เดี่ยว 13 น่าจะฮิตต่อเนื่องหลังเผยแพร่ในเน็ตฟลิกซ์ ทั้งฝ่ายเชียร์และฝ่ายไล่ลุงตู่ ต้องเปิดดูเนื้อหาการแสดงเดี่ยวไมโครโฟนของโน้ต อุดม แต้พานิช ออกมาจิกกัดการทำงานของลุงตู่แบบไม่ยั้ง บ้างก็บอกเป็นสิทธิ์ของประชาชนตามระบอบประชาธิปไตยสามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้ ส่วนอีกฟากไม่พอใจเห็นว่าทำเกินเลยไม่เหมาะสม
แล้วจุดสมดุลที่ใครต่อใครจะวิพากษ์วิจารณ์ทางการเมืองอยู่ตรงไหน อีกทั้งไม่ใช่ครั้งแรกบนเวทีการแสดงของโน้ต อุดม จะจัดหนักฟาดแรกเฉพาะลุงตู่ เท่านั้น เพราะยังมีผู้นำรัฐบาลในยุคที่ผ่านมาก็โดนล้อเลียนในเชิงตลกขำๆ มาแล้วทั้งสิ้น แต่ไม่ปรากฏให้เห็นการโต้เถียงกันไปมาระหว่างผู้เห็นต่างทางการเมืองแต่อย่างใด หรือถึงขั้นจะฟ้องดำเนินคดี จนเรื่องราวบานปลาย
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจากสาเหตุใด? “รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย” อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ระบุว่า การวิพากษ์วิจารณ์ผู้นำประเทศ เป็นเรื่องที่ประเทศในระบอบประชาธิปไตยทำกันและเป็นสิ่งที่ทำได้ เพราะเป็นเสรีภาพในการแสดงออก แต่ถ้ามีการหมิ่นประมาทก็สามารถฟ้องได้ ส่วนการจะวิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้เลยคงไม่มีอย่างผู้นำในสหรัฐฯ ไม่ว่า โดนัลด์ ทรัมป์ หรือโจ ไบเดน ยังถูกวิพากษ์วิจารณ์
...
ขณะที่ไทยนอกจากระบบการเมืองแล้ว ยังมีระบบวัฒนธรรมในการเคารพผู้อาวุโส ทำให้คนรู้สึกว่าการวิพากษ์วิจารณ์ผู้มีฐานะสูงกว่าคงไม่เหมาะสม และจริงๆ แล้วผู้นำประเทศต้องใจกว้างในการรับฟังความคิดเห็นแม้จะเป็นความเห็นต่าง ส่วนเนื้อหาในเดี่ยว13 ก็ไม่มีอะไร มีการหยิบยกเรื่องยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งไม่ได้มีการหมิ่นประมาท ไม่ได้ทำให้ถูกดูหมิ่นเกลียดชังในการเอาเรื่องส่วนตัวของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาพูดกล่าวหาใดๆ ว่าทุจริตคอร์รัปชัน
“เนื้อหาเดี่ยว 13 เป็นการวิพากษ์วิจารณ์การทำงาน เป็นเรื่องปกติจะต้องยอมรับความเห็นที่แตกต่าง และวันนี้การเมืองไทยอยู่ในภาวะการแบ่งขั้วทางการเมือง ถูกแบ่งเป็นสองขั้วอยู่เสมออย่างวงการนางงาม วงการดารา จนมาล่าสุดเดี่ยว 13 แม้เป็นรายการเอ็นเตอร์เทน แต่ได้สะท้อนให้เห็นการแบ่งขั้วการเมืองอย่างชัดเจน จากการปราบปรามการเคลื่อนไหวทางการเมืองมาโดยตลอด กระทั่งปะทุขึ้นมาอีก”
สิ่งที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นว่าแนวโน้มการแบ่งขั้วทางการเมืองในไทยยังไม่ลดลง และเป็นได้ยากที่จะแก้ไข เพราะสังคมไทยมีระบบวัฒนธรรม มีการกำกับทั้งทางสังคมและการเมือง ซึ่งไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตย แต่ถูกควบคุมกำกับจากการปกครองแบบผสมประชาธิปไตยก็ไม่ใช่ เผด็จการก็ไม่เชิง ในลักษณะ hybrid regimes จนทำให้การวิพากษ์วิจารณ์ผู้นำประเทศไม่ถูกยอมรับได้
“คิดว่าประเด็นดราม่าเดี่ยว 13 น่าจะจบในไม่ช้า ท่ามกลางการแบ่งขั้วทางการเมือง และเดี๋ยวจะมีเรื่องอื่นเข้ามาอีกก็มีการแบ่งแยกเหมือนเดิม แม้ฝ่ายประชาธิปไตยมีมากกว่า แต่ฝ่ายอนุรักษนิยมยังคงมีอำนาจ แม้เป็นคนส่วนน้อย เพราะฉะนั้นจะเห็นการแบ่งขั้วการเมืองอีกต่อไป เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประชาธิปไตย ทำให้ประชาธิปไตยที่ตั้งมั่นเกิดขึ้นไม่ได้ และจะเกิดความขัดแย้ง ความไม่ชอบธรรมทางการเมืองเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องไม่จบสิ้น”.
ภาพจากเพจ : เดี่ยว