การเคลื่อนไหวทางการเมืองของชายชื่อ “กรณ์ จาติกวณิช” น่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะประวัติของกรณ์ถือเป็นนักการเมืองดาวรุ่ง ตั้งแต่เมื่อครั้งเริ่มเข้าวงการการเมืองกับพรรคประชาธิปัตย์ มีตำแหน่งในคณะรัฐมนตรี จนเริ่มมาตั้งพรรคการเมืองเอง และล่าสุด เลือกเปลี่ยนสถานะตัวเองจากหัวหน้าพรรคการเมืองเล็กอย่างพรรคกล้า ที่เขาเป็นผู้ก่อตั้งและจดทะเบียนเมื่อวันวาเลนไทน์ 14 กุมภาพันธ์ 2563 มาเจรจากับพรรคชาติพัฒนา ของนักการเมืองรุ่นเก๋า ครอบครัวลิปตพัลลภ จนได้เป็นหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2565

ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของพรรคชาติพัฒนาในวันดังกล่าว มีขึ้นในการประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคชาติพัฒนา “เทวัญ ลิปตพัลลภ” ที่ประกาศลาออก ก่อนจะเปลี่ยนชื่อพรรคชาติพัฒนา เป็น ชาติพัฒนากล้า และถอยลงมารับตำแหน่งเลขาธิการพรรคชาติพัฒนากล้า

ความเคลื่อนไหวของ “กรณ์” ที่หันมาจับมือกับ บ้านลิปตพัลลภ ที่มี “สุวัจน์ ลิปตพัลลภ” เป็นพี่ใหญ่ ซึ่งหนึ่งใน “ทายาททางการเมืองจากซอยราชครู” ของ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ อดีตนายกรัฐมนตรีไทยคนที่ 17 นับเป็นการผสมผสานทางการเมืองที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง

นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ประธานพรรคชาติพัฒนากล้า พร้อมด้วย นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า, นายเทวัญ ลิปตพัลลภ จากหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า คนแรก มานั่งในตำแหน่งเลขาธิการพรรคชาติพัฒนากล้า คือ ภาพล่าสุดเมื่อวันที่ 2 ก.ย.2565
นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ประธานพรรคชาติพัฒนากล้า พร้อมด้วย นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า, นายเทวัญ ลิปตพัลลภ จากหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า คนแรก มานั่งในตำแหน่งเลขาธิการพรรคชาติพัฒนากล้า คือ ภาพล่าสุดเมื่อวันที่ 2 ก.ย.2565

...

โดยเฉพาะในสภาวะที่นักการเมืองต่างเก็งข้อสอบในทางเดียวกัน เกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.... ที่ยังอยู่ในการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ทำให้บรรดาพรรคเล็ก และพรรคเกิดใหม่ อาจกลายเป็น “หมัน” จึงบีบคั้นให้ “กรณ์” ที่เพิ่งก่อตั้งพรรคกล้าได้เพียง 2 ปี เลือกตีจาก และหันมาซบผสมรวมกับพรรคเก่าแก่อายุ 15 ปี อย่างชาติพัฒนา ที่ก่อตั้งเมื่อปี 2550 แทน

ส่องประวัติ “กรณ์ จาติกวณิช” ทายาทบุคคลสำคัญ

ประวัติ “กรณ์ จาติกวณิช” น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะเติบโตในครอบครัวที่มีบุคคลสำคัญ มีบทบาทในสังคม และการบริหารประเทศในด้านต่างๆ 

กรณ์ เกิดเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2507 ที่กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร และเดินทางกลับมาอยู่ไทยตั้งแต่อายุ 3 ขวบ มีชื่อเล่นว่า "ดอน" เป็นบุตรคนกลางของ “ไกรศรี จาติกวณิช” อดีตอธิบดีกรมศุลกากร และอดีตผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กับ “รัมภา จาติกวณิช” นามสกุลเดิมพรหโมบล บุตรีพระยาบุเรศผดุงกิจ อดีตอธิบดีกรมตำรวจ

กรณ์ เป็นบุตรชายคนกลาง ในจำนวนพี่น้อง 3 คน พี่ชายคือ อธิไกร และน้องชายคือ อนุตร ซึ่งรูปร่างหน้าตาคล้ายกับ “กรณ์” มาก จนขนาดมีคนจำผิดมาแล้ว

หากย้อนไปถึงรุ่นคุณปู่และเครือญาติที่มีบทบาทสำคัญในข้าราชการไทย อาทิ คุณปู่ พระยาอธิกรณ์ประกาศ (หลุย จาติกวณิช หรือ ซอเทียนหลุย) มีตำแหน่งเป็นอธิบดีกรมตำรวจ คนที่ 2 ของไทย และได้รับโปรดเกล้าฯ เป็น องคมนตรี ในสภากรรมการองคมนตรี สมัยรัชกาลที่ 7

คุณตาคือ พระยาบุเรศผดุงกิจ (รวย พรหโมบล) อดีตอธิบดีกรมตำรวจ คนที่ 3 ที่ดำรงตำแหน่งต่อจากพระยาอธิกรณ์ประกาศนั่นเอง

คุณลุง ศ.นพ.กษาน จาติกวณิช เป็นอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล (สมรสกับ ท่านผู้หญิงสุมาลี (ยุกตะเสวี) จาติกวณิช มีบุตรสาวคือ คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา อดีตปลัดกระทรวงศึกษาธิการและเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน

คุณลุง เกษม จาติกวณิช หรือเจ้าของฉายา "ซูเปอร์เค" เป็นผู้ก่อตั้งและผู้ว่าการคนแรกของ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และเป็นประธานรถไฟฟ้า BTS สมรสกับ คุณหญิงชัชนี จาติกวณิช (ล่ำซำ) ผู้บริหารกลุ่ม “ล็อกซเล่ย์”

กรณ์ จาติกวณิช และคู่สมรส วรกร จาติกวณิช
กรณ์ จาติกวณิช และคู่สมรส วรกร จาติกวณิช

สำหรับชีวิตสมรสนั้น “กรณ์” สมรสกับ วรกร จาติกวณิช (สกุลเดิมสูตะบุตร) มีบุตรธิดาด้วยกัน คือ กานต์ จาติกวณิช (แจม) และไกรสิริ จาติกวณิช (จอม) นอกจากนี้ยังมีลูกจากการสมรสครั้งก่อนอีก 2 คนของ “วรกร” คือ พงศกร มหาเปารยะ (แต๊งค์) และพันธมิตร มหาเปารยะ (ติ๊งค์)

...

ด้านการศึกษานั้น เมื่อกลับเมืองไทยตอนเด็ก กรณ์เริ่มเรียนชั้นอนุบาลที่โรงเรียนสมถวิล และต่อระดับประถมศึกษาที่ โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (ปทุมวัน) แล้วไปเรียนต่อระดับมัธยมศึกษาที่วินเชสเตอร์ คอลเลจ ประเทศอังกฤษ ได้เป็นหัวหน้านักเรียน และเป็นกัปตันทีมว่ายน้ำและโปโลน้ำของโรงเรียน

หลังจากจบมัธยมศึกษาตอนปลาย ได้เรียนต่อระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ในสาขาปรัชญาการเมือง และเศรษฐศาสตร์ ได้รับเกียรตินิยม และช่วงเรียนมหาวิทยาลัยก็ได้เล่นกีฬาพายเรือ ที่ต้องมีวินัย มีความอดทน และความสามัคคีอีกด้วย

“กรณ์” ในเส้นทางชีวิตนักการเงิน บนเส้นทางวาณิชธนกิจ

หลังจบการศึกษา กรณ์ เริ่มทำงานที่อังกฤษ ที่บริษัทจัดการกองทุน บริษัท เอส จี วอร์เบิร์ก 3 ปี และเดินทางกลับประเทศไทยตอนอายุ 23 ปี ก่อตั้งบริษัทหลักทรัพย์ เจ.เอฟ. ธนาคม จำกัด ในปี 2531 ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการบริษัท สามารถทำให้ บล. เจ.เอฟ. ธนาคม ขึ้นเป็นผู้นำในธุรกิจหลักทรัพย์ และผ่านวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งปี 2540 มาได้ ท่ามกลางการล้มระเนระนาดของสถาบันการเงินในไทย

กรณ์ ได้ขายหุ้น บล. เจ.เอฟ. ธนาคม ในปี 2542 ให้ เจพีมอร์แกนเชส และยังบริหารต่อในตำแหน่งประธานบริษัทหลักทรัพย์ เจพีมอร์แกน (ประจำประเทศไทย) จำกัด ดูแลธุรกิจทางด้านธนาคารและการบริหารความเสี่ยง และธุรกิจหลักทรัพย์ ก่อนที่จะขายธุรกิจหลักทรัพย์ (กลุ่มลูกค้ารายย่อย) ให้กลุ่มธนาคารกรุงเทพ โดยบริษัทหลักทรัพย์ เจพีมอร์แกน เหลือธุรกิจวาณิชธนกิจและธุรกิจหลักทรัพย์ เฉพาะลูกค้าสถาบัน

ในปี 2547 คือการสิ้นสุด เพื่อเริ่มต้นใหม่ ของ กรณ์ โดยลาออกจากบริษัทหลักทรัพย์ เจพีมอร์แกน (ประจำประเทศไทย) เพื่อลงสู่สนามการเมือ

...

บทบาทสำคัญของ กรณ์ บนเส้นทางการเมือง

“กรณ์” เข้าสู่ถนนการเมืองจากการทาบทามเพื่อนนักเรียนอังกฤษ แต่เป็นรุ่นพี่ทางการเมืองอย่าง “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ในค่ายพระแม่ธรณีบีบมวยผม และด้วยความสูงที่ 193 ซม. ทำให้เขามีฉายาว่า “หล่อโย่ง” จากสื่อมวลชน เพื่อให้เข้ากับฉายาคนหล่ออีกหลายคนในพรรค อย่าง “หนุ่มมาร์ค” เจ้าของฉายา “หล่อใหญ่” “อภิรักษ์ โกษะโยธิน” หล่อเล็ก อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และ ม.ล.อภิมงคล โสณกุล ที่ได้รับสมญานามว่า “หล่อจิ๋ว”

กรณ์ ลงสนามการเมืองครั้งแรกก็ชนะเลือกตั้งได้เป็น ส.ส.เขต 7 ยานนาวา กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2548 ด้วยคะแนนเสียง 36,010 คะแนน และเป็น 1 ใน 4 ของ ส.ส.กรุงเทพมหานครของพรรคประชาธิปัตย์ หลังจากนั้นก็ดำรงตำแหน่ง ส.ส.ต่อเนื่องอีก 4 สมัย ในปี 2548, 2550, 2554 และ 2562

ปี 2549 “กรณ์” เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นในถนนการเมือง เมื่อมีบทบาทสำคัญในการตรวจสอบการขายหุ้นชินคอร์ป ของตระกูลชินวัตร ก่อนจะนำไปสู่คำพิพากษาตัดสินยึดทรัพย์ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี

นาย​อภิสิทธิ์ เวช​ชา​ชีวะ หัวหน้า​พรรค​ประชาธิปัตย์ พร้อม​ด้วย นาย​กร​ณ์ จา​ติ​กวณิช นำ​นาย​แพทย์​คณ​วัฒน์ จันทร​ลาวัณย์ ผู้​สมัคร ส.ส.กทม. พรรค​ประชาธิปัตย์ เบอร์ 15 (เขต​เลือกตั้ง​ที่ 7 เขต​บางซื่อ-เขตดุสิต) เดิน​พบปะทักทายประชาชน เพื่อ​รณรงค์​ให้​ประชาชน​ออก​มา​ใช้​สิทธิ์​เลือกตั้ง ส.ส. ใน​วัน​ที่ 24 มีนาคม 2562
นาย​อภิสิทธิ์ เวช​ชา​ชีวะ หัวหน้า​พรรค​ประชาธิปัตย์ พร้อม​ด้วย นาย​กร​ณ์ จา​ติ​กวณิช นำ​นาย​แพทย์​คณ​วัฒน์ จันทร​ลาวัณย์ ผู้​สมัคร ส.ส.กทม. พรรค​ประชาธิปัตย์ เบอร์ 15 (เขต​เลือกตั้ง​ที่ 7 เขต​บางซื่อ-เขตดุสิต) เดิน​พบปะทักทายประชาชน เพื่อ​รณรงค์​ให้​ประชาชน​ออก​มา​ใช้​สิทธิ์​เลือกตั้ง ส.ส. ใน​วัน​ที่ 24 มีนาคม 2562

...

ในปี 2550 แม้ “กรณ์” ได้เป็น ส.ส.ฝ่ายค้าน ก็ได้แสดงฝีมือทางเศรษฐกิจ ตามกลยุทธ์ของพรรคประชาธิปัตย์ ที่มีสถานะเป็นพรรคฝ่ายค้านเพียงพรรคเดียวในสภาผู้แทนราษฎร ที่จัดตั้งคณะรัฐมนตรีเงา หรือ ครม.เงาขึ้น เพื่อติดตามตรวจสอบ และเสนอแนะการบริหารงานของรัฐบาล ตามรูปแบบที่มีในต่างประเทศ โดย “กรณ์” ในฐานะแกนนำทีมเศรษฐกิจ ได้รับเลือกทำหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเงา

เมื่อพรรคประชาธิปัตย์ ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2551 “กรณ์” ก็ได้เก้าอี้ “ขุนคลัง” ตัวจริงมาครอบครองในรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ และในช่วงปี 2551-2553 ไทยประสบกับ “วิกฤตการณ์แฮมเบอร์เกอร์” ที่ลุกลามมาจากสหรัฐอเมริกา “กรณ์” ก็ได้โชว์ศักยภาพด้วยมาตรการ “ไทยเข้มแข็ง” ทำให้ไทยฟื้นจากวิกฤติเร็วเป็นอันดับ 2 ของโลก

ดัชนีการฟื้นจากวิกฤติ ที่กรณ์มักจะเล่าเสมอ คือ การพลิกตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) จากติดลบสองหลัก เป็นบวก 7.8% ภาคการส่งออกเติบโตก้าวกระโดด 28.5% จนได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีคลังโลก โดยนิตยสารเครือ The Banker : Financial Times คนแรกของประเทศไทย

จังหวะชีวิตการเมืองที่พลิกผัน

แต่ดูเหมือนการพิสูจน์ฝีมือจะสั้นเกินไป สำหรับกรณ์ เพราะเกิดวิกฤติการเมือง จนรัฐบาลอภิสิทธิ์ต้องจบลง และในการเลือกตั้งเมื่อวันอาทิตย์ที่ 24 มีนาคม 2562 แม้ “กรณ์” ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ แต่ก็เกิดเหตุความเปลี่ยนแปลงในพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ได้แสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออกจากการเป็นหัวหน้าพรรค เพราะเคยประกาศไว้ว่า จะพาพรรคให้ชนะการเลือกตั้ง ด้วยจำนวนส.ส.ไม่ต่ำกว่า 100 เก้าอี้

ความเปลี่ยนแปลงในพรรคประชาธิปัตย์ ทำให้กรณ์ ต้องหาเส้นทางใหม่ทางการเมือง

เมื่อครั้งที่กรณ์ ยังอยู่ในฐานะหัวหน้าพรรคกล้า จัดประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2565 เมื่อวันที่ 30 เม.ย. 2565
เมื่อครั้งที่กรณ์ ยังอยู่ในฐานะหัวหน้าพรรคกล้า จัดประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2565 เมื่อวันที่ 30 เม.ย. 2565

จากการประชุมใหญ่ของพรรคประชาธิปัตย์เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2562 “กรณ์” ก็ไม่ได้ถูกเลือกให้ดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคต่อ เพราะถือเป็นยุคถ่ายเลือดของพรรค ที่มีหัวหน้าคนใหม่ชื่อ “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” ที่เลือก “ปริญญ์ พานิชภักดิ์” มาคุมทีมเศรษฐกิจของพรรค

กรณ์ ยื่นลาออกจากสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ในวันที่ 15 มกราคม 2563 ก่อนจะยื่นลาออกจากตำแหน่ง ส.ส.ตามมา โดยได้ออกมาปลุกปั้นพรรคใหม่อย่างพรรคกล้าร่วมกับ “อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี” อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์เช่นกัน

แต่ดูเหมือน “พรรคกล้า” ของ “กรณ์” ก็ไปไม่ถึงฝั่งฝัน เพราะในการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.กทม. เขต 9 (หลักสี่-จตุจักร) เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2565 “อรรถวิชช์” ที่ลงแข่งขันได้คะแนนเป็นอันดับที่ 3 ตามหลังพรรคเพื่อไทยและก้าวไกล และยิ่งมาตอกย้ำในการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2565 ซึ่งพรรคกล้าของกรณ์หวังปักธง โดยส่ง ส.ก.ถึง 12 เขตนั้น ก็เรียกว่าล้มเหลวโดยสิ้นเชิง จึงทำให้เขาจำเป็นต้องหันกลับมาทบทวน และสุดท้ายก็ได้ฤกษ์ย้ายบ้านใหม่ไปอยู่กับพรรคชาติพัฒนากล้าในที่สุด

“กรณ์ จาติกวณิช”  ในฐานะหัวหน้าพรรค “ชาติพัฒนากล้า” เมื่อวันที่ 2 ก.ย. 2565
“กรณ์ จาติกวณิช” ในฐานะหัวหน้าพรรค “ชาติพัฒนากล้า” เมื่อวันที่ 2 ก.ย. 2565

สำรวจฐานะ ทรัพย์สิน ‘กรณ์’

“กรณ์” เคยแจ้งบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ไว้เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2563 ว่ามีทรัพย์สิน 674,865,893 บาท แบ่งเป็นเงินฝาก 25,392,432 บาท เงินลงทุน 202,121,373 บาท เงินให้กู้ยืม 2,472,000 บาท ที่ดิน 168,180,000 บาท โรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง 197 ล้านบาท รถยนต์ 10.1 ล้านบาท สิทธิและสัมปทาน 64,472,507 บาท ทรัพย์สินอื่น (ราคาตั้งแต่สองแสนบาทขึ้นไป) 5,127,580 บาท

มีหนี้สิน 65,994 บาท โดยมีรายได้ระหว่างดำรงตำแหน่ง 5,279,906 บาท เป็นเงินประจำตำแหน่งและเงินเพิ่ม 871,847 บาท กองทุน 4,408,058 บาท มีรายจ่ายรวม 9,575,000 บาท เป็นค่าใช้จ่ายส่วนตัว

ส่วน “วรกร จาติกวณิช” คู่สมรส มีทรัพย์สิน 388,013,166 บาท แบ่งเป็นเงินฝาก 62,945,485 บาท เงินลงทุน 164,732,733 บาท ที่ดิน 44,920,000 บาท โรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง 47,850,000 บาท รถยนต์ 5.9 ล้านบาท สิทธิและสัมปทาน 4,929,947 บาท ทรัพย์สินอื่น 56,735,000 บาท

มีหนี้สิน 6,460,204 บาท มีรายได้ระหว่างดำรงตำแหน่ง 3,171,340 บาท เป็นรายได้จากกองทุน 3,171,340 บาท มีรายจ่ายรวม 4,985,000 บาท เป็นค่าใช้จ่ายส่วนตัว

รวมทั้งคู่มีทรัพย์สินทั้งสิ้น 1,062,879,060 บาท มีหนี้สินทั้งสิ้น 6,526,198 บาท

ปิดท้ายกันกับคติประจำตัว ที่กรณ์ เคยบอกไว้ ที่ว่า “จงเป็นตัวของตัวเอง และไม่เสแสร้งเป็นในสิ่งที่ไม่ใช่ตัวเรา” (Be yourself and don’t pretend to be something you’re not) จึงน่าสนใจ และน่าจับตาว่า การขยับก้าวที่สำคัญ ในฐานะหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า เขาจะพาพรรค และตัวเองไปถึงจุดใดบนเส้นทางการเมืองหลังจากนี้