14 วัน ภารกิจช่วยลูกช้างพลัดหลงจากโขลง ในป่าลึกพื้นที่อุทยานแห่งชาติ เขื่อนศรีนครินทร์ จ.กาญจนบุรี ที่ชาวบ้านพบร่างลูกช้างไร้เรี่ยวแรง นอนร้องขอความช่วยเหลือ บนร่างกายพบบาดแผลทั่วตัว เมื่อเจ้าหน้าที่อุทยานฯ เข้าตรวจสอบได้แจ้งขอความช่วยเหลือด้วยเฮลิคอปเตอร์ มารักษายังเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงฉวาก จ.สุพรรณบุรี ด้วยภาวะแทรกซ้อนหลายชนิด รวมถึงลูกช้างไม่ได้รับนมแม่ จึงมีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำอยู่ในขั้นโคม่า
“เมื่อทีมแพทย์เข้าไปดูลูกช้างในป่าลึก แม้ร่างกายจะบาดเจ็บรุนแรง แต่น้องยังส่งเสียงร้องขอความช่วยเหลือ ถือเป็นสัญญาณชีพสำคัญ เพราะเมื่อใดที่ลูกช้างยังร้องได้ แสดงว่าประสาทสัมผัส สมองยังตอบสนองการสัมผัส ทีมแพทย์จึงขอความช่วยเหลือจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลำเลียงออกมารักษาข้างนอก” “นายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน” หัวหน้ากลุ่มงานสุขภาพสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช หรือ หมอล็อต ย้ำถึงจุดเริ่มต้นภารกิจ เมื่อวันที่ 29 พ.ย. 65
“นายสัตวแพทย์ภัทรพล” เล่าถึงการรักษากับ “ทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์” ว่า หลังพาลูกช้างออกมารักษาเริ่มเห็นบาดแผลบนร่างกายชัดเจนมากขึ้น สิ่งที่น่าห่วงคือภูมิคุ้มกันที่ต่ำ เนื่องจากเป็นลูกช้างที่คลอดได้ไม่นานแล้วพลัดหลงจากแม่ ทำให้ได้รับนมจากแม่ ที่ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันในร่างกายไม่เพียงพอ
...
“อาการป่วยช่วงแรกมีอาการขาดน้ำเป็นเวลานาน ทำให้ร่างกายซูบผอม ผิวหนังแห้งเหี่ยวจนเห็นกระดูกบริเวณขมับชัดเจน ส่วนบาดแผลบนผิวหนังบางส่วนเป็นแผลถลอก ฟกช้ำ โดยเฉพาะแผลติดเชื้อบริเวณสะดือ เนื่องจากลูกช้างเพิ่งคลอดทำให้รกสะดือยังไม่แห้ง เมื่อพลัดหลงจนบาดเจ็บ เลยเกิดการติดเชื้อหนัก”
สิ่งที่น่ากังวลเกิดจากกล้ามเนื้อเสื่อมสลายจากการถูกกระแทก จนเกิดการอักเสบทำให้สารเคมีในกล้ามเนื้อสลาย ทำให้สารบางอย่างปนเปื้อนในกระแสเลือดเกิดอาการไตวายตามมา ทั้งนี้จากการตรวจสอบบนร่างกายไม่พบบาดแผลจากสัตว์นักล่าทำร้าย คาดว่าลูกช้างพลัดหลงกับโขลงเนื่องจากภัยธรรมชาติ เช่น ขณะเดินข้ามแม่น้ำอาจถูกกระแสน้ำพัดพา หรือพลัดตกจากที่สูง จนเป็นรอยช้ำไปทั้งตัว
ขณะนี้พังธันวา ยังอยู่ในไอซียู โดยมีสัตวแพทย์ 2 คนผลัดเวรกันดูแลตลอด 24 ชั่วโมง และต้องมีเจ้าหน้าที่คอยช่วยเหลือเวรละ 5 คน เพื่อช่วยกันป้อนนม ทำแผล พาน้องไปเดินเพื่อไม่ให้ลำไส้เกิดภาวะบีบตัว ขณะเดียวกันต้องให้น้องคุ้นเคยกับทีมแพทย์ จะได้ไม่เกิดความเครียดระหว่างรักษา จนทำให้ภูมิคุ้มกันตกได้
ช่วง 2 วันที่ผ่านมา ค่าน้ำตาลในเลือดลูกช้างตกลงมาก ทำให้ไม่มีแรง อาการแทรกซ้อนต่างๆ มีหลายโรคที่พร้อมจะแสดงอาการ หากร่างกายลูกช้างอ่อนแอ ดังนั้นทีมแพทย์ต้องคอยเฝ้าระวังอยู่ตลอด ที่ผ่านมาจะเจอลูกช้างที่มีอาการบาดเจ็บทั่วทั้งตัวแบบนี้น้อย จึงต้องพยายามช่วยเหลืออย่างเต็มที่ เพื่อให้รอดชีวิต
“อยากให้ประชาชนที่เป็นห่วงส่งกำลังใจให้ลูกช้างและเจ้าหน้าที่ ที่ต้องทำงานตลอด 24 ชั่วโมง ถือเป็นการทำงานที่เหนื่อยมาก ทีมแพทย์ก็มีพลังบวก จากประชาชนทั่วไปที่ส่งกำลังใจ ซึ่งอาการของลูกช้างต่อจากนี้ อาจรอดหรือไม่รอด เป็นไปได้ทั้งสองทาง แต่พวกเรายังภาวนาให้น้องรอด ได้กลับคืนสู่ป่าอีกครั้ง”.