• จากรายงานจากการโกงข้อสอบคัดเลือก นักเรียนนายสิบตำรวจ บช.ภ.9 รุ่น 2 คิดค่าหัวตั้งแต่ 5 แสนถึง 1 ล้านบาท
  • พบผู้เข้าสอบสารภาพว่าทุจริตข้อสอบแล้วจำนวน 35 คน
  • พบเงินหมุนเวียน 33 ล้านบาท ถูกยักย้ายถ่ายเทโยงใย ร้อยตำรวจหญิงคนหนึ่งและเครือญาติ
  • พบขบวนการโกงสอบบรรจุเข้าเป็นข้าราชการตำรวจสายอำนวยการทั่วประเทศ 720 คน เบื้องต้น พบมีผู้โกงข้อสอบเกือบ 300 คน

ข้างต้น คือ ข้อมูลจากรายงานข่าว กรณี การทุจริตการสอบ นายสิบตำรวจ และสาเหตุเรื่องแดงออกมา เพราะ มีบุคคลไปร้องเรียน ที่กองบัญชาการศึกษา (บช.ศ.) ถึงความไม่ชอบมาพากล ในการสอบคัดเลือกบุคคลภายนอกเข้าเป็นนักเรียนนายสิบตำรวจ บช.ภ.9 รุ่น 2 เมื่อวันที่ 27 พ.ย. ที่ผ่านมา...

ในปี 2565 ถือเป็นปีฉาวสะเทือนวงการสีกากี ก็ว่าได้ เพราะมีหลายเหตุ หลายเคส เกิดขึ้นแล้วสะเทือนไปถึงภาพลักษณ์ของตำรวจ และเคสล่าสุดนี้ก็ถือว่า ได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน เพราะ “ข้อสอบ” ที่ใช้คัดเลือกคน ดันรั่วออกมา...

“ประเด็นของเรื่องนี้ คือ ต้องชี้แจงให้ชัดเจนว่า “ข้อสอบรั่ว” ในขั้นตอนใด ใคร...ต้องรับผิดชอบ โดยเฉพาะ ผู้บัญชาที่รับผิดชอบเรื่องการจัดสอบ ที่กล่าวถึง ไม่ได้บอกว่าเขาทุจริต เพียงแต่สิ่งที่เกิดขึ้น คือ การบริหารงานบกพร่องหรือไม่ ถ้าบริหารแล้วผิดพลาดแบบนี้ควรดำเนินการอย่างไรต่อ”

นี่คือคำถามตั้งต้นของ พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร เลขาธิการสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (สป.ยธ.) ที่เริ่มเอ่ยถึงปัญหา “โกงข้อสอบนายสิบ” กับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์

...

พ.ต.อ.วิรุตม์ มองว่า การโกงไม่ว่ารูปแบบใด ก็เกิดขึ้นได้สารพัดในหลายองค์กรของเมืองไทย รวมไปถึงองค์กรตำรวจ ซึ่งการโกง ก็มีทั้งแบบสอบเข้า หรือ แม้แต่ไม่ต้องสอบเลยก็มี... อาทิ การบรรจุภายใน ลูกผู้หลักผู้ใหญ่ในองค์กร ลูกนักการเมือง ซึ่งตรงนี้ถือว่าโกง โดยอาศัยระเบียบต่างๆ

หากจะย้อนไปดูตั้งแต่อดีต ก่อนสมัย 2475 การเข้ามาเป็นข้าราชการตำรวจ ถือเป็นเรื่องของผู้มีอำนาจ ซึ่งสมัยนั้น เขาอยากให้ใครมาทำอะไร ก็สามารถทำได้ทั้งสิ้น...

ภายหลังสมัย 2475 การปกครองระบบประชาธิปไตยเกิดขึ้น ได้มีการตราตัวบทกฎหมายใหม่ และระบบอุปถัมภ์ อำนาจบันดาลได้ทุกอย่างลดน้อยลง เพราะมีกฎระเบียบเข้ามา แต่ก็ยังมีการ “ฝากคนเข้ารับราชการ” ก็ยังมีอยู่ โดยเฉพาะคนที่มีตำแหน่งสูง

ต่อมา มีการกำหนดข้าราชการพลเรือนว่า “ทุกตำแหน่ง” ต้องมีการสอบแข่งขัน ซึ่งเมื่อก่อน ตำรวจก็ใช้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ รวมถึง พ.ร.บ.ตำรวจ ดังนั้น ตำรวจทุกตำแหน่งจึงต้องผ่านการสอบ ยกเว้น “คุณวุฒิขาดแคลน” เช่น ในกลุ่มทางการแพทย์

รู้ข้อสอบล่วงหน้า = โกง? “ข้อสอบรั่ว” อาจเกิดได้หลายทาง...

พ.ต.อ.วิรุตม์ กล่าวให้ความเห็นว่า ที่ผ่านมา องค์กรตำรวจ เจอปัญหาทุจริตและประพฤติมิชอบ การรับส่วย สินบน บ่อยครั้ง จนทำให้คนในองค์กรบางคน อาจไม่คิดอยู่ในกฎ และกติกา

“การโกงที่ทำกันมาตลอด คือ “การรู้ข้อสอบล่วงหน้า” ส่วนคนที่ทำได้ ก็ต้องไล่ไปที่ต้นทาง คือ “คนที่ออกข้อสอบ” ซึ่งเมื่อก่อนเคยมีปัญหาลักษณะนี้ด้วยการเอาข้อสอบไปบอกคนนั้นคนนี้ แต่ต่อมา เขาจึงมีวิธีการแก้ปัญหา ด้วยการเก็บตัวคนออกข้อสอบ แต่...ช่องทางของ “ข้อสอบรั่วไหล” นั้นก็มีได้หลายทาง อาทิ การพิมพ์ การผ่านมือเจ้าหน้าที่บางคน”

พ.ต.อ.วิรุตม์ บอกว่า ในฐานะ คนออกข้อสอบ ก็พอที่จะรู้ขั้นตอนเหล่านี้บ้าง คือ จะมีคณะกรรมการออกข้อสอบ ซึ่งอาจจะมีการจับสลากกัน และการออกข้อสอบ ต่างคนต่างไม่รู้ของกันและกัน ส่วนตัวคณะกรรมการก็ไม่สามารถออกไปไหนได้ จนกว่าการสอบจะแล้วเสร็จ

“ประเด็นของเรื่องนี้คือ คนมาสอบ “รู้ข้อสอบล่วงหน้าแน่นอน” เพราะฝ่ายราชการมีการลงโทษ ให้ออกแล้ว ซึ่งถือเป็นขบวนการ แต่การสอบได้ ก็ไม่ได้แปลว่าจะได้ทำงาน ยังมีขั้นตอนอื่นๆ อีก เช่นการสอบสัมภาษณ์”

...

การลงทุนคุ้มค่า? ทุ่มเงินแสน ได้เงินเดือน 10,760 บาท

สำหรับ ราคาข้อสอบตามข่าว 5 แสน ถึง 1 ล้านบาท พ.ต.อ.วิรุตม์ ระบุว่า ส่วนตัวเชื่อว่า ราคาไม่ถึงหลักล้าน 3-5 แสนก็ถือเป็นการลงทุนที่สูง

“หากมีการลงทุนไปเป็นล้าน มองว่าอาจจะไม่คุ้ม เพราะไม่มีหลักประกันที่ว่าจะสอบได้...? ประเด็นสำคัญของเรื่องนี้ ไม่ใช่ราคาข้อสอบที่หลุดรั่วออกมา จะมีราคาเท่าไร แต่คำถามคือ ทำไม องค์กรอื่นเขาไม่มีปัญหาแบบองค์กรตำรวจ”

พ.ต.อ.วิรุตม์ กล่าวว่า ในมุมส่วนตัว ก็อยากให้ ก.พ. เข้ามาช่วยดูแลเรื่องการสอบเข้าตำรวจ ซึ่งในความจริง ก็ไม่ได้อยากโยนให้ ก.พ. รับผิดชอบ แต่...เมื่อทำแล้วมีปัญหา ก็ควรให้หน่วยงานอื่นเข้ามาช่วยดีกว่าไหม.. เพราะเรื่องแบบนี้เกิดซ้ำมาแล้วกี่หน?

เมื่อถามว่า การลงทุน “หลักแสนถึงล้านบาท” เพื่อเป็น “นายสิบ” คุ้มค่า? พ.ต.อ.วิรุตม์ ตอบทันทีว่า “คุ้มสิ ถ้าไม่คุ้มจะซื้อไหม”

เลขาธิการ สป.ยธ. อธิบายว่า “ความคุ้มค่า ในที่นี้ ไม่ได้คิดว่าเข้าไปเป็นนายสิบ แล้วได้เงินเดือนหมื่นต้น เพราะความคุ้มค่า ของการเป็นนายสิบตำรวจ หมายถึง สิทธิพิเศษต่างๆ ที่จะได้ คือ สามารถพกปืนได้ บางครั้งพกปืนผิดกฎหมาย ก็ไม่มีใครรู้ ไม่มีใครจับ บางครั้งก็ขับรถผิดระเบียบจราจร คำถามคือ จะจับกันเองไหม”

**จากการตรวจสอบข้อมูล http://www.policeadmission.org พบว่า การรับสมัครนายสิบตำรวจครั้งนี้ จะมีเงินเดือน ใน ระดับ ป.1 ขั้น 6.5 จำนวน 10,760 บาท หลังการฝึกอบรม 1 ปี 6 เดือน**

...

พ.ต.อ.วิรุตม์ กล่าวว่า ความจริง อาชีพ ราชการ ถือเป็นอาชีพที่มีค่าตอบแทนดีระดับหนึ่ง อย่ามองว่าการเป็นข้าราชการแล้วค่าตอบแทนต่ำ ซึ่ง ค่าตอบแทนในที่นี้ หมายถึง สวัสดิการต่างๆ ด้วย นอกจากนี้ ยังมี “ประโยชน์แอบแฝง” ต่างๆ เช่น เจ็บป่วย นอน รพ. เบิกค่ารักษาพยาบาลให้พ่อแม่ได้ ลากิจ ลาป่วย งานก็ไม่ได้หนักมาก

“ส่วนตัวมองว่า ตำรวจไม่ได้งานหนักอย่างที่คิดและสาเหตุที่คนแห่มาสมัครเป็นตำรวจ เพราะคิดว่า “ตำรวจ” ทำงานไม่หนัก ผมพูดได้ เพราะเคยเป็นตำรวจมานาน ยิ่งตำรวจระดับสูง งานจะไม่หนัก ตอนนั้นผมก็เป็นผู้กำกับโรงพัก และ รองผู้การฯ รวม 8 ปี เหมือนงานดับเพลิง หากไม่มีเหตุไฟไหม้ งานก็ไม่ได้หนัก อาชีพที่ทำงานหนักจริงๆ คือ อาชีพพยาบาล ต่างหาก เรียกว่าหนักกว่าตำรวจ 10 เท่า!”

พ.ต.อ.วิรุตม์ กล่าวว่า การสอบแข่งขัน บางคนไม่อยากจะโกง หรอก แต่เมื่อเห็นว่ามีบางคนซื้อก็จำเป็นต้องซื้อ ขณะที่การเอาผิดคนที่เกี่ยวข้อง จำเป็นต้องมีหลักฐาน หรือ เส้นทางการเงินที่ชัดเจน เรื่องนี้ก็ต้องระมัดระวัง หากไม่ชัดเจนก็หมิ่นเหม่ ว่าอาจจะถูกร้องเรียนภายหลังได้..

...


ส่วนการรับเงินหรือไม่ เป็นเรื่องพิสูจน์ยาก แต่เรื่องบกพร่องหรือไม่ พิสูจน์ไม่ยาก ฉะนั้น การลงโทษจริงจัง จึงเป็นเรื่องสำคัญ หากไม่มีการลงโทษจริงจัง ก็จะสะท้อนว่า เป็นสิ่งที่ไม่เข้มงวดแต่แรก... ใช่ว่า พอมีปัญหาก็ย้ายคนนั้น ฟันคนนี้ แล้วมันจะมีประโยชน์อย่างไร

“อย่าไปถามหาเลยว่า “เงินสินบน” นี้ไปถึงใคร...แต่ในข้อเท็จจริง เป็นที่รู้กัน ว่าเงินที่ได้ไป ตัวอย่าง ได้เงิน 50 ล้าน อาจจะถูกแบ่งออกมาก็ได้ ส่วนจะแบ่งเป็นรูปแบบใด จะมีใครรู้ หรือ ซื้อของขวัญราคาแพงให้”

“ระเบิดเวลา” นับแสน จบ ป.ตรี จำใจยื่นวุฒิ ม.6 เพื่อเข้าสอบ “นายสิบ”

ประเด็นปัญหาของตำรวจไทยในสายตา พ.ต.อ.วิรุตม์ มองว่า ส่วนหนึ่งมาจาก “ระบบชั้นยศ” เพราะคนที่มียศต่ำกว่า เห็นตำรวจมียศสูงกว่า ก็ไม่กล้าพูด

ประเด็นสำคัญคือ เวลานี้ คนที่มาสมัครสอบ “นายสิบตำรวจ” คือ คนที่จบปริญญาตรี ร้อยละ 80 แต่มารับเงินเดือนหมื่นต้นๆ ตามวุฒิ ม.6 ซึ่งเมื่อก่อน เคยได้ตามวุฒิ 1.5 หมื่น แต่ก็มีการร้องเรียนกันว่า จะได้ยศ “นายสิบ” ได้อย่างไร ในเมื่อเรียนจบ ป.ตรี มันควรจะเป็นยศ “นายร้อย” หลังจากนั้นมา ก็เลยมีการกำหนดใหม่ว่า จะรับแต่วุฒิ ม.6 เท่านั้น ส่วนใครจบ ป.ตรี มา ก็ไม่สามารถเรียกร้องอะไรได้

“แต่ความจริงที่เกิดขึ้น คือ “แรงกดดัน” ในการทำงานตามมา เพราะคนที่ จบ ป.ตรี หลายคน จบ “เนติ” มีความรู้ด้านกฎหมาย กว่าผู้บังคับบัญชากว่านายร้อยหลายคนด้วยซ้ำ จึงทำให้เกิดความไม่เชื่อฟัง เพราะเจ้านายบางคนก็สั่งอะไรโดยมิชอบ ซึ่งนี่คือ ปัญหาที่กำลังเป็น “ระเบิด” ลูกใหญ่ของ สตช. ซึ่งตำรวจที่ยิงตัวตายบางส่วนก็มีสาเหตุมาจากเรื่องนี้ เพราะเขาเข้ามาทำงาน 7 ปีแล้ว ก็ยังไม่ได้เป็นนายร้อยสักที”

เมื่อถามว่า เพราะอะไร “นายสิบ” ถึงรับวุฒิ ป.ตรี ไม่ได้ พ.ต.อ.วิรุตม์ กล่าวว่า เพราะจะทำให้เกิดปัญหาตามมา เพราะการรับสมัครนายร้อย ก็ใช้วุฒิ ป.ตรี แล้วทำไมให้ยศเขาเพียง “สิบตรี” เมื่อคุณวุฒิเดียวกัน จึงต้องเทียบเท่า ยศก็ต้องได้ ร.ต.ต.

“ปัญหาของ ตร. เวลานี้ เหมือนวัวพันหลัก ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีการปฏิรูปครั้งใหญ่ โดยเฉพาะการปกครอง และจัดลำดับชั้นยศ ความจริงทุกวันนี้ควรจะรับสมัครเฉพาะ “ปริญญาตรี” ทั้งหมด แต่ก็ทำไม่ได้ เพราะมันจะขัดรัฐธรรมนูญ และประเด็นนี้ เวลานี้ยังไม่มีทางออก ยกเว้นแต่เพียงว่า ให้ยกเลิกระบบโรงเรียนนายร้อย หรือ ทุกคนที่จะมาเป็นตำรวจ ควรจะเริ่มด้วย “สิบตรี” ทั้งหมด ส่วนใครอยากเลื่อนยศ ก็ต้องค่อยๆ สอบเลื่อนระดับไป เหมือนกับของฝรั่ง ที่เริ่มต้นจากนายสิบทั้งนั้น เรื่องนี้ก็ถือเป็นเรื่องดี ที่จะได้เรียนรู้พื้นฐานทุกอย่าง”

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน 

อ่านบทความน่าสนใจ