“จานนี อินฟานติโน” (Gianni Infantino) ประธานสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือ "ฟีฟ่า" (FIFA) ระบุว่า “รายได้รวม” ของ ฟีฟ่า ในวงรอบ 4 ปี (2019-2022) ซึ่งรวมการจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกที่ประเทศกาตาร์ด้วย มีตัวเลขสูงถึง 7,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 270,750,000,000 บาท สกุลเงิน ณ วันที่ 22 พ.ย. 65) ในขณะที่ตัวเลขรวมค่าใช้จ่ายอยู่ที่ประมาณ 6,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้คาดว่า ฟีฟ่า จะมีผลกำไรสุทธิมากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ!
โดยตัวเลขรายได้ 7,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นี้นอกจากจะเป็นตัวเลขที่แซงหน้ารายได้เมื่อ 4 ปีก่อน ที่มีการจัดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2018 ที่ประเทศรัสเซีย ซึ่งอยู่ที่ 6,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐแล้ว ยังถือเป็น “ตัวเลขรายได้ที่เกินเป้าหมาย” 6,440 ล้านดอลลลาร์สหรัฐ ที่ ฟีฟ่า คาดการณ์เอาไว้ก่อนหน้านี้ด้วย
...
การประกาศ “ทำรายได้สูงกว่าที่คาดการณ์” นี้มีขึ้นเพียงไม่กี่วัน หลังจาก ฟีฟ่า ได้ออกแถลงการณ์ว่า การจัดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 ที่ประเทศกาตาร์ สามารถหา “ผู้สนับสนุน” จากพันธมิตร (7 ราย) สปอนเซอร์หลัก (7 ราย) และผู้สนับสนุนระดับภูมิภาค (แบ่งออกเป็น 5 ภูมิภาค คือ ยุโรป, เอเชียแปซิฟิก, ตะวันออกกลาง และแอฟริกาเหนือ, อเมริกาเหนือ, อเมริกาใต้) ได้เต็มโควตา รวมถึงมีรายงานว่า รายได้เชิงพาณิชย์ของฟีฟ่าค่อยๆ เริ่มฟื้นตัวมาตั้งแต่ปี 2021
โดยผู้สนับสนุนหลักซึ่งเป็น “ขุมทรัพย์สำคัญ” ในการสนับสนุนการจัดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 ประกอบด้วย บริษัทพลังงาน Qatar Energy, ธนาคาร Qatar National Bank หรือ QNB และบริษัทโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่ Ooredoo ซึ่งเป็นของประเทศกาตาร์ทั้งหมด
ซึ่งจาก “ตัวเลขผลกำไรอันแสนงดงาม” ดังกล่าว ทำให้นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า การนั่งตำแหน่งประธานฟีฟ่าในวาระที่ 3 ติดต่อกัน ของ “จานนี อินฟานติโน” ซึ่งมีกำหนดการเลือกตั้งในวันที่ 13 มีนาคม ปี 2023 “ไม่น่าจะมีข้อขัดข้องใดๆ อีกแล้ว”
นอกจากนี้ นักวิเคราะห์ยังคาดการณ์อีกว่า การแข่งขันฟุตบอลโลก 2026 ที่แคนาดา สหรัฐฯ และเม็กซิโก เป็นเจ้าภาพร่วมในอีก 4 ปีข้างหน้า “ฟีฟ่า” มีแนวโน้มสูงที่อาจ “ทำเงิน” ได้มากกว่า “ฟุตบอลโลก 2022” ด้วย เนื่องจากจะมีการเพิ่มจำนวนทีมในรอบสุดท้าย จาก 32 ทีม เป็น 48 ทีม ซึ่งจะเป็นผลให้ค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดแพงขึ้น อีกทั้งยังถือเป็นกลยุทธ์สำคัญในการเจาะตลาดใหม่ในสหรัฐฯ และแคนาดา ซึ่งไม่ค่อยนิยมกีฬาฟุตบอลมากนัก
...
โดยการคาดการณ์ “รายได้” ในอีก 4 ปีข้างหน้าของ ฟีฟ่า นั้นนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่เชื่อว่า “มีแนวโน้มสูง” ที่อาจเข้าไปแตะระดับ 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ทั้งนี้ ก่อนหน้าการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 ที่ประเทศกาตาร์จะเริ่มต้นขึ้น แผนการจัดทำงบประมาณของ ฟีฟ่า ที่มีการประกาศออกมาก่อนหน้านี้ ระบุว่า เป้าหมายรายได้รวมในวงรอบ 4 ปี (2019-2022) อยู่ที่ 6,440 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ขณะที่แผนการจัดทำงบประมาณประจำปี 2022 (ไม่รวมฟุตบอลโลก 2022) อยู่ที่ 4,666 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยในจำนวนนี้ 82% หรือ 3,807 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สามารถบรรลุข้อตกลงในการทำสัญญา ณ สิ้นสุดงบดุลในวันที่ 31 ธ.ค. 2020 แล้ว
โดยประเภทของรายได้หลักแบ่งออกเป็น 5 ประเภท คือ
1. ลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ 2,640 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 56% (ณ เวลานั้น ยังเจรจาขายลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดได้ไม่ครบ)
2. สิทธิทางการตลาด 1,353 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 29% (ณ เวลานั้น มีความคืบหน้าในการหาผู้สนับสนุนได้เพียง 71%)
...
3. สิทธิในการจัดการแข่งขัน 140 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
4. สิทธิในการใช้เครื่องหมายการค้า และสิทธิในการขายตั๋วเข้าชมการแข่งขัน 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
5. รายได้อื่นๆ 33 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมกันทั้งสิ้น 673 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือรวมประมาณ 15%
โดยสาเหตุหลักๆ ที่ทำให้ความคืบหน้าในการจัดทำสัญญาต่างๆ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายจำนวนรายได้ที่คาดหวังเกิดความล่าช้านั้น ฟีฟ่า ระบุว่าเป็นผลมาจากเศรษฐกิจโลกที่ซบเซาจากปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19.
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
...