"1,600 ล้านบาท" เป็นตัวเลขกรอบวงเงินที่ "การกีฬาแห่งประเทศไทย หรือ กกท." ได้ส่งถึง สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. เพื่อขอเงินสนับสนุนจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ  หรือ กทปส. เพื่อใช้ซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสด “ฟุตบอลโลก 2022” รอบสุดท้าย ที่จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 20 พฤศจิกายน - 18 ธันวาคมนี้ ที่ประเทศกาตาร์ นำมาซึ่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า การขอสนับสนุนเงินจำนวนมหาศาลนี้มีความเหมาะสมหรือไม่ เนื่องจากกองทุน กทปส. มีไว้เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม รวมถึงการพัฒนาบุคลากร การคุ้มครองผู้บริโภค การดำเนินการให้ประชาชนได้รับการบริการอย่างทั่วถึง

“ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์” ตรวจสอบข้อมูลการจัดซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกในอดีต ย้อนหลังไปเกือบ 20 ปี พบว่า ในช่วงเริ่มต้นมี โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย (ทรท.) หรือทีวีพูล ถือเป็นรายแรกและรายเดียวที่มีการซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลกเข้ามาถ่ายทอดสดให้คนไทยได้รับชม โดยในขณะนั้นจะเป็นการถ่ายทอดให้ได้รับชมเฉพาะคู่สำคัญๆ เช่น คู่ชิงชนะเลิศ โดยถ่ายทอดผ่านสถานีโทรทัศน์ช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์ ในขณะนั้น แต่ไม่ปรากฏมูลค่าที่ทีวีพูลใช้ในการซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลกว่าเป็นจำนวนเงินเท่าไร? กระทั่งในปี ค.ศ.1990 ฟุตบอลโลกที่อิตาลี มีการปรับเปลี่ยนครั้งสำคัญ โดยจัดให้มีการถ่ายทอดสดครบทุกคู่ในการแข่งขัน

...

ในปี ค.ศ.2002 “ฟุตบอลโลก ครั้งที่ 17” ที่เกาหลีใต้และญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพร่วมกัน ถือเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ เมื่อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกที่ถูกผูกขาดกับทีวีพูลมานาน ถูกเปลี่ยนมือให้กับ บริษัท ทศภาค คอมมูนิเคชั่น เอเยนซี่ จำกัด ซึ่งสามารถชิงลิขสิทธิ์ถ่ายทอดฟุตบอลโลกในประเทศไทยเพียงเจ้าเดียวมาได้

นอกจากนี้ บริษัท ทศภาค ยังได้เจรจา ซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอด “ฟุตบอลโลก 2006 ครั้งที่ 18” ที่เยอรมนี ซึ่งถือเป็นการได้ลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดถึง 2 สมัย รวมมูลค่าในการซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดฟุตบอลโลก 2 ครั้ง เป็นเงิน 7.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 337.5 ล้านบาท และเป็นการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกโดยไม่มีโฆษณาคั่นระหว่างการถ่ายทอดสด

“ฟุตบอลโลก 2010 ครั้งที่ 19” ที่แอฟริกาใต้ ลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกในไทยถูกเปลี่ยนมืออีกครั้ง โดย บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) ได้รับลิขสิทธิ์การถ่ายทอดในประเทศไทยเพียงผู้เดียว ซึ่งทางบริษัทฯ ไม่มีการเปิดเผยมูลค่าในการซื้อลิขสิทธิ์ในครั้งนั้น แต่มีการระดมทุนจากพันธมิตรทางธุรกิจยักษ์ใหญ่ 4 ราย กว่า 200 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนการถ่ายทอดสดการแข่งขัน

“ฟุตบอลโลก 2014 ครั้งที่ 20” ที่บราซิล ยังคงเป็น บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) ที่ได้ลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดแบบแพ็กคู่ ต่อเนื่องจากฟุตบอลโลกครั้งก่อน

แต่ในครั้งนี้เกิดประเด็นปัญหาขึ้นหลังจาก กสทช.ออกประกาศหลักเกณฑ์รายการโทรทัศน์สำคัญที่เผยแพร่ ที่ให้เผยแพร่ได้เฉพาะในบริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป พ.ศ.2555 หรือ “กฎมัสต์แฮฟ (Must Have)” เพื่อให้คนไทยมีโอกาสได้รับชมกีฬาที่อยู่ในความสนใจอย่างเท่าเทียม 7 รายการ คือ โอลิมปิก เอเชียนเกมส์ ซีเกมส์ อาเซียนพาราเกมส์ เอเชียนพาราเกมส์ พาราลิมปิกเกมส์ และฟุตบอลโลก

ซึ่งเป็นประกาศที่ออกมาหลังเกิดกรณีกับ บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ที่ได้ลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดฟุตบอลยูโร 2012 และเกิดปรากฏการณ์ “จอดำ” บล็อกสัญญาณ ทำให้เครื่องรับโทรทัศน์บางประเภทไม่สามารถรับชมการแข่งขันได้

 “กฎมัสต์แฮฟ (Must Have)” ทำให้ บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) เจ้าของลิขสิทธิ์ถ่ายทอดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2014 ถูกบังคับให้ต้องถ่ายทอดสดการแข่งขันทั้ง 64 นัด ผ่านทางฟรีทีวี นำไปสู่การฟ้องศาลปกครอง

...

โดยศาลเห็นว่า อาร์เอส ได้เซ็นสัญญากับเจ้าของลิขสิทธิ์ตั้งแต่ 12 กันยายน 2548 เป็นการเซ็นสัญญารวบยอดนับตั้งแต่ ฟุตบอลโลก 2010 แต่ประกาศ กสทช.มีผลบังคับใช้เมื่อ 4 มกราคม 2556 จึงมองว่า กฎ Must Have ไม่ควรมีผลย้อนหลัง จนที่สุดศาลปกครองพิพากษาว่า ประกาศของ กสทช.ไม่ชอบด้วยกฎหมาย กระทบต่อสิทธิ์ของผู้ได้รับลิขสิทธิ์ และต้องชดใช้เงินให้กับ บริษัท อาร์เอส เป็นเงินกว่า 427 ล้านบาท

“ฟุตบอลโลก 2018 ครั้งที่ 21” ที่รัชเซีย มีการลงขันของเอกชน 9 ราย ได้แก่ ซีพี ไทยเบฟ บีทีเอส คิง เพาเวอร์ กัลฟ์ กสิกรไทย พีทีทีจีซี บางจาก และคาราบาวแดง เพื่อระดมทุนซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอด โดยในครั้งนั้นจ่ายค่าลิขสิทธิ์ไปกว่า 1,141 ล้านบาท

จากข้อมูลค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกย้อนหลัง จะเห็นว่า ตัวเลข "1,600 ล้านบาท" ตามที่ กกท.ขอรับการสนับสนุนเงินจาก กสทช. นับเป็น "ค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกที่แพงสุดที่ไทยเราเคยซื้อมา" แม้ล่าสุด กสทช.จะมีมติโดยเสียงข้างมาก อนุมัติเงินกองทุน กทปส. 600 ล้านบาท ให้คนไทยได้ชมการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 ทั้ง 64 นัด ผ่านฟรีทีวีทุกแพลตฟอร์ม ก็พอทำให้คอฟุตบอลชาวไทยโล่งใจไปได้ส่วนหนึ่ง แต่ก็ยังคงต้องลุ้นต่อว่า กกท.จะหาเม็ดเงินอีกกว่า 1,000 ล้านบาทมาจากไหน ให้พอซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลกมาให้คนไทยได้รับชม.

...

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง