กลายเป็นประเด็นร้อนในแวดวงการเมืองท้องถิ่น เมื่อวิศวกรหนุ่มวัย 27 ที่ทำงานใน อบต.แห่งหนึ่งใน จ.หนองบัวลำภู ปลิดชีวิตตัวเอง จนมีผู้พบร่างไร้วิญญาณในรถยนต์ส่วนตัว พร้อมทิ้งจดหมายบรรยายปัญหาการคอร์รัปชันในองค์กร ซึ่งคาดว่าเป็นปมของการจบชีวิต โดยหลังจากนี้ต้องมีการตรวจสอบ เพื่อคลี่คลายสิ่งที่ประชาชนสงสัย

เมื่อวันที่ 25 พ.ย. 65 เกิดเหตุสะเทือนใจ โดยมีการพบศพชายอายุ 27 ปี เสียชีวิตด้วยการรมควันตัวเองเสียชีวิตในรถกระบะ ซึ่งจอดอยู่ริมถนนมะลิวัลย์ จ.ขอนแก่น และทิ้งจดหมายบรรยายปัญหาคอร์รัปชันของการทำงานในองค์กรส่วนท้องถิ่นแห่งหนึ่งใน จ.หนองบัวลำภู

การตรวจสอบพบว่าผู้เสียชีวิต เพิ่งทำงานที่แห่งนี้ได้ 6 เดือน และได้ยื่นหนังสือลาออกแล้ว จะมีผลในวันที่ 1 ธ.ค. 65 แต่กลับมาเกิดเหตุร้ายครั้งนี้เสียก่อน

การฆ่าตัวตายของหนุ่มอนาคตไกลครั้งนี้ สะท้อนปมปัญหาระบบราชการท้องถิ่น “ดร.มานะ นิมิตรมงคล” เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าวกับ “ทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์” ว่า ที่ผ่านมารัฐพยายามรณรงค์ให้คนรุ่นใหม่ตื่นตัวในการต่อต้านการทุจริต แต่ความเป็นจริงคนที่พยายามต่อสู่กับปัญหาคอร์รัปชันมักจะต้องเจ็บตัว หลายกรณีมีการร้องเรียน แต่ไม่มีการดำเนินการที่คืบหน้า ทำให้คนผิดยังคงลอยนวล นี่จึงเป็นความล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน

ขณะเดียวกัน ข้าราชการที่อยู่ในระบบที่มีการทุจริต บางคนถูกระบบการคอร์รัปชันกลืน และกลายเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการผิด ส่วนบางรายที่ไม่ร่วมมือ จะถูกกลั่นแกล้ง นอกจากนี้ กลุ่มข้าราชการที่เมื่อเจอระบบคอร์รัปชัน จะเกิดความสิ้นหวัง หลายคนตัดสินใจลาออก จนกระทั่งตัดสินใจจบชีวิต

“กรณีนี้ไม่ใช่แค่ระดับกระทรวงมหาดไทยในการเข้าไปดูแล แต่เป็นปัญหาที่ทุกคนในประเทศต้องหันมาช่วยกันแก้ไขว่าทำไมปัญหาคอร์รัปชัน มีแต่จะมากขึ้น โดย ป.ป.ช. และ สตง. ต้องเข้าไปดูแลเรื่องนี้ อย่าปล่อยให้ผ่านเลยไปเหมือนหลายกรณีที่เคยเกิดขึ้น เพราะปัญหาการจ่ายค่าส่วนต่าง เป็นปัญหาการคอร์รัปชันที่เกิดขึ้นจริงในหน่วยงานท้องถิ่น”

...

จากการสำรวจพบว่าบุคลากรองค์กรท้องถิ่น 22% เคยเห็นการคอร์รัปชันในองค์กรของตัวเอง โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศมีอยู่ประมาณ 7,000 - 8,000 แห่ง ส่วนบุคลากรที่เป็นนักการเมืองทั่วประเทศประมาณ 80,000 คน เป็นเจ้าหน้าที่ราชการทั่วประเทศประมาณกว่าแสนคน ด้านงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นปีละ 789,000 ล้านบาท

องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจในการอนุมัติการก่อสร้างและการทำธุรกิจในท้องถิ่น รวมถึงการจัดเก็บภาษีท้องถิ่น สิ่งนี้ทำให้เกิดการทุจริตเกิดขึ้นมากมาย ประกอบกับมีช่องว่างในการบริหารท้องถิ่นอยู่จำนวนมาก เลยทำให้ประเด็นการคอร์รัปชันเกิดขึ้นอยู่เสมอ

“ด้วยความที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกระจายอยู่จำนวนมาก ทำให้หน่วยงานตรวจสอบจากส่วนกลางไปได้ไม่ทั่วถึง และจากการสำรวจแนวการปรับปรุงด้านเทคโนโลยีที่ใช้ในการทำงานพบว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ยังไม่มีการปรับปรุงเพื่อให้เกิดความโปร่งใสเท่าที่ควร แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ นักการเมืองส่วนท้องถิ่นหลายคนเป็นผู้มีอิทธิพล หรือเป็นเครือข่ายนักการเมืองระดับชาติ ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่เกิดสภาวะอึดอัด บางกรณีแม้จะพบว่ามีการทุจริต แต่ไม่สามารถเอาผิดได้ เนื่องจากความมีอิทธิพลในท้องถิ่น”

การแก้ไขปัญหาการคอร์รัปชันในองค์กรส่วนท้องถิ่นได้ ต้องมีระบบการร้องเรียนที่ไม่เปิดเผยตัวตนของผู้ร้องเรียน แม้ทุกวันนี้มีการกำหนด แต่หน่วยงานรัฐที่ตรวจสอบ เมื่อเจอการร้องเรียนโดยไม่ได้ระบุชื่อคนที่ร้องเรียน มักให้ความสำคัญค่อนข้างน้อย ขณะเดียวกันควรมีกระบวนการปกป้องผู้ที่ร้องเรียนด้วย.