การบุกเข้าจับกุม "นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา" อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช คาห้องทำงาน เมื่อ 27 ธันวาคม 2565 ของ ตำรวจกองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ หรือ บก.ปปป. และ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. หลังมีผู้เสียหายร้องเรียนถึงพฤติกรรมเรียกรับเงินจากผู้ใต้บังคับบัญชา แลกกับการไม่ถูกโยกย้ายตำแหน่งในหน่วยงาน และมีการเรียกรับเงินจากหน่วยงานในสังกัดกรมอุทยานฯ เป็นรายเดือน เดือนละหลายแสนบาท จนมีการขยายผลตรวจค้นภายในห้องทำงาน และพบเงินสดจำนวนมากเกือบ 5 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังพบหลักฐานเป็นซองเงิน ที่เขียนกำกับหน้าซอง ระบุถึงแหล่งที่มาของเงิน และเดือนที่จ่าย จากหน่วยงานในสังกัดของกรมอุทยานฯ
เหุตการณ์นี้ สะเทือนให้เห็นถึงความย้อนแย้งของวงการข้าราชการ ที่ก่อนหน้านี้ หลายหน่วยงาน ต่างออกมาประกาศนโยบายในการต่อต้านคอร์รัปชัน ซึ่งกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธ์ุพืช ก็เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่ออกมาประกาศตัวชัดเจน พร้อมทั้งจัดกิจกรรมแสดงสัญลักษณ์ต่อต้านการทุจริต ตามแนวทางการประเมินคุณธรรม และความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ ประจำปี 2565 โดย มีนายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา เป็นประธาน และมีการประกาศนโยบายการไม่รับของขวัญและของกำนัลทุกชนิดจากการปฏิบัติหน้าที่ (No Gift Policy) ซึ่งประกาศเจตนารมณ์การเป็นองค์กรแห่งความโปร่งใส มีมาตรฐานทางคุณธรรม จริยธรรม ผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ และบุคลากรทุกคน “งดรับของขวัญและของกำนัลทุกชนิด” จากการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อเสริมสร้างวัฒนธรรมและค่านิยมสุจริตในการปฏิบัติงาน ป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบ
...
"การจับกุมอธิบดีกรมอุทยานฯ สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการคอร์รัปชันอย่างเป็นระบบในหมู่ข้าราชการ นักการเมืองและกลุ่มผลประโยชน์ยังคงมีอยู่และทำกันอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าจะมีการรณรงค์ต่อต้านคอร์รัปชัน" เป็นประโยคที่ "ดร.มานะ นิมิตรมงคล" เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT กล่าวกับ “ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์” เพื่อสะท้อนภาพการแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันที่ล้มเหลวในระบบราชการไทย
“ดร.มานะ” ระบุว่า การที่หน่วยงานรัฐ จัดรณรงค์ต่อต้านคอร์รัปชัน มีการประกาศนโยบาย No Gift policy ไม่เกิดประโยชน์ และ สะท้อนว่า ทำไมดัชนีคอร์รัปชัน หรือ CPI ของประเทศไทย จึงไม่ขยับไปไหน เพราะ คนที่มีอำนาจแต่ละคนใส่หน้ากากกันทั้งหมด และไม่ละอายที่จะมายืนทำตัวเป็นคนดี กล้าเขียนนโยบาย กล้าประกาศ ต่อต้านทุจริต คอร์รัปชัน แต่ไม่ยอมทำอะไร ไม่ใส่ใจ ที่จะช่วยกันแก้ไขปัญหา และไม่ใส่ใจที่จะทำตามกฎหมาย ถือว่าเป็นพวก มือถือสาก ปากถือศีล
แสดงถึงความล้มเหลว ของการแก้ปัญหาการทุจริต คอร์รัปชัน ที่ปัญหาหลัก เกิดจากคน! เพราะระบบราชการ ที่มีธรรมเนียมการเติบโตด้วยการเอาอก เอาใจ เจ้านาย การวิ่งเต้นซื้อขายตำแหน่ง ถ้าสิ่งเหล่านี้ยังคงอยู่ ทุกคนก็จะไม่ใส่ใจในการแก้ไขปัญหา
...
ปัญหาคุกคามข้าราชการที่แจ้งเบาะแส
สิ่งที่เกิดขึ้นกับการทุจริตคอรัปชั่นในไทยก็คือ คนในแวดวงระบบราชการส่วนใหญ่ กลัวที่จะพูด กลัวว่าเมื่อพูดไปจะเสียโอกาสในหน้าที่การงาน เป็น "การคุกคามด้วยระเบียบและกฎหมาย" ซึ่งอาจจะไม่เติบโต หรือ ถูกขับให้ออกจากราชการ แต่สิ่งที่น่ากลัวมากกว่านั้นก็คือ "การคุกคามด้วยอิทธิพล" ที่ผ่านมาเราก็เห็นการใช้อำนาจเถื่อนในการข่มขู่ รวมถึงการทำร้ายและเข่นฆ่า จากปัญหาการทุจริตก็เคยมีให้เห็น
แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้คนไม่กล้าพูดมากก็คือ "การข่มขู่แบบเปิดเผยและเป็นทางการ" จะเห็นว่า เมื่อมีประชาชนลุกออกมาพูดอะไรก็แล้วแต่เกี่ยวกับการทุจริต จะมีการข่มขู่เรื่องการฟ้องหมิ่นประมาทหากพูดโดยไม่มีหลักฐาน เอากฎหมาย PDPA มาอ้างสิทธิ์ส่วนบุคคล รวมถึง อ้าง พ.ร.บ คอมพิวเตอร์ นำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จ การที่ถูกข่มขู่อย่างนี้ได้เนื่องจากการทำงานในระบบราชการ เต็มไปด้วยการใช้อำนาจและการใช้ดุลพินิจ ไม่ได้อยู่ที่การใช้อำนาจทางกฎหมายของรัฐที่ชัดเจน
อีกประการก็คือ หน่วยงานของรัฐทำอะไรก็แล้วแต่ มักจะไม่เปิดเผยข้อมูล หรือ หากจะเปิดเผยก็เปิดเผยเพียงเล็กน้อย ทำให้คนทั่วไปไม่สามารถรับรู้ความจริงได้ เช่นการประมูลรถไฟฟ้าหลายสายของไทยที่มีปัญหา เช่น รถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่เปิดเผยสัญญาไม่ได้ เมื่อไม่มีการเปิดเผยข้อมูลประชาชนก็ ไม่รู้ข้อมูล
...
ไม่ยอมรับความจริงว่ามีการทุจริต
การยอมรับความจริงเป็นเรื่องที่สำคัญ ถ้าผู้นำของประเทศในทุกระดับ ใส่ใจและยอมรับความจริง ว่ามีการทุจริตคอร์รัปชัน จะสามารถแก้ไขปัญหาได้ ไม่ใช่ว่า เมื่อมีคนแจ้งเบาะแสการทุจริตก็ออกมาปฏิเสธว่าไม่จริง ไม่เคยเกิดขึ้น หรือ โทษว่าเป็นเรื่องตัวบุคคล เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นครั้งแรก ถ้ามีการปฏิเสธเช่นนี้ออกมาก่อนก็จะไม่สามารถแก้ไขอะไรได้ ทำให้ประชาชนที่จับตามองก็ยิ่งเอือมระอา
สิ่งที่น่าห่วงอีกประการ คือการที่ ภาครัฐไม่มีมาตรการที่จะช่วยปกป้องคุ้มครองข้าราชการ หรือ ประชาชนที่พูดความจริง ซึ่งมีการศึกษาวิจัย พบว่า ข้าราชการกว่า 36 เปอร์เซ็นต์ ยอมรับว่าเห็นการทุจริต และมีการโกงกินในหน่วยงาน แต่สาเหตุ ที่ไม่ยอมรับความจริง ไม่กล้าพูด เพราะหากพูดไป ก็จะมีการนำไปสู่การเจรจาไกล่เกลี่ย ทำให้ผู้ที่ร้องเรียนถูกเปิดหน้าออกมา ทำให้ข้าราชการที่ร้องเรียนก็อยู่ไม่ได้
ถอดบทเรียนแต่ปัญหาทุจริตยังวนซ้ำ?
...
คนไทยมักหวังว่า เมื่อมีเหตุการณ์ทุจริตถูกเปิดโปงจะมีการสรุปบทเรียน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหากลับมาอีก แต่ในความเป็นจริงไม่ใช่
ที่ผ่านมา มักเกิดกรณีที่เมื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐรวมไปถึงนักการเมืองชุดใหม่ขึ้นสู่อำนาจ ก็จะกลายเป็นเรื่องของ "สมบัติผลัดกันชม" เมื่อถึงทีข้า ข้าต้องทำ ใครจะแก้ปัญหาก็เอาไว้ในสมัยหน้า เป็นเรื่องของ รัฐมนตรี หรือ อธิบดี คนต่อไป “ดร.มานะ” ยกตัวอย่าง คดีทุจริตในอดีตที่ผ่านมา มีการจับกุมระดับปลัดกระทรวง ที่ทุจริตและร่ำรวยผิดปกติ และยึดทรัพย์ได้จำนวนมาก แต่เมื่อเวลาผ่าน ปัญหาเดิมๆ ก็ยังเกิดขึ้น ในหน่วยงานรัฐ เมื่อมีการจับกุม จะตามมาด้วยมีเสียงฮือฮา แต่สุดท้ายทุกอย่างก็เงียบไป
ห่วง "รัฐ" ตรวจสอบ "รัฐ" จะโปร่งใสหรือไม่?
ที่ผ่านมาเราพูดกันถึงกลไกการตรวจสอบการทุจริต เรื่องคอร์รัปชัน คนก็จะนึกถึง ป.ป.ช. หรือ งานตรวจสอบการใช้เงิน การใช้งบประมาณ เป็นหน้าที่ของ สตง. ซึ่งเป็นหน่วยงานภายนอก หากเป็นในหน่วยงานระดับกรมและหน่วยงานส่วนท้องถิ่น ก็จะพูดถึง หน่วยงานในการตรวจสอบภายใน แต่ในความเป็นจริง ถ้าเป็นหน่วยงานภายนอกอย่าง ป.ป.ช. และ สตง. กำลังบุคลากรที่จะเข้าไปตรวจสอบก็มักไม่เพียงพอ ทางด้านเทคนิคก็จะวิ่งตามหลังคนที่โกงอยู่เสมอ ขณะที่หน่วยงานตรวจสอบภายใน เป็นหน่วยงานภายในไม่มีความเป็นอิสระ ทำอะไรก็ต้องเกรงใจเจ้านาย ในทางปฏิบัติหน่วยงานต่างๆ ก็ไม่ให้ความสำคัญกับหน่วยตรวจสอบภายในเหล่านี้ เอาไปทำหน้าที่อื่นที่ไม่มีความสำคัญ
การตรวจสอบที่ดีจะเกิดขึ้นได้ ก็คือ "การเปิดเผย" เป็นสิ่งที่ทำได้ง่ายและมีต้นทุนที่ต่ำ เมื่อมีการเปิดเผยเรื่องทุจริตขึ้นมา สื่อมวลชน นักวิชาการและประชาชน จะมาร่วมกันทำหน้าที่ ในการตรวจสอบ และต้องตรวจสอบถึงงบประมาณส่วนไหนถูกใช้ไปทำอะไรบ้าง และมีการเล่นแร่แปรธาตุ ไปอยู่ที่ไหนหรือไม่ กลไกเหล่านี้ อยากจะทำหน้าที่ตรวจ ซึ่งมีประสิทธิภาพ มากกว่ากลไกของรัฐ
“ดร.มานะ” กล่าวทิ้งท้ายว่า เรื่องสำคัญในการเอาชนะปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน ไม่ใช่การไปไล่จับคนโกง เพราะเมื่อไล่จับคนที่โกงไปแล้ว ก็มีรายใหม่เกิดขึ้นมา ถ้าสิ่งแวดล้อมยังเป็นเช่นเดิม ระบบราชการยังเป็นเหมือนเดิม ก็จะเกิดการโกงขึ้นอีกเมื่อโอกาสเหมาะสม ทางที่ดีที่สุดก็คือ!! ทำให้คนตระหนักและตื่นตัว ถึงความเสื่อมเสียและความสูญเสียที่จะเกิดขึ้น กับหน่วยงาน กับอนาคตของประเทศ.
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง