชื้อแบคทีเรียที่อยู่ในปากแมวป้องกันยาก หลายคนเมื่อถูกกัดแล้วไม่รู้สึก เพราะแผลจากรอยเขี้ยวแมวมีรูขนาดเล็ก เลยไม่ไปหาหมอ หรือบนปากแผลตกสะเก็ด แต่ภายในมีการติดเชื้อ เพราะแบคทีเรีย ทำให้เกิดการอักเสบและมีหนอง ส่วนความเชื่อที่ว่าถ้าฉีดวัคซีนให้แมวแล้ว จะไม่มีเชื้อแบคทีเรีย เป็นความคิดที่ผิด เพราะการฉีดวัคซีน ช่วยป้องกันเชื้อพิษสุนัขบ้าในแมวไม่ให้ติดต่อสู่คน แต่ไม่สามารถป้องกันเชื้อแบคทีเรียได้”
ลักษณะการถูกแมวกัด ส่วนใหญ่ถูกขณะอุ้มแมว แล้วน้องตกใจงับแขนได้ หรือแมวที่ซนอาจกระโดดงับขาก็ได้ ขณะที่แมวที่อยู่ในช่วงวัยเด็ก จะมีโอกาสกัดได้บ่อยกว่าช่วงวัยอื่น เพราะบางครั้งแมวอาจจะเล่นแล้วเผลอกัดจริง โดยช่วงเวลาที่แมวมักจะกัดเจ้าของจะเป็นช่วงเวลาที่ไปบังคับให้แมวทำบางอย่าง เช่นระหว่างป้อนยา
“ลูกแมวที่ไม่ได้โตมากับแม่หรือพี่น้อง มีโอกาสกัดเจ้าของได้รุนแรง เพราะน้องไม่ได้ถูกสอนให้เรียนรู้เรื่องเหล่านี้ ขณะเดียวกันคนไข้บางรายที่ถูกเล็บแมวข่วนก็มีโอกาสติดเชื้อได้เหมือนกัน เพราะบนเล็บของแมวก็มีเชื้อแบคทีเรียซ่อนอยู่”
การป้องกันไม่ให้ถูกแมวกัด เจ้าของต้องเพิ่มความระมัดระวังช่วงเวลาที่บังคับให้แมวทำพฤติกรรมบางอย่าง หากถูกกัดต้องรีบล้างแผลให้สะอาด ถ้าเป็นแผลลึกลักษณะเขี้ยวจมลงบนผิวหนัง ควรพบแพทย์ หากมีอาการรุนแรงมากขึ้น ต้องไปพบแพทย์อีกครั้ง
“คนที่เลี้ยงแมว ควรใช้ความระมัดระวังระหว่างเล่นกับน้อง หากเล่นจนรู้สึกว่าสนุกมากเกินไป อาจต้องหยุดเล่นก่อน ขณะเดียวกันผู้ปกครองไม่ควรปล่อยให้สัตว์เลี้ยงอยู่กับเด็กเพียงลำพัง เพราะปกติอุปนิสัยของแมวจะไม่กระโดดกัดคนก่อน แต่ถ้าเป็นเด็กอาจไปดึงหาง หรือทำให้แมวตกใจ จนถูกกัดเป็นแผลติดเชื้อ”
การป้องกันอันตรายจากการถูกกัดและข่วนจากแมวสามารถป้องกันได้ หากผู้ที่เลี้ยงรู้จักสังเกตและเรียนรู้พฤติกรรมของแมว จึงไม่อยากให้วิตกกังวลเรื่องนี้จนเกินไปจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตร่วมกันของคนกับแมวได้.