ในแวดวงการศึกษามีทั้งผู้เห็นด้วยและคัดค้าน จากการที่กระทรวงศึกษาธิการ เตรียมออกประกาศแยกวิชาพื้นฐานประวัติศาสตร์ ออกจากกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ตามนโยบายพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพราะต้องการให้นักเรียนได้ศึกษาประวัติศาสตร์ชาติไทย ให้เกิดความภาคภูมิใจ และปลูกฝังให้รักชาติมากขึ้น

ขณะที่ "ตรีนุช เทียนทอง" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ยืนยันการแยกวิชาประวัติศาสตร์ ไม่ได้เป็นการบังคับให้เด็กรักชาติ แต่เป็นการออกแบบโครงสร้างการเรียนใหม่ เพื่อให้วิชาประวัติศาสตร์มีความทันสมัยและน่าสนใจ เชื่อมอดีตสู่อนาคตในมิติเศรษฐกิจสังคมและหน้าที่พลเมือง ซึ่งไม่ได้เป็นการเพิ่มชั่วโมงเรียน และไม่ได้กระทบกับงบประมาณ

ล่าสุดที่ประชุมบอร์ดคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ กพฐ. เห็นชอบแยกวิชาประวัติศาสตร์ ออกมาเป็น 1 รายวิชาพื้นฐาน และขั้นตอนต่อจากนี้ทางสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ สพฐ. จะเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พิจารณาลงนามภายในสัปดาห์นี้

การแยกวิชาประวัติศาสตร์ออกมา “อัมพร พินะสา” เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ให้เหตุผลว่า อยากให้นักเรียนภาคภูมิใจในความเป็นชาติไทย และต้องการสร้างซอฟต์พาวเวอร์ จากวัฒนธรรมประเพณีไทย จะต้องเรียนรู้ตั้งแต่รากฐานความเป็นมา ให้สามารถนำไปปรับใช้ให้เข้ากับยุคสมัย

...

แยกประวัติศาสตร์ วิชาเดียว อาจมีประเด็นซ่อนเร้น

ในมุมมองของ "ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ" นักวิชาการด้านการศึกษา กลับเห็นต่างคิดว่าการแยกวิชาประวัติศาสตร์ออกมา เป็นการตัดสินใจที่เร็วไป ถือเป็นความผิดปกติทางการศึกษาที่อยู่ดีๆ แยกวิชาการประวัติศาสตร์ออกจาก 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ ทั้งๆ ที่หลักการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลง จะต้องมาจากหลายพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาการเด็ก ทั้งเรื่องทฤษฎี เหตุการณ์บ้านเมือง และสังคม

“อยู่ดีๆ ปรับแค่วิชาเดียวตามคำสั่งนายกฯ น่าจะมีประเด็นใดซ่อนเร้นหรือไม่ หรือมีความต้องการในเรื่องใดเป็นประเด็นหลัก ก็อยากถามถึงสาเหตุ หรือเห็นเด็กนักเรียนเคลื่อนไหวทางการเมือง อาจเป็นสาเหตุทำให้เห็นว่าเด็กไม่รักบ้านเมือง หรือบรรพชน ไม่น่านำมาเป็นประเด็นหลักแยกวิชาประวัติศาสตร์วิชาเดียว เพราะแทบทุกวิชาต้องปรับปรุงหมด อย่างภาษาอังกฤษ ตกต่ำมาก วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ก็ไม่ดี ไม่ใช่ปรับปรุงแค่อันเดียว หรือจะให้เด็กรักชาติ อย่างที่ทางราชการต้องการหรือเปล่า”

ประวัติศาสตร์ราชการ สร้างอคติเกลียดชังเพื่อนบ้าน

อีกทั้งวิชาประวัติศาสตร์ที่เรียนกันในปัจจุบัน เป็นประวัติศาสตร์ราชการ ไม่ใช่ประวัติศาสตร์ร่วมสมัย จะต้องชำระประวัติศาสตร์ให้ดีในเรื่องความถูกต้อง หากต้องการให้เด็กในยุคปัจจุบันเรียนประวัติศาสตร์ให้มากขึ้น โดยนำประวัติศาสตร์ร่วมสมัยมาบูรณาการ ก็จะทำให้วิชาประวัติศาสตร์มีทั้งความเก่าและความใหม่ จนเด็กมีความสนใจและเกิดการตั้งคำถาม จากการนำข้อมูล 2 ฝั่งมาให้ศึกษา นำมาสู่การวิเคราะห์และนำมาสรุปได้

ส่วนครูผู้สอนวิชาประวัติศาสตร์ ไม่ควรใช้วิธีให้เด็กท่องจำ หรือปลูกฝังข้อมูลไม่เหมาะสม เน้นการรักชาติจนเกินไป สร้างอคติและความเกลียดกับประเทศเพื่อน จนมีอคติกับเมียนมา และกัมพูชาว่าเป็นประเทศไม่น่าไว้ใจ หรือลาว ไม่ทันสมัย ทั้งๆ ที่เราควรต้องอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ไม่ให้มีอคติต่อกัน จะต้องปรับปรุงข้อมูลให้ดี ต้องนำประวัติศาสตร์มาผสมผสานในโซเชียลมีเดีย และครูที่สอนต้องมีศิลปะในการสอน ทำให้เด็กมีตรรกะและเหตุผล

“อย่าเอาประวัติศาสตร์ราชการล้วนๆ มาสอนเด็ก และสอนแล้วต้องการให้เด็กรักชาติ อาจเกิดคำถาม ถูกต่อต้านจากเด็กได้ ในการเรียนประวัติศาสตร์ราชการแบบเบ็ดเสร็จ จะต้องระมัดระวัง เพราะเด็กเจนนี้ ไม่ใช่คิดไม่เป็น แต่เขามีแหล่งข้อมูลศึกษามากมาย ไม่ได้ฟังข้อมูลด้านใดด้านหนึ่งที่เป็นเรื่องในอดีต แต่ปัจจุบันประเทศเพื่อนบ้านจะต้องร่วมมือกัน”

เพราะฉะนั้นแล้วควรชำระประวัติศาสตร์ในเวลาเดียวกัน หากมีการแยกวิชาประวัติศาสตร์เป็นวิชาหลัก ต้องทำให้ถูกต้อง ทำให้ดีขึ้นจากการบูรณาการกับประวัติศาสตร์ร่วมสมัย อย่าคิดว่าเด็กต้องเชื่อตามครูว่าเป็นเรื่องที่ถูกต้อง ไม่เช่นนั้นจะทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ อย่างไม่น่าจะเกิดขึ้น

...

สอนประวัติศาสตร์ ต้องไม่น่าเบื่อ ให้เด็กซาบซึ้ง-รักชาติ

อีกมุมมองส่วนตัวของ "ดร.สิทธิพร เอี่ยมเสน" ผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตละอออุทิศ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เห็นด้วยกับการให้เด็กไทยเรียนวิชาประวัติศาสตร์ ซึ่งไม่สนใจว่าจะแยกหรือไม่แยกออกจากหมวดวิชาสังคมศึกษาก็ได้ แต่อยากให้เด็กได้ซาบซึ้งในสิ่งที่บรรพบุรุษและกษัตริย์องค์ต่างๆ ได้สร้างมา ทำให้เกิดความรักชาติในสังคมไทย เพราะทุกวันนี้คนส่วนใหญ่แทบไม่ยืนทำความเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมีในโรงหนังกันแล้ว

ส่วนปัญหาของเด็กไทยในการเรียนวิชาประวัติศาสตร์ เกิดจากครูผู้สอนมีการสอนจากในหนังสือ ทำให้วิชาประวัติศาสตร์น่าเบื่อ ไม่มีเทคนิคการสอนให้สนุกน่าสนใจ ทำให้เด็กชอบวิชาประวัติศาสตร์ อยากให้ครูพัฒนาการสอนให้มีคุณภาพ สอนให้มีชีวิตชีวา ไม่ใช่คร่ำครึน่าเบื่อ ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการ ควรสร้างครูสอนวิชาประวัติศาสตร์เก่งๆ และน่าสนใจ เพื่อให้เด็กได้สัมผัสกับกษัตริย์และคนไทยในอดีต ในการยกย่องเชิดชู

“ไทยมีสถานที่ทางประวัติศาสตร์อยู่ทั่วประเทศ ควรสอนอย่างไรให้มีชีวิตชีวา และครูไม่จำเป็นต้องเรียนจบประวัติศาสตร์โดยตรงก็ได้ อาจจบโบราณคดี สอนให้น่าสนใจให้เด็กติดตาม ตั้งแต่เด็กประถม ให้เรียนประวัติศาสตร์ของบ้านเรา มาถึงระดับมัธยมต้น ให้เรียนประวัติศาสตร์ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จนถึงมัธยมปลาย เรียนประวัติศาสตร์โลก เพื่อนำมาวิเคราะห์”

หรือในต่างจังหวัดควรรู้ประวัติศาสตร์ในท้องถิ่นและภูมิภาคนั้นๆ นำมาบูรณาการกับวิชาศิลปะและภาษาไทย เพื่อให้เกิดทักษะการอ่านและการเขียน นำไปสู่การวิเคราะห์ การแสดงความคิดเห็นเชิงวิพากษ์ จากสิ่งที่ได้รับข้อมูลมาไม่รอบด้าน โดยปัจจุบันครูวัดผลด้วยการท่องจำอาจมีบ้าง แต่ต้องให้เด็กวิเคราะห์และวิพากษ์ควบคู่ไปด้วย.

...