อะไรคือปัจจัยสำคัญที่ส่งให้ “ทีมชาติโมร็อกโก” ทีมจากทวีปแอฟริกาทีมแรกในประวัติศาสตร์ สามารถทะลุเข้าถึงรอบรองชนะเลิศฟุตบอลโลก จนกลายเป็น “แรงบันดาลใจ” ให้กับ บรรดาชาติเล็กๆในโลกของฟุตบอล เริ่มมีความหวังในการวางเป้าหมายให้มากกว่าการแค่ได้มีโอกาสมาสัมผัสกับประสบการณ์ฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายเพียงแค่สักครั้งหนึ่งในชีวิต วันนี้ “เรา” ค่อยๆไปร่วมกันไล่เรียงทีละประเด็น...

ราชอาณาจักรโมร็อกโก กับ ฟุตบอล :

ตั้งอยู่ทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือของทวีปแอฟริกาใต้ มีพื้นที่ 446,550 ตารางกิโลเมตร และมีจำนวนประชากรประมาณ 38 ล้านคน สำหรับฟุตบอลลีกอาชีพมี 2 ลีก คือ Botola Pro Inwi (ดิวิชั่น1) มีจำนวนนักเตะที่ลงทะเบียนรวม 409 คน จากทั้งหมด 16 สโมสร และ Botola Pro (ดิวิชั่น2) มีจำนวนนักเตะที่ลงทะเบียนรวม 247 คน จากทั้งหมด 16 สโมสร (อ้างอิงจากข้อมูล footballdatabase)

“วาลิด เรกรากุย”  กุนซือหนุ่มที่ใช้เวลาเตรียมทีมเพียงไม่ถึง 100 วัน ก่อนส่งให้โมร็อกโกกลายเป็นม้ามืดฟุตบอลโลก 2022
“วาลิด เรกรากุย” กุนซือหนุ่มที่ใช้เวลาเตรียมทีมเพียงไม่ถึง 100 วัน ก่อนส่งให้โมร็อกโกกลายเป็นม้ามืดฟุตบอลโลก 2022

...

ปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่ความสำเร็จในฟุตบอลโลก 2022 :

1. ผู้จัดการทีม : วาลิด เรกรากุย (Walid Regragui) ปัจจุบัน อายุ 47ปี

ด้านหนึ่งชายผู้นี้ถูกขนานนามในบ้านเกิดว่าเป็น “โชเซ มูรินโญ” เวอร์ชันโมร็อกโก เนื่องจากอดีตกองหลังทีมชาติ Atlas Lion ผู้นี้มีความเข้มงวดในเรื่องของแท็กติกการเล่น และทักษะในเรื่องการบริหารคนที่ยอดเยี่ยมในแบบฉบับเดียวกับ “The special one”

อย่างไรก็ดีในอีกด้านหนึ่ง กุนซือหนุ่มซึ่งเกิดในฝรั่งเศสแต่เลือกเล่นให้กับทีมชาติโมร็อกโกผู้นี้ ได้ถูกยกย่องให้เป็น “เป๊ป กวาร์ดิโอลา” แห่งโมร็อกโก ด้วยเช่นกัน จากการที่มีบุคลิกในการคุมทีมคล้ายกับผู้จัดการทีมแมนเชสเตอร์ ซิตี้ อีกทั้งยังเพิ่งสามารถพาสโมสร Wydad Casablanca ซึ่งเป็นทีมชั้นนำของโมร็อกโก กวาดทั้งแชมป์ลีก และแชมป์ CAF Champions League หรือ แชมเปียนส์ลีกของทวีปแอฟริกาได้สำเร็จเมื่อฤดูกาลที่ผ่านมา

วาลิด เรกรากุย ทำอะไรกับทีมชาติโมร็อกโก :

“วาลิด เรกรากุย” มีเวลาสำหรับการเตรียมทีมเพื่อมาเล่นฟุตบอลโลกครั้งนี้เพียงไม่ถึง 100 วัน โดยเขาถูกแต่งตั้งให้มาทำหน้าที่แทน “วาฮิด ฮาลิลฮ็อดซิช” กุนซือชาวบอสเนียที่พาทีมชาติโมร็อกโกมาเล่นฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายที่ประเทศกาตาร์ได้สำเร็จ ก่อนหน้าที่ฟุตบอลโลก 2022 จะเริ่มต้นขึ้นเพียง 3 เดือนเท่านั้น โดยสมาคมฟุตบอลโมร็อกโกให้เหตุผลถึงการ “ปลดฟ้าผ่า” ในครั้งนั้นเพียงว่า “มีความคิดเห็นที่ไม่ตรงกัน”

ครอบครัว ผมรักแม่ และ DNA ความเป็นโมร็อกโก :

ภายใต้ระยะเวลาที่จำกัดในการเตรียมทีม โจทย์แรกที่แสนท้าทายสำหรับกุนซือหนุ่ม คือ จะผสมผสานนักเตะทั้ง 26 คน ที่ในจำนวนนี้มากถึง 14 คน เกิดนอกประเทศโมร็อกโก ใน 6 ประเทศ (นักเตะที่เกิดในประเทศ 12 คน , แคนาดา 1 คน , เนเธอร์แลนด์ 4 คน , เบลเยี่ยม 4 คน , ฝรั่งเศส 2 คน , อิตาลี 1 คน , สเปน 2 คน) ให้สามารถร่วมกันเล่นเป็นทีมได้อย่างไร้รอยต่อ!

...

ซึ่งวิธีการที่กุนซือหนุ่มวัย 47 ปี ผู้นี้นำมาใช้ในการผสมผสานความแตกต่างนี้ ก็คือ การอนุญาตให้ครอบครัวของนักฟุตบอลทีมชาติทุกคนสามารถร่วมเดินทางมาพร้อมกับทีมได้ เนื่องจาก “วาลิด เรกรากุย” หยั่งถึงความคิดของนักเตะทุกคนได้ว่า การมาเข้าร่วมการแข่งขันทัวร์นาเม้นต์ที่เต็มไปด้วยความกดดันจากการต้องแบกความหวังของคนทั้งชาติ รวมถึงต้องห่างไกลจากคนในครอบครัว ย่อมทำให้นักเตะเกิดภาวะความเครียดทางอารมณ์ ฉะนั้นการมีคนในครอบครัวมาคอยให้กำลังใจใกล้ๆ ย่อมทำให้ เกิดความผ่อนคลายทางอารมณ์ได้มากขึ้น

ขณะเดียวกัน การให้ครอบครัวของนักเตะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของทีม ตามแนวคิดของ “วาลิด เรกรากุย” นั้นยัง “สอดคล้อง” กับ วัฒนธรรมมุสลิม และ DNA ความเป็นคนโมร็อกด้วย นั่นเป็นเพราะสายใยความผูกพันธ์ของคนในครอบครัว โดยเฉพาะการแสดงความเคารพต่อมารดา ได้กลายเป็นพลังอันยิ่งใหญ่ในการผลักดันให้นักเตะ Atlas Lion วิ่งและสู้อย่างชนิดลืมตายเพื่อประเทศชาติและครอบครัวในฟุตบอลโลกครั้งนี้

“อาชราฟ ฮาคีมี” ผู้ปฏิเสธทีมชาติสเปน เพราะความรักที่มีต่อแม่และประเทศโมร็อกโก
“อาชราฟ ฮาคีมี” ผู้ปฏิเสธทีมชาติสเปน เพราะความรักที่มีต่อแม่และประเทศโมร็อกโก

...

โดยสิ่งนี้ยืนยันได้จากการบอกเล่าของ “อาชราฟ ฮาคีมี” ขุนพลคนสำคัญของทีมชาติโมร็อกโกชุดนี้ ซึ่งปฏิเสธการเล่นให้กับทีมชาติสเปน ทั้งๆที่เคยมีโอกาสได้เข้าร่วมการฝึกซ้อมกับนักเตะเยาวชนทีมชาติสเปนแล้ว ด้วยเหตุผลที่ว่า...

“ผมรู้สึกว่าตัวเองอยู่ในที่ที่มันไม่ใช่ ผมไม่รู้สึกเหมือนอยู่ที่บ้าน ซึ่งมีวัฒนธรรมอาหรับและความเป็นโมร็อกโก ผมปราถนาที่จะอยู่ที่นี่ (ประเทศโมร็อกโก) มากกว่า ผมสู้ทุกวันเพื่อครอบครัว เพราะพวกเขาเสียสละตัวเองเพื่อผมมายาวนาน”

และอาจจะเป็นเพราะเหตุนี้ เราจึงได้เห็นภาพการแสดงความรักอันแสนอบอุ่นในระหว่างการเฉลิมฉลองชัยชนะของ “อาชราฟ ฮาคีมี” กับ “คุณแม่” หรือ การเต้นรำร่วมกับคุณแม่อย่างมีความสุขกลางสนาม ของ “โซฟิยาน บูฟาล” อีกหนึ่งแนวรุกคนสำคัญของทีม และไม่เพียงเท่านั้น “วาลิด เรกรากุย” ก็ยังก็ยังไปแสดงความรักต่อ “คุณแม่” ของเขาที่มานั่งเชียร์ที่อัฒจรรย์ด้วยเช่นกัน!

“โซฟิยาน บูฟาล” และ การเต้นรำกับ คุณแม่ ที่กลายเป็นไวรัลในฟุตบอลโลก 2022
“โซฟิยาน บูฟาล” และ การเต้นรำกับ คุณแม่ ที่กลายเป็นไวรัลในฟุตบอลโลก 2022

...

นอกจากจะเข้าใจในวัฒนธรรมความเป็นอาหรับในฐานะคนพื้นถิ่นแล้ว ความสามารถในสื่อสารของ “กุนซือหนุ่ม” ยังกลายเป็นอีกหนึ่ง “เครื่องมือพิเศษ” ที่ช่วยให้เขาสามารถสื่อสารกับลูกทีมทุกคนได้อย่างเข้าใจและเข้าถึงมากขึ้นด้วย เพราะ “วาลิด เรกรากุย” สามารถพูดได้ถึง 4 ภาษา คือ นอกจาก ภาษา Darija หรือ ภาษาอาหรับที่ใช้ในประเทศโมร็อกโก แล้ว เขายังพูดภาษาอังกฤษ , ฝรั่งเศส , สเปน ได้อีกด้วย ด้วยเหตุนี้จึงแทบไม่มีปัญหาในการผสมผสานความแตกต่างภายในทีมได้อย่างกลมกล่อมและลงตัวในที่สุด

เครือข่ายแมวมองและการพัฒนาเยาวชน อันแข็งแกร่ง :

ด้วยทรัพยากรบุคคลด้านฟุตบอลที่มีอยู่อย่างจำกัด “โมร็อกโก” จึงได้จัดตั้งระบบแมวมองขึ้นในหลายๆประเทศที่มีชุมชนชาวโมร็อกโกผลัดถิ่นอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในยุโรปตอนกลางและตอนใต้ (เนเธอร์แลนด์ , เยอรมนี , ฝรั่งเศส , สเปน , และประเทศแถบสแกนดิเนเวีย) เพื่อเฟ้นหา “Wonder Kids” ที่มีเชื้อสายโมร็อกโก เพื่อเชิญตัวมาเข้าร่วมการฝึกซ้อมที่ "Mohammed VI Academy" สถาบันลูกหนังในพระบรมราชานุเคราะห์ ของ สมเด็จพระราชาธิบดีโมฮัมเหม็ดที่ 6 ตั้งแต่นักเตะเหล่านั้นยังไม่ “จรัสแสง” มากนัก เพื่อซื้อใจเหล่าอัจฉริยะรุ่นเยาว์ ที่ถือ 2 สัญชาติเหล่านี้ตัดสินใจ “เลือก” ที่จะเล่นให้กับทีมชาติโมร็อกโก มากกว่า ประเทศที่พวกเขาเติบโตขึ้นมา ซึ่งนักเตะที่เคยผ่าน Mohammed VI Academy จนโดดเด่นขึ้นมาจรัสแสงในฟุตบอลโลก 2022 ก็มีทั้ง “อัซเซดีน โอนาฮี” Holding Midfield ที่ใครหลายคนประทับใจในฟอร์มการเล่นอันดุดัน ซึ่งปัจจุบันค้าแข้งอยู่กับ สโมสรอองเชร์ ในลีกเอิง รวมถึง “ยุสเซฟ อ็อง เนซีรี” กองหน้าผู้ทำประตูดับฝันของ โรนัลโด CR7 ด้วย

“ยุสเซฟ อ็อง เนซีรี” นักเตะที่ผ่าน  Mohammed VI Academy และเป็นผู้ยิงประตูดับฝันโรนัลโด CR7
“ยุสเซฟ อ็อง เนซีรี” นักเตะที่ผ่าน Mohammed VI Academy และเป็นผู้ยิงประตูดับฝันโรนัลโด CR7

โดยนอกจากทีมงานแมวมองของโมร็อกโกจะมีการเชิญ “อัจฉริยะลูกหนังรุ่นเยาว์” ที่ถือสองสัญชาติอย่างน้อย 20 คน และ “Wonder Kids” ที่ดีที่สุดในประเทศโมร็อกโกอย่างน้อย 30 คน ที่มีอายุระหว่าง 13-18 ปี มาร่วมกันฝึกซ้อมที่ Mohammed VI Academy ซึ่งเต็มไปด้วยโครงสร้างพื้นทางด้านกีฬาอันทันสมัยระดับโลกพร้อมกับให้ทุนการศึกษาในทุกๆปี เพื่อส่งต่อทรัพยากรอันมีค่าเหล่านั้นให้กับทีมชาติ Atlas Lion อย่างต่อเนื่องแล้ว ยังมีการส่งแข้งเยาวชนที่รอการเจียระไนเหล่านี้ ออกไปฝึกซ้อมกับทีมในลีกสมัครเล่นภายในประเทศ รวมถึง ลงแข่งในทัวร์นาเมนต์ระดับเยาวชนทั่วทวีปยุโรปอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งนอกจากจะได้ผลดีในแง่ของการขัดเกลาฝีเท้าให้เก่งมากขึ้นแล้ว ยังถือเป็นใบเบิกทางสำคัญที่ช่วยให้ “อัจฉริยะรุ่นเยาว์” เหล่านี้ ฉายแสงเตะตาบรรดาแมวมองและสโมสรใหญ่ๆ จนสามารถไปค้าแข้งในลีกสำคัญๆของยุโรปได้ง่ายขึ้นด้วย

“อัซเซดีน โอนาฮี” อีกหนึ่งความภาคภูมิใจของ Mohammed VI Academy ที่กลายเป็นดาวจรัสแสงในฟุตบอลโลก 2022
“อัซเซดีน โอนาฮี” อีกหนึ่งความภาคภูมิใจของ Mohammed VI Academy ที่กลายเป็นดาวจรัสแสงในฟุตบอลโลก 2022

ทำให้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ บรรดานักเตะเยาวชนฝีเท้าดีของโมร็อกโกหลายต่อหลายคนได้ปรับทัศนคติเรื่องอาชีพการค้าแข้งเสียใหม่ โดยเลือกที่จะออกไปเผชิญหน้ากับความท้าทายในโลกฟุตบอลโลกที่ใหญ่มากขึ้นในยุโรป แทนที่จะคิดเพียงออกไปค้าแข้งในลีกของโลกอาหรับที่แม้จะได้เงินถุงเงินถังแต่การพัฒนาฝีเท้าอาจขาดช่วงไปอย่างน่าเสียดาย

และเพื่อเป็นการต่อยอดการพัฒนาไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง ในปี 2019 โมร็อกโก เพิ่งมีการเปิดตัว Mohammed VI Football Complex ศูนย์ฝึกกีฬาระดับโลก มูลค่ามากกว่า 70 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยภายในพื้นที่มากกว่า 300,000 ตารางเมตร ประกอบไปด้วย โรงแรมระดับ 5 ดาว 1 แห่ง , โรงแรมระดับ 3 ดาว 2 แห่ง , หอพักนักกีฬา , สนามฟุตบอลมาตรฐานฟีฟ่า 8 สนาม โดยหนึ่งในจำนวนนั้น เป็นสนามในอาคารที่สามารถควบคุมสภาพอากาศได้ , อุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกทางด้านกีฬาที่ทันสมัย หรือแม้กระทั่ง สถานพยาบาลที่มีเครื่องไม้เครื่องมืออันทันสมัยคอยอำนวยความสะดวกอย่างครบครันอีกด้วย!

ซึ่งกระบวนการทั้งหมดที่เกิดขึ้นดังที่ร่ายยาวไปนี้ เป็นไปตามแผนการพัฒนาวงการฟุตบอลของโมร็อกโกอย่างเป็นระบบของ The Royal Moroccan Football Federation (FMRF) ในพระบรมราชานุเคราะห์ ของ สมเด็จพระราชาธิบดีโมฮัมเหม็ดที่ 6 ซึ่งเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2009 โดยมีการทุ่มงบประมาณจำนวนมากในการพัฒนาวงการฟุตบอลตั้งแต่ระดับโรงเรียน โครงสร้างลีกระดับอาชีพ และการพัฒนาทีมชาติ ที่คลอบคลุมทั้งฟุตบอลหญิงและฟุตบอลชายให้มีเติบโตขึ้นอย่างเป็นระบบ จนกระทั่งทุกอย่างมาผลิดอกออกผลในฟุตบอลโลก 2022 ในที่สุด!

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :