หากพูดถึงความสัมพันธ์ฉันคู่รัก romantic relationship การมีคู่เดียว รักเดียวใจเดียว คงจะเป็นความรักที่ถูกต้องของขนบธรรมเนียมประเพณีไทย แต่ในอีกมุมของบริบททางสังคมที่เปลี่ยนไป ทำให้คนในสังคมต่างมีความคิดเป็นของตัวเอง สังคมที่เปิดกว้างมากขึ้นทำให้แนวคิดเรื่องการมีความรักที่สมบูรณ์แบบตามหลักคิดแบบเดิม ที่คู่รัก ต้องลงเอยด้วยการเข้าพิธีวิวาห์ ร่วมเรือนหอ สร้างครอบครัวร่วมกัน อาจไม่ใช่สูตรสำเร็จสำหรับทุกคน การไม่อยากผูกมัด หรือไม่อยากมีพันธะใดๆ ต่อกัน แต่ยังสามารถตอบสนองความต้องการของอีกฝ่ายได้ไม่ต่างจากการเป็นคู่รัก จึงเป็นทางออกสำหรับคนในยุคที่การสื่อสารและเทคโนโลยีทำให้มีโอกาสได้รู้จักคนแปลกหน้ามากขึ้น
"ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์" ได้นำเสนอความสัมพันธ์ชั่วคราวที่มีการเรียกความสัมพันธ์ที่แต่ละระดับแตกต่างกันออกไป แบ่งตามความคุ้นเคยและจำนวนครั้งในการมีเซ็กซ์ อ่านได้ที่ รายงานพิเศษ "ความสัมพันธ์ชั่วคราว ด้านมืดคนยุคโซเชียล มองหาฟีลแฟน แต่ไม่เน้นผูกมัด"
...
เป็นการสะท้อนอีกมุมของสังคม ที่คนใช้สื่อสังคมออนไลน์ตามหาความสัมพันธ์กับใครสักคนโดยที่ไม่จำเป็นต้องมีเงื่อนไขต่อกันมากมาย แต่ให้ความรู้สึกเหมือนคนรัก นัดเจอ กินข้าว ดูหนัง เป็นเพื่อนคุย เพื่อนแก้เหงา ถึงขั้นมีเพศสัมพันธ์กันได้ และบางคู่ก็สามารถพัฒนาความสัมพันธ์ไปสู่การเป็นคนรักกันในอนาคต แม้บางคู่จะคบหากันเพียงเพราะความสบายใจ แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่าความสัมพันธ์รูปแบบนี้ก็ถูกมองเป็นมุมมืดที่คนในสังคมมองว่าเป็นแค่การหาคู่ร่วมเตียง เพื่อสนองกามตัณหาเท่านั้น
ความสัมพันธ์ชั่วคราวที่ไม่ต้องการผูกมัดในไทย มีการศึกษาเรื่องนี้จริงจังแค่ไหน “คุณถิรวัฒน์ วรรณพฤกษ์” นักวิจัยจากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งค้นคว้าข้อมูลในเรื่องนี้ ได้อธิบายว่า ความสัมพันธ์ในรูปแบบไม่ผูกมัด ถูกพูดถึงมาตั้งแต่ในอดีต ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นในยุคสมัยปัจจุบัน หากดูข้อมูลย้อนกลับไป พบว่าในสังคมยุโรป หรืออเมริกา มีการพูดถึงเรื่องความสัมพันธ์แบบไม่เป็นทางการ ตั้งแต่ช่วงปี ค.ศ.1968-1970 ความสัมพันธ์และประสบการณ์ทางเพศลักษณะ casual sexual relationship เรื่องเพศที่นอกเหนือจากความรักโรแมนติก ซึ่งจะเป็นการหาความสัมพันธ์แบบไม่ผูกมัด นิยามก็จะแตกต่างไปตามบริบททางสังคม แต่หลักๆ แล้วจะไม่นำความรักมาผูกพันธ์กับการตั้งสถานะของกันและกัน
ขณะที่ในสังคมไทยยังไม่มีการศึกษาวิจัยเรื่องความสัมพันธ์รูปแบบไม่ผูกมัดอย่างจริงจัง เพราะอาจมีข้อศีลธรรมที่ทำให้ในไทยเรื่องนี้อาจจะไม่ค่อยถูกพูดถึง รวมทั้งเรื่องของจริยธรรมในการวิจัยเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ทำให้การศึกษาเรื่องนี้ในไทยมีค่อนข้างน้อย แต่เมื่อมีสื่อที่เปิดกว้างมากขึ้น คนที่มีความต้องการความสัมพันธ์รูปแบบไม่ผูกมัด ก็เลือกที่จะสื่อสารความต้องการของตัวเองกับคนที่มีรสนิยมเหมือนกันมากขึ้น ซึ่งแท้จริงแล้วพบว่ารูปแบบของความสัมพันธ์ที่ไม่ผูกมัดในสังคมไทยมีมานานแล้ว และเป็นเรื่องปกติ เช่น พฤติกรรมการหาความสัมพันธ์จากการซื้อบริการ การจ้างเด็กเอนฯ มาให้บริการ เมื่อมีสื่อออนไลน์และอินเทอร์เน็ต เรื่องเหล่านี้ก็เริ่มมีการเผยแพร่มากขึ้นตามช่องทางต่างๆ
กรอบสังคมยังมองว่า ความรักและเซ็กซ์เป็นเรื่องที่ผูกโยงกัน แต่ความสัมพันธ์แบบไม่เป็นทางการ ไม่ผูกมัด จะทลายกำแพงเรื่องนี้ไป หากเป็นความรักแบบเป็นทางการปกติทั่วไป จะมีความคาดหวังเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย มีการวางแผน มีการวางอนาคต แต่ความสัมพันธ์แบบไม่ผูกมัดก็ไม่ได้มีการนำเอาสิ่งเหล่านี้เข้ามาเกี่ยวข้องโดยสิ้นเชิง เป็นเรื่องที่ค่อนข้างซับซ้อน และเป็นเรื่องของความพึงพอใจของแต่ละคนมากกว่า
ความสัมพันธ์ไม่ผูกมัด จริงๆ แล้วไม่ต่างไปจากอดีต เพียงแต่สื่อที่เป็นตัวกลางในการเชื่อมให้คนเข้าถึงความสัมพันธ์ในลักษณะนี้ได้ง่ายขึ้น เมื่อก่อนคนอาจไม่รู้จักว่าความสัมพันธ์รูปแบบนี้คืออะไร และเกิดขึ้นได้อย่างไร จนมีการศึกษามากขึ้นจนเป็นโมเดลความสัมพันธ์ นำไปสู่การเชื่อมความสัมพันธ์กับสถานะในรูปแบบต่างๆ
...
เมื่อถามว่า อะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้คนกล้าออกมาหาความสัมพันธ์แบบไม่ผูกมัดในสื่อโซเชียลมากขึ้น? "คุณถิรวัฒน์" ระบุว่า เป็นเรื่องของการตัดสินใจและความพึงพอใจที่จะค้นหาความสัมพันธ์ ทั้งการประกาศตามหาคนที่ต้องการความสัมพันธ์แบบเดียวกัน การเข้ากลุ่มลับ เลือกจะเข้าไปเป็นหนึ่งในวงจรนั้น เป็นปกติของการตัดสินใจขั้นพื้นฐานของมนุษย์ที่จะเลือกตามความต้องการของตัวเอง ซึ่งคนที่มองหาความสัมพันธ์แบบไม่ผูกมัด จะเลือกรูปแบบความสัมพันธ์ของตัวเองจากประสบการณ์ที่ได้เจอ เช่น มีเพศสัมพันธ์แล้วถูกใจ ก็พัฒนาความสัมพันธ์ไปตามขั้น ขณะเดียวกันสำหรับบางคนอาจจะมีรสนิยมส่วนตัว และเอาตัวเข้าไปอยู่ในสังคมที่มีสิ่งที่ตนเองต้องการ มีความพอใจ แล้วก็เลือกปฏิบัติตามนั้น เป็นรสนิยมตามกลุ่ม หรือรูปแบบความสัมพันธ์ที่เลือก
คนที่เลือกความสัมพันธ์แบบไม่ผูกมัดก็อาจจะเป็นคนที่ไม่ได้สนใจกระแสสังคมมากนัก อาจจะมีการวิเคราะห์ตัวเอง ประเมินคุณค่าตัวเอง บางคนอาจมองว่าการมีความสัมพันธ์ชั่วคราว เป็นความภาคภูมิใจ เช่น มีเพศสัมพันธ์กับคนหน้าตาดี เป็นทางเลือกที่เขาพึงพอใจกับตัวเอง แต่หากตีกรอบในบริบทของสังคมไทย ก็อาจเป็นการลดทอนคุณค่าของตัวเอง
เส้นบางๆ ระหว่างความสัมพันธ์กับการทำผิดกฎหมาย
คนสองคนอาจเริ่มต้นกันด้วยความสัมพันธ์แบบไม่ผูกมัดทั่วไป แต่เมื่อพัฒนาความสัมพันธ์ต่อจนอยากจะร่วมกันหาผลประโยชน์จากความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้น บางคู่ก็สามารถพัฒนาความสัมพันธ์แบบไม่ผูกมัดไปสู่ความสัมพันธ์แบบโรแมนติก มีการวางแผนอนาคตร่วมกัน กลายเป็นความสัมพันธ์รูปแบบปกติ กลายเป็นคู่รักในชีวิตจริง
อีกมุมหนึ่งก็อาจเป็นพฤติกรรมเพื่อประโยชน์ตัวเอง เป็นการขับเคลื่อนตามระบบทุนนิยม ที่บางคู่มองว่าความสัมพันธ์แบบไม่ผูกมัดเป็นกลไกของเศรษฐกิจอย่างหนึ่งเพื่อสร้างรายได้ หากคู่ไหนเห็นประโยชน์ร่วมกัน ตัวเขากลายเป็นสินค้าและบริการ เช่น การขายบริการทางเพศ การถ่ายคลิปลงกลุ่มลับเพื่อเก็บเงินค่าเข้าชม ซึ่งมีสิ่งที่ต้องระวังอันตรายหากทั้งคู่เลือกที่จะพัฒนาไปในทางนั้น การมีส่วนร่วมทางเพศ ผู้ชายไม่ค่อยคิดอะไรกับความสัมพันธ์ แต่ฝ่ายหญิงมักจะมีความผูกพันธ์ขึ้นมาระหว่างความสัมพันธ์ แม้จะรู้สึกไม่สบายใจ เพราะกรอบทางวัฒนธรรมกดดันให้ฝ่ายหญิงไม่อยากเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องเพศ แต่เมื่อเข้าไปยุ่งเกี่ยวเพราะอาจจะผู้หญิงมีใจและยอมรับในความสัมพันธ์แบบไม่ผูกมัด แต่กลับถูกผู้ชายล่อลวงไป กลายเป็นปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศ
...
"คุณถิรวัฒน์" กล่าวทิ้งท้ายว่า คนยุคปัจจุบันมีแนวโน้มต้องการค้นหาความรักและความสัมพันธ์จากสื่อดิจิทัลมากขึ้น กลายเป็นสื่อกลางที่มีบทบาทสำคัญ ซึ่งจะเห็นได้จากที่มีการพัฒนาแอปพลิเคชันหาคู่เพิ่มขึ้น ตอบโจทย์คนที่ต้องการหาคู่ ทั้งคู่แท้ คู่นอน ในเชิงพฤติกรรม การมีชีวิตคู่ไม่ใช่สิ่งที่ทำให้มีความสุขเสมอไป คู่รักไม่จำเป็นต้องคบกันมีความสัมพันธ์แบบทางการ มีแฟน แต่งงาน เสมอไป แต่จริงๆ แล้วพฤติกรรมมนุษย์เปลี่ยนแปลงไปตามบริบทของสังคม เพียงสื่อมีการขยายให้มันเปิดเผยออกมา ทำให้คนในยุคปัจจุบันหาความรักจากคนแปลกหน้าได้มากขึ้น ดิจิทัลเป็นปัจจัยหลัก ช่วยหนุนเสริมทำให้คนมาเจอกันง่ายขึ้น และขณะเดียวกันหากใช้หาความสัมพันธ์แบบไม่ระวัง ก็อาจทำให้เกิดปัญหาได้เช่นกัน.
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง