คนแก่ กับ ความน่าเบื่อ!

เชื่อว่า ท่านผู้อ่านหลายท่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ท่านที่ “ยังไม่แก่” เห็นชื่อเรื่อง “เชื่อ คิดและทำ อย่างวิทยาศาสตร์” วันนี้ ก็เกิดความสงสัยว่า ....

• ผู้เขียนคงเขียนให้ “คนแก่ด้วยกัน” เท่านั้นอ่าน ใช่ไหม?
• คนยังไม่แก่ ไม่ควรเสียเวลาอ่าน ใช่ไหม?

ผู้เขียนจึงขอรีบตอบทันทีว่า ถูกต้องในขั้นต้น เรื่องของเราวันนี้ ผู้เขียนตั้งใจเขียนให้ “คนแก่ด้วยกัน” อ่าน

เพราะผู้เขียนปฏิเสธความจริงไม่ได้ว่า ผู้เขียนก็อยู่ในกลุ่มคนแก่ด้วยกันกับท่านผู้อ่านหลายท่าน และเรื่องราวในวันนี้ ส่วนหนึ่งก็เป็นเรื่องของคนแก่ ที่คุยกับคนแก่ด้วยกัน

แต่...ผู้เขียนก็มิได้ตั้งใจเขียนให้คนแก่ด้วยกันอ่านเท่านั้น เพราะที่ถูกต้องกว่า และเป็น “ขั้นต้น” ที่ “ขั้นต้นกว่า” ผู้เขียนตั้งใจเป็นพิเศษ เขียนให้คนที่ยังไม่แก่ ได้อ่านด้วย

ทำไม ?

อย่างตรงๆ ก็เพื่อที่คนยังไม่แก่ จะได้มีโอกาสมากกว่าคนอื่นๆ จะได้เป็น “คนแก่ที่ไม่น่าเบื่อ!”

...

คนแก่ที่น่าเบื่อ!

คนแก่ที่น่าเบื่อ มีหลายแบบ ...

• แบบเบื่อกับชีวิต ที่ไม่เป็นไปอย่างที่ฝัน
• แบบเบื่อคนบางคนหรือคนทั้งโลก ที่เห็นแก่ตัว
• แบบเบื่อกับโชคชะตาที่ดูจะจ้อง “เล่นตลก” (ที่ไม่ตลก) ซ้ำแล้วซ้ำเล่า
• แบบเบื่อคนรอบตัว ที่ดูจะขัดหูขัดตาขัดใจ ไปเสียทั้งหมด
• แบบ “ใครๆ ก็เบื่อ “แม้แต่” พัดลมยังส่ายหน้าเลย!”
• แบบน่าเบื่อของคนในครอบครัว ทั้งสามีหรือภรรยา และคนอื่นๆ ในครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นลูกหลาน หรือถึงโหลน
• แบบน่าเบื่อของคนอื่นๆ รอบตัว ที่นอกเหนือไปจากครอบครัวหรือเพื่อนบ้าน

แต่เรื่องของเราวันนี้ ผู้เขียนขอโฟกัสเฉพาะ สองแบบของคนแก่ที่น่าเบื่อ คือ หนึ่ง : เบื่อตนเอง และสอง : เป็นที่น่าเบื่อของคนอื่น


เบื่อตนเอง!

คนแก่ที่น่าเบื่อแบบแรก คือ เบื่อตนเอง เป็นอย่างไร?

คนแก่ที่เบื่อตนเอง หนักๆ ก็คือ เบื่อตนเองเรื่อง สุขภาพ ทั้งร่างกายและจิตใจ

จริงๆ แล้ว เรื่องคนแก่ กับเรื่องสุขภาพ ก็เป็นเรื่องคู่กัน ที่คนมีอายุมากขึ้น ร่างกายก็เสื่อมลงเป็นธรรมดา

แต่ความน่าเบื่อตนเองของคนแก่เรื่อง สุขภาพ ก็คือ เบื่อกับสุขภาพที่รู้สึก “แย่” กว่าคนอื่นๆ มีสารพัดโรครุมเร้า เดินเหินเคลื่อนไหวไม่คล่อง (แม้แต่เทียบกับคนแก่วัยใกล้เคียงกัน) ต้องกินยาเป็นประจำ เพราะถ้าไม่กิน ร่างกายก็จะแสดงอาการ “เจ็บปวด”ให้รู้สึก และหนักที่สุด ก็คือ ต้อง “ป่วยติดเตียง” เป็นเวลายาวนาน

นั่นเป็นเรื่องใหญ่ของสุขภาพทางร่างกาย ที่ชัดเจน และรู้สึกตัวได้

แต่ที่อาจไม่รู้ตัว ก็คือ ปัญหาเรื่อง สุขภาพจิต ที่เป็นคนแก่รู้สึกจิตใจหงุดหงิด หดหู่ เป็นประจำ ปวดศีรษะอย่างไม่รู้สาเหตุ ซึมเศร้า นอนหลับยาก เมื่อหลับก็ฝันร้ายบ่อยๆ

เปรียบเทียบ กับสุขภาพกาย แล้ว ปัญหาสุขภาพจิตของคนแก่ เป็นปัญหาที่ “หนัก” กว่าสุขภาพทางกาย เพราะคนแก่จำนวนมาก คิดว่า เป็นเรื่องธรรมดาของมนุษย์ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นคนแก่ หรือไม่แก่ ที่จะต้องรู้สึกปวดศีรษะ เครียด หดหู่ และนอนไม่หลับ

นั่นคือ ไม่รู้ตัวจริงๆ ว่า กำลังเป็นคนแก่มีปัญหาด้านสุขภาพจิต และจึงไม่ได้รับการรักษาหรือ “บำบัด” อย่างถูกวิธี

ในประเทศที่พัฒนาแล้ว จะมีปัญหาเรื่องสุขภาพจิตของคนแก่ น้อยกว่าในประเทศกำลังพัฒนา ดังเช่นประเทศไทย เพราะในประเทศเหล่านั้น จิตแพทย์จะมีบทบาทสูง ในการดูแลสุขภาพจิตของคนในประเทศ ทั้งคนแก่ และไม่แก่

แต่ในประเทศไทย จิตแพทย์ ยังมีบทบาทน้อยในการดูแลสุขภาพจิตของคนในประเทศ เพราะจำนวนจิตแพทย์ ยังมีน้อย และคนไทย ส่วนใหญ่ ไม่ยอมรับว่า ตนเองมี (หรืออาจมี) ปัญหาเรื่องสุขภาพจิต จึงไม่ยอมที่จะไปพบจิตแพทย์ เพราะเกรงจะถูกคนอื่นมองว่า เป็น “คนบ้า”

ความเบื่อตนเองของ คนแก่ นอกเหนือไปจากเรื่องสุขภาพทั้งร่างกาย และจิตใจแล้ว ก็ยังมีเรื่องที่หนักพอๆ กับเรื่องสุขภาพ คือ สภาพความเป็นอยู่ของชีวิต ที่ยังต้องดิ้นรน ต่อสู้ ทำมาหากิน เพราะขัดสน ทั้งทรัพย์สินเงินทอง แม้แต่ที่เป็นปัจจัยพื้นฐานของชีวิต ดังเช่น ที่อยู่อาศัย ซึ่งคนแก่ทุกคน ควรจะมี

...


เป็นที่น่าเบื่อของคนอื่น!

คนแก่ ที่น่าเบื่อแบบที่สอง คือเป็นที่น่าเบื่อของคนอื่น เป็นอย่างไร?

อย่างตรงๆ ก็คือ เป็นคนแก่ที่คนอื่นๆ “เบื่อ” “รำคาญ” หรือ “ทนไม่ได้” แต่ “จำต้องทน”

คนอื่นๆ ก็มีตั้งแต่ใกล้ชิดที่สุด คือ สามี หรือภรรยา ลูกๆ หลานๆ ญาติพี่น้อง แล้วก็คนอื่นๆ ไกลออกไป เช่น เพื่อนบ้าน และคนร่วมงาน (ถ้าคนแก่ที่น่าเบื่อยังทำงานอยู่)

อย่างตรงๆ (อีก) ก็คือ เป็นคนแก่ที่จุกจิก จู้จี้ ขี้บ่น พูดจาเสียงดัง หยาบคาย เอาแต่ใจตนเอง ไม่คิดถึงจิตใจคนอื่น คิดว่าตนเองเก่งที่สุด รู้ดีที่สุด

สุเทพ วงศ์กำแหง
สุเทพ วงศ์กำแหง

คนมีประโยชน์!

“เป็นคนทั้งทีควรให้มีประโยชน์ ....”

เนื้อเพลงเริ่มต้นท่อนสุดท้ายของเพลง “คน” ขับร้องโดย สุเทพ วงศ์กำแหง เนื้อร้องและทำนองโดย ครูเพลงสุรพล โทณะวณิก ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (การประพันธ์เพลงไทยสากล) ประจำปี พ.ศ.2540

...

คนแก่ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นคนแก่ที่น่าเบื่อหรือไม่ ก็อยากจะเป็นคนมีประโยชน์

แต่ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่า คนแก่ที่น่าเบื่อทั้งสองแบบ คือ เบื่อตัวเอง และเป็นที่น่าเบื่อของคนอื่น ถึงแม้จะพยายามทำตัวให้เป็นคนมีประโยชน์ แต่ก็จะทำไม่ได้เต็มที่

ซึ่งก็น่าเสียดาย เพราะคุณค่าอย่างหนึ่งของคนแก่ คือ ความรู้และประสบการณ์ ที่ผ่านโลกมามากกว่า คนยังไม่แก่ ที่ต้องหดหาย หรือถูกฝังไปกับความเป็นคนน่าเบื่อ

แถมแนวโน้มประชากรของประเทศที่มีอายุยืนยาวขึ้นของประเทศไทย ก็หมายความว่า สัดส่วนคนแก่ที่น่าเบื่อ ก็มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นด้วย

การลดสัดส่วนของคนแก่ที่น่าเบื่อ จึงมิใช่เพียงแค่ช่วยคนแก่ที่น่าเบื่อเท่านั้น ยังจะช่วยเศรษฐกิจและสังคมของประเทศได้ด้วย

แล้ว “ใคร” หรือ “อะไร” จะช่วยคนแก่ที่น่าเบื่อได้ ?

อย่างเป็นทางการ ประเทศไทยของเรา ก็มีหน่วยงานภาครัฐ กำลังทำงานอย่างหนักอยู่แล้ว ในการดูแลสุขภาพ และการดำเนินชีวิตของคนในประเทศ แต่ “ทุกความช่วยเหลือ” หรือ “ส่วนร่วม” ไม่ว่าจะ “เล็กน้อย” แค่ไหน ก็สามารถจะช่วยได้ เพราะลำพังความช่วยเหลือดูแลจากภาครัฐ ไม่มีวันจะเข้าถึงคนแก่ที่น่าเบื่อได้หมด

ที่สำคัญ ทุกส่วนร่วมในการช่วย “คนแก่ที่น่าเบื่อ” ไม่ว่าจะเป็นคนแก่ หรือยังไม่แก่ ก็จะไม่เป็น “คนแก่ที่น่าเบื่อ” เสียเอง เป็นการช่วยลด “คนแก่ที่น่าเบื่อ” ลงไปได้ด้วย

สุรพล โทณะวณิก
สุรพล โทณะวณิก

...


ทุกปัญหาต้องแก้ที่ต้นเหตุ!

การช่วยคนแก่ที่น่าเบื่อ อย่างตรงๆ ก็ต้องมองไปที่ต้นเหตุ แล้วแก้ตาม “ปัจจัย” ของ “เหตุ”

อย่างง่ายๆ เราได้เห็นส่วน “อย่างไร ?” ของ “คนแก่ที่น่าเบื่อ” แล้ว การแก้ปัญหาอย่างตรงๆ ของ “คนแก่ที่น่าเบื่อ” ก็คือ การมองไปที่ส่วน “ทำไม?” ของคนแก่ที่เรากำลังกล่าวถึง จึงเป็น “คนแก่ที่น่าเบื่อ”

ตัวอย่าง “ทำไม ?” ของคนแก่ที่น่าเบื่อ แบบแรก มีเช่น ...

• ปัญหาเรื่องสุขภาพกาย ก็เพราะ ไม่ใส่ใจดูแลสุขภาพร่างกาย ตั้งแต่ก่อนเป็นคนแก่เท่าที่ควร หรือต้อง “ใช้ร่างกายเกินกำลัง” เพราะความจำเป็นในการดำรงชีวิต แถมปัญหาต่อสุขภาพกาย จากการเสพสุราเกินควร เสริมเติมหนักเข้าไปอีกด้วยการสูบบุหรี่ เหมือนนำเอา “ยาพิษ” เข้าสู่ร่างกาย เป็นประจำ

สุรา-ยาเมา-บุหรี่ เป็น “ยาพิษ" ที่ควรต้องระมัดระวัง อย่างหนักในการนำเข้าสู่ร่างกาย

• ปัญหาเรื่องสุขภาพจิต ก็เพราะความไม่รู้ตัวว่า กำลังเป็นคนป่วยทางจิต

คนป่วยทางจิต ไม่ใช่คนบ้า แต่เสี่ยงกับการกลายเป็นคนบ้าไปจริงๆ ถ้าไม่ได้รับการช่วยเหลือ อย่างถูกทาง และอย่างทันเวลา

• ปัญหาเรื่องความเป็นอยู่ และชีวิต

ไม่มีบ้าน เพราะไม่เคยมี หรือไม่สามารถจะมีได้ หรือเคยมี แต่ก็เป็นของคนอื่นไปเสียแล้วเมื่อแก่

ไม่มีเงินเก็บ เพราะหายไปหมดเมื่อเป็นคนแก่ แม้แต่เป็นข้าราชการที่เลือก “บำเหน็จ” เมื่อเกษียณ หรือพนักงานบริษัท ที่มีเงินบำเหน็จ เมื่อเกษียณการทำงาน แล้วบำเหน็จ ก็หายไปหมดกับเหตุที่ไม่สมควร เช่น การพนัน ความโลภ การหลอกลวง

แล้ว “ทำไม” ของคนแก่ที่น่าเบื่อ แบบที่สอง ล่ะ?

คำตอบมีอย่างสั้นๆ แต่ชัดเจน คือ ไม่รู้ตัวว่า กำลังทำตัวตนเป็นคนแก่ที่น่าเบื่อ ของคนอื่นๆ!

*******************
ทุกปัญหาล้วนมีคำตอบ!

แต่ความยากง่ายของการแก้ปัญหา ก็ขึ้นอยู่กับระดับของปัญหา และประเภทของปัญหา

ระดับของปัญหาที่หนักมากๆ หรือ หนักเกินแก้ ก็ต้องพยายามรับความจริง แล้วพยายามอยู่กับปัญหาอย่างให้ดีที่สุด แต่ความพยายามแก้ปัญหาอย่างถูกทาง ถึงแม้จะแก้ปัญหาทั้งหมดไม่ได้ ก็จะลดความรุนแรงของปัญหาลงไปได้บ้าง และที่สำคัญ ก็จะสามารถอยู่กับปัญหา อย่าง “ไม่เบื่อตนเอง” หรือ “ลดความเบื่อ ตนเอง” ลงไปได้อย่างแน่นอน

แต่สำหรับปัญหาที่แก้ได้ยากที่สุด ก็คือ ปัญหาที่คนแก่ผู้มีปัญหาไม่รู้ตัว ดังเช่น ปัญหาสุขภาพจิต และปัญหาที่คนแก่เป็นที่น่าเบื่อของคนอื่นๆ

ทางออกดีที่สุด ก็คือ ต้องพยายามหาวิธีที่จะช่วยให้คนแก่ ได้ “รู้ตัว” ว่า กำลังทำตัวเป็นคนแก่ที่น่าเบื่อเอง

ทำอย่างไร?

นี่คือโจทย์ใหญ่ที่สุดของเราวันนี้

คำตอบตรงที่สุด ก็คือ ต้องพยายามทำให้คนแก่ ได้รู้ตัวว่า กำลังเป็นคนแก่ที่น่าเบื่อ

ทำอย่างไร (อีกที)!

ก็ดังเช่นโดยการประชาสัมพันธ์ และการทำงานในเชิงรุก (ของหน่วยงานภาครัฐ เกี่ยวกับสุขภาพของประชาชน ) โดยสื่อ (ทั้งวิทยุ โทรทัศน์ ดิจิทัล) โดยคนสนิท ที่เป็นมิตรแท้ พยายามสะกิดให้เพื่อนที่เป็นคนแก่กำลังมีปัญหา ได้รู้ตัว ซึ่งไม่ง่าย ที่จะเตือนเพื่อน ให้รู้ถึงปัญหาของเพื่อน โดยที่ไม่ต้องเสียเพื่อน และญาติสนิทใกล้ชิดจริงๆ ดังเช่น พี่ๆ ที่รัก และห่วงน้องจริงๆ และญาติผู้ใหญ่ที่ไม่เป็น คนแก่น่าเบื่อเสียเอง

แล้วสำหรับคนยังไม่แก่ล่ะ ?

ผู้เขียนเชื่อ และหวังว่า ท่านผู้อ่านที่ยังไม่แก่ เมื่อได้อ่านเรื่องนี้ จะมองเห็นและเข้าใจ ที่ผู้เขียนได้กล่าวตั้งแต่ต้นว่า เรื่องวันนี้ เขียนให้คนแก่ด้วยกัน (กับผู้เขียน) อ่าน แต่ที่หวังไว้มากกว่านั้น ก็คือ เขียนให้ท่านผู้อ่านที่ยังไม่แก่ เพื่อที่ท่านจะไม่แก่ตัวลง เป็นคนแก่ที่น่าเบื่อ

เพราะท่านผู้อ่านที่ยังไม่แก่ มีเวลาเตรียมตัวจะเป็นคนแก่ ที่ไม่น่าเบื่อ ด้วยการ ....

• ดูแลสุขภาพของท่านให้ดี ทั้งร่างกาย และจิตใจ
• เตรียมตัวให้เป็นคนแก่ที่มี (อย่างน้อย) ปัจจัยจำเป็นต่อการดำรงชีวิต อย่างมีคุณภาพ โดยไม่ต้องพึ่งพาคนอื่น และช่วยเหลือคนอื่น (ที่สมควรช่วย) ได้
• ตั้งใจจะไม่เป็น คนแก่ที่น่าเบื่อสำหรับคนอื่นๆ ทั้งคนใกล้ชิดในครอบครัว และคนอื่นๆ ห่างไกลออกไป

“วัฒนชัย” เพื่อนสนิทของผู้เขียน ได้นำเอาประเด็นใหญ่ของเราวันนี้ ไปเขียนเป็น บทกวี “แก่อย่างไร ...ไม่น่าเบื่อ” ลงตีพิมพ์ในคอลัมน์ “สวนอักษร” จดหมายข่าวประชาคมวิจัย ฉบับที่ 123 ประจำเดือนกันยายน – ตุลาคม พ.ศ.2558

ผู้เขียน และ “วัฒนชัย” จึงขอนำบทกวี “แก่อย่างไร...ไม่น่าเบื่อ” มามอบแก่ท่านผู้อ่าน เพื่อส่งท้ายปีเก่า 2565 และต้อนรับปีใหม่ 2566

แก่อย่างไร... ไม่น่าเบื่อ

   วันที่ 1 ตุลา มาบรรจบ            ถึงวันครบวันเกษียณเวียนวันใหม่
ถึงวันแล้วชีวิตจะเปลี่ยนไป           เข้าสู่วัย ได้ชื่อคน แก่ชรา
ถึงจะแก่แต่อยากแก่แบบไม่แก่       แล้วความแก่จะเลือกได้แค่ไหนหนา
อันความแก่ที่แก่ตามกาลเวลา       คงจะเกินสุดปัญญาจะห้ามกัน
แต่ความแก่เป็นคนแก่ไม่น่าเบื่อ      มหัศจรรย์เหลือเชื่อใช่เสกสรร
แล้วจะแก่แบบนั้นได้อย่างไรกัน      ที่ไม่ไกลเกินฝันเกินเป็นไป
ลองเริ่มต้นมองคนแก่ที่น่าเบื่อ        ว่าน่าเบื่อ นั้นน่าเบื่อเป็นแบบไหน
ก็จะเห็นเป็นเหตุเป็นปัจจัย             แล้วจะได้ไม่ต้องเป็นดังเช่นเกรง
อันคนแก่ที่น่าเบื่อมีสองแบบ          หนึ่งคือแบบไม่ต้องหาตาเขม็ง
เพราะเป็นแบบที่แสนเบื่อตัวตนเอง   หมดสภาพเหมือนนักเลงที่หมดลาย
เป็นคนป่วยทั้งกายและใจจิต          ไม่มีทรัพย์ไม่มีสิทธิที่อาศัย
มีชีวิตอยู่อย่างซังกะตาย               นอนไม่หลับฝันก็ร้ายไม่เว้นคืน
แล้วก็ถึงแก่น่าเบื่อแบบที่สอง          คือคนแก่น่าเบื่อของคนอื่นๆ
ลูกหลานเหลนล้วนต้องทนกล้ำกลืน   ต้องทนฝืนแก่จู้จี้ขี้บ่นนัก
นี่แหละคือคนแก่ที่น่าเบื่อ              สองแบบเพื่อให้คิดให้ตระหนัก
ไม่อยากเป็นคนแก่น่าเบื่อนัก          ก็ไม่ยาก หากตั้งใจจะไม่เป็น