รู้หรือไม่?..."กาตาร์" ประเทศเจ้าภาพฟุตบอลโลก 2022 ใช้จ่ายเงินสำหรับการแข่งขันฟุตบอลเพื่อมวลมนุษย์ชาติไปจำนวนเท่าไหร่? คำตอบ...ประเทศผู้ร่ำรวยจากน้ำมันแห่งนี้ ทุ่มเทงบประมาณเพื่อฟุตบอลโลก 2022 ไปรวมกันมากกว่า 220,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 7,878,200,000,000 บาท! (อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 28 พ.ย.22) จากการประเมินของ “Front Office Sports” บริษัทที่ปรึกษาทางการเงินด้านกีฬาชื่อดังของสหรัฐฯ
...
สำหรับเม็ดเงินจำนวนมหาศาลถึงมากกว่า 7.8 ล้านล้านบาทนี้ ถือเป็น “ค่าใช้จ่ายเพื่อการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกที่แพงที่สุดในประวัติศาสตร์” นับตั้งแต่เริ่มจัดการแข่งขันครั้งแรกในปี 1930 ที่ ประเทศอุรุกวัย เป็นเจ้าภาพเป็นต้นมา และอาจจะเป็น “ค่าใช้จ่ายที่มากกว่าการจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกรวมกันทั้ง 21 ครั้งที่ผ่านมาด้วยซ้ำไป!
โดยหากนับตั้งแต่เริ่มมีการประเมินค่าใช้จ่ายการจัดแข่งขันฟุตบอลโลกในปี 1994 จนถึง ปี 2022 ตามรายงาน “Front Office Sports” ระบุว่า...
ฟุตบอลโลก 2022 ประเทศการ์ตาร์ : 220,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ฟุตบอลโลก 2018 ประเทศรัสเซีย : 11,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ฟุตบอลโลก 2014 ประเทศบราซิล : 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ฟุตบอลโลก 2010 ประเทศแอฟริกาใต้ : 3,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ฟุตบอลโลก 2006 ประเทศเยอรมนี : 4,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ฟุตบอลโลก 2002 ประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ : 7,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ฟุตบอลโลก 1998 ประเทศฝรั่งเศส : 2,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ฟุตบอลโลก 1994 ประเทศสหรัฐอเมริกา : 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
** หมายเหตุ รวมค่าใช้จ่ายการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน และยังไม่ได้ปรับค่าเงินตามอัตราเงินเฟ้อ ณ เดือนเมษายน 2022 **
เหตุใดฟุตบอลโลก 2022 ถึงแพงมากมายขนาดนี้ :
Hassan Al Thawadi ผู้รับผิดชอบฝ่ายจัดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 ของประเทศกาตาร์ เปิดเผยว่า การจัดการแข่งขันครั้งนี้ ใช้งบประมาณไปรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 200,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยงบประมาณส่วนใหญ่ ถูกนำไปใช้สำหรับการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เพื่อรองรับการเป็นเจ้าภาพมหกรรมกีฬาระดับโลกครั้งนี้ เช่น ระบบรถไฟฟ้าใต้ดิน, สนามบินนานาชาติ, ถนน, โรงแรมมากกว่า 100 แห่ง รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ สำหรับรองรับนักท่องเที่ยว
การลงทุนในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานครั้งมโหฬารนี้ ถือเป็นส่วนหนึ่งในแคมเปญ "Qatar National Vision 2030" เมกะโปรเจกต์ของประเทศ ที่หวังจะมาทดแทนธุรกิจพลังงานในอนาคต และฟุตบอลโลก 2022 นอกจากจะทำให้กระบวนการดังกล่าวรุดหน้าไปได้รวดเร็วมากขึ้นแล้ว ยังทำให้ ประเทศกาตาร์ กลายเป็นจุดโฟกัสของคนทั้งโลกได้ในเวลาเดียวกัน
ด้วยเหตุนี้ มันจึงมีเหตุผลมากพอที่ทำให้ “กาตาร์” ยอมจ่ายแพงกว่าการจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งไหนๆก็ตาม! โดยนักวิเคราะห์ถึงกับเรียกว่า “นี่คือ...การเดิมพันด้าน Soft Power ครั้งใหญ่ที่สุดของกาตาร์”
นั่นเป็นเพราะ...การขาดทุนในเชิงพาณิชย์สำหรับการจัดแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 ถือเป็นเรื่องที่น่ากังวลเพียงเล็กน้อย สำหรับประเทศที่ร่ำรวยมหาศาลจากพลังงาน อีกทั้ง “ผลกำไร” ในสิ่งที่กาตาร์คาดหวังเอาไว้ คือ การใช้ฟุตบอลโลกเป็นตัวเชื่อมโยงความสัมพันธ์กับนานาประเทศมากกว่า
...
คำถามหลังจบการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 :
หลังการทุ่มเทงบประมาณอย่างมหาศาลของ บราซิล ในการจัดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2014 และ กีฬาโอลิมปิก 2016 ในเวลาห่างกันเพียง 2 ปี สิ่งที่เกิดขึ้นคือ สนามกีฬาขนาดใหญ่ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อรองรับการแข่งขันถูกทิ้งร้างและแทบไม่ได้ใช้ประโยชน์ใดๆ จากการขาดงบประมาณในการดูแลรักษา อีกทั้งยังเป็นผลพวงให้บราซิลมีหนี้สินล้นพ้นตัวอีกด้วย
แต่สำหรับในกรณีของ "กาตาร์" แม้ว่า “เงินอาจไม่ใช่ปัญหา” แต่สำหรับ 8 สนามกีฬายักษ์ที่มีความจุมากที่สุด 88,966 ที่นั่ง และน้อยที่สุด 44,325 ที่นั่ง ซึ่งในจำนวนนี้ถูกสร้างขึ้นใหม่ถึง 7 แห่ง โดยใช้งบประมาณในส่วนนี้ไปมากกว่า 6,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อรองรับการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก 2022 “จะถูกนำไปใช้ประโยชน์อย่างไรต่อไปในอนาคต” เพราะสนามกีฬายักษ์เหล่านี้ น่าจะถือเป็น “สิ่งที่เกินจำเป็นไปมาก” สำหรับประเทศที่มีจำนวนประชากรเพียง 2.8 ล้านคน
...
โดยเบื้องต้น “กาตาร์” เปิดเผยว่า หลังการแข่งขันฟุตบอลโลก จากจำนวนสนามกีฬาทั้งหมด 8 แห่งจะยังคงเหลือไว้เพียง 3 แห่ง ส่วนอีก 5 แห่ง อาจจะถูกรื้อถอนเพื่อเปลี่ยนไปใช้สำหรับวัตถุประสงค์อื่น หรือไม่อาจจะมีการปรับปรุงเพื่อลดความจุของสนามลง ขณะเดียวกัน นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งเชื่อว่า “กาตาร์” น่าจะมีแผนการใช้สนามกีฬายักษ์ที่เหลือเพื่อจัดการแข่งขันกีฬารายการใหญ่ของยุโรป เช่น การแข่งขันนัดชิงชนะเลิศ “ยูฟ่า แชมเปียนส์ลีก” หรือ นัดชิงชนะเลิศ “ยูโรปา ลีก” ในเร็วๆ นี้ เพื่อหวังผลักดัน “กลยุทธ Soft Power” ของตัวเองต่อไปอย่างแน่นอน
จากบรรทัดด้านบนทั้งหมดนั้นคือ การลงทุนในส่วนของการเจ้าภาพฟุตบอลโลก 2022 ของ ประเทศกาตาร์ ส่วนคำถามต่อมาคือ สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือ "ฟีฟ่า" (FIFA) ใช้งบประมาณสำหรับฟุตบอลโลก 2022 เท่าไหร่? คำตอบคือ...1,696 ล้านดอลลาร์สหรัฐ!
...
สำหรับงบประมาณจำนวน 1,696 ล้านดอลลาร์สหรัฐที่ว่านี้ "ฟีฟ่า" แจกแจงไว้ในรายงานงบประมาณประจำปี 2022 โดยแบ่งเป็นค่าใช้จ่ายดังต่อไปนี้...
1. เงินรางวัลการแข่งขัน 440 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ คิดเป็น 26%
2. ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน 322 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ คิดเป็น 19%
3. การจัดการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ 247 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ คิดเป็น 15%
4. การจัดแบ่งผลประโยชน์ให้กับสมาคมฟุตบอลต่างๆ 209 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ คิดเป็น 12%
5. การทำตลาดที่เกี่ยวข้องกับการขายลิขสิทธิ์ 33 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ คิดเป็น 2%
6. ค่าใช้จ่ายด้านบุคลากร 117 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ คิดเป็น 7%
7. การปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานของบุคลากร 207 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ คิดเป็น 12%
8. ค่าใช้จ่ายด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ 49 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ คิดเป็น 3%
9. ค่าใช้จ่ายอื่นๆ 72 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ คิดเป็น 4%
อย่างไรก็ดีสำหรับงบประมาณจำนวน 1,696 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่ "ฟีฟ่า" ใช้สำหรับการจัดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 นี้ ถือเป็นตัวเลขที่ต่ำกว่างบประมาณสำหรับใช้ในการแข่งขันฟุตบอลโลก 2018 ครั้งที่ผ่านมา โดยในครั้งนั้น "ฟีฟ่า" จัดทำงบประมาณไว้ทั้งสิ้น 1,824 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ส่วน "คำถามสุดท้าย" ที่ว่า “ฟีฟ่าได้กำไรจากฟุตบอลโลก 2022 เท่าไหร่?” เราสรุปไว้ให้ “คุณ” แล้ว โดยสามารถติดตามอ่านได้ที่ ฟุตบอลโลก 2022 ทำรายได้ฟีฟ่าพุ่ง 2 แสนล้านบาท
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
กราฟิก : Theerapong C.
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง