• จำนวนผู้ป่วยซึมเศร้ามาพบแพทย์แออัดมากขึ้นในแต่ละวัน ส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพบริการที่ลดลง โรงพยาบาลรัฐบางแห่งมีคนไข้ซึมเศร้า 50 คนต่อวัน แพทย์ต้องบริหารเวลาดูแลคนไข้เสี่ยงฆ่าตัวตายก่อน

  • คนไข้หลายรายหนีความแออัดไปโรงพยาบาลเอกชน ต้องจ่ายค่าบริการหลักพันถึงหมื่นบาทต่อครั้ง ส่วนราคายารักษา ถ้าอยู่นอกบัญชียาหลักฯ มีราคาแพง แต่โรงพยาบาลต้องแบกต้นทุนเพิ่มเอง

  • ทางแก้ไขต้องเพิ่มจำนวนแพทย์จิตวิทยาให้เพียงพอกับผู้ป่วย และเพิ่มอัตรานักจิตวิทยาให้คำปรึกษาช่วยเหลือผู้ป่วยซึมเศร้าร้ายแรงถึงขั้นมีอาการจิตเภทหลอนทำร้ายร่างกายคนอื่น

ขณะนี้มีผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามีพฤติกรรมทำร้ายตัวเองจำนวนมาก หลายรายถึงขั้นเสียชีวิต เนื่องจากระบบการบริการด้านสุขภาพเข้าไม่ถึง เช่นเดียวกับสภาพแวดล้อมของสังคม เป็นอีกตัวกระตุ้นทำให้โรงพยาบาลหลายแห่งมีผู้ป่วยซึมเศร้ามาใช้บริการอย่างแออัด โดยเฉพาะในโรงพยาบาลรัฐบางแห่งมีผู้ป่วยซึมเศร้า 50 รายต่อวัน ส่วนการจ่ายยาคนไข้หลายรายต้องใช้ยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ ที่มีราคาสูง และอาจกลายเป็นปัญหาเรื้อรังได้ในอนาคต

“นพ.ปิยะวัฒน์ เด่นดำรงกุล” คณะกรรมการสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขณะนี้มีผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามาพบแพทย์จำนวนมาก เพราะผู้ป่วยมีความเข้าใจเกี่ยวกับโรค และกล้ามาพบแพทย์เพื่อรักษามากขึ้น สำหรับกลุ่มผู้ป่วยที่มาในโรงพยาบาลรัฐส่วนใหญ่มีสาเหตุจากอาการป่วยทางร่างกาย ด้านผู้ป่วยที่มาพบแพทย์ในโรงพยาบาลเอกชนจะมีอาการรุนแรงน้อยกว่า โดยมาด้วยเหตุผลสภาพแวดล้อมภายนอก

จากสถิติผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่มาพบแพทย์ ในโรงพยาบาลรัฐเฉลี่ยวันละ 50 รายต่อแห่ง ขณะที่โรงพยาบาลต่างจังหวัดที่มีแพทย์จำนวนน้อยมีผู้ป่วยซึมเศร้ามาตรวจวันละ 20-30 รายต่อแห่ง ซึ่งเฉลี่ยแพทย์ 1 คนรองรับคนไข้ได้ 20 คนต่อวัน โดยสาเหตุที่คนไข้เพิ่มขึ้นมาจากสภาวะทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง

...

แนวทางการรักษาผู้ป่วยซึมเศร้าจะต้องใช้เวลานานในการตรวจ โดยแพทย์ต้องคุยเพื่อให้คนไข้ระบายสิ่งที่อัดอั้นอยู่ภายในออกมา ทำให้การไปพบแพทย์แต่ละครั้งต้องใช้เวลานาน จนทำให้เกิดความแออัดในโรงพยาบาลรัฐหลายแห่ง โดยเฉลี่ยการตรวจคนไข้ 1 คน ต้องใช้เวลาตั้งแต่ 15 นาที ไปจนถึง 2 ชั่วโมง

“ด้วยความแออัดของการมาใช้บริการ แพทย์ที่ตรวจผู้ป่วยจะต้องบริหารเวลา ซึ่งบางกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการซึมเศร้าที่รุนแรง จนอยากจะฆ่าตัวตายหรือทำร้ายผู้อื่น แพทย์ต้องใช้เวลาในการตรวจผู้ป่วยนานกว่ากรณีอื่น แต่ด้วยปริมาณคนไข้ที่มีเข้ามามากขึ้น แพทย์จำเป็นจะต้องบริหารเวลาให้เหมาะสมกับจำนวนของบุคลากรแพทย์ที่มีอยู่จำกัด”

ดังนั้น หากมีแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญที่มาบริการผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามากขึ้นในโรงพยาบาล จะช่วยให้คนไข้แต่ละคนได้รับการดูแลที่เหมาะสม โดยเฉพาะคนไข้โรคซึมเศร้าที่มีอาการร่วมด้านจิตเภท เช่น มีอาการได้ยินเสียงตำหนิโดยที่ไม่มีใครอยู่ด้วย หรือมีภาวะน้อยเนื้อต่ำใจ รู้สึกว่าในโลกนี้ไม่มีใครเห็นด้วยกับตัวเอง ไม่สามารถทำงานอะไรได้ ทางออกเดียวคือการฆ่าตัวตาย ซึ่งถ้ามีอาการลักษณะนี้แพทย์ต้องใช้เวลาในการให้คำปรึกษากับคนไข้นานมากขึ้น

ยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติต้นทุนโรงพยาบาลต้องแบกรับ

สำหรับแนวทางการรักษา “นพ.ปิยะวัฒน์” กล่าวว่า ผู้ป่วยซึมเศร้าสามารถทำการรักษาด้วยการทานยา และปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมภายนอกให้มีความเหมาะสม แต่ถ้าปรับเปลี่ยนแล้วอาการคนไข้ไม่ดีขึ้นและมีภาวะโรคเรื้อรัง จะต้องวิเคราะห์เพื่อหาแนวทางการรักษาที่มีความซับซ้อนมากขึ้น

ด้านค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคซึมเศร้าของผู้ป่วย สามารถใช้บัตรทองรักษาได้ฟรี โดยยาที่จ่ายให้เป็นยาที่อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ส่วนกลุ่มเป็นผู้ป่วยที่มีสิทธิประกันสังคม และสิทธิการรักษาของข้าราชการ ยาที่ได้รับจะมีราคาแตกต่างกันไปตามสิทธิการรักษา

ด้วยสภาวะที่มีผู้ป่วยแออัดคนไข้หลายคนเลือกที่จะจ่ายเงินเองในการไปรักษากับโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาลที่เป็นโรงเรียนแพทย์อยู่ที่ครั้งละ 100 - 1,000 บาท ในกรณีจ่ายยาที่อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ส่วนในโรงพยาบาลเอกชนค่าใช้จ่ายการรักษา จะอยู่ที่ครั้งละ 1,000 - 10,000 บาท

สำหรับผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อยาที่ทำการรักษาในขั้นพื้นฐาน ต้องใช้ยาที่อยู่นอกเหนือบัญชียาหลักแห่งชาติ ที่มีราคาสูงขึ้น ตั้งแต่เม็ดละ 4 - 200 บาท ขณะที่ยาในบัญชียาหลักราคาเม็ดละ 50 สต. - 100 บาท หรือคนไข้บางรายต้องมีการฟื้นฟูร่างกายร่วมด้วย ตัวอย่างเช่น โรงพยาบาลรามาธิบดี คนไข้ที่ยากไร้แต่ต้องใช้ยาที่มีราคาแพงนอกบัญชียาหลัก ทางโรงพยาบาลจะต้องนำเงินในกองทุนที่ช่วยเหลือผู้ป่วยมาใช้ ซึ่งกรณีลักษณะนี้จะไม่ได้มีในทุกโรงพยาบาล

“แนวทางแก้ไขปัญหาเพื่อรองรับกับปริมาณผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่มีมากขึ้น ต้องมีการเพิ่มบุคลากรที่มาช่วยเหลือในการบริการ เช่น เปิดให้มีการอบรมแพทย์เฉพาะทางมากขึ้น หรือส่งเสริมให้บุคลากรด้านอื่น ที่มีการเรียนคล้ายกัน เช่น นักจิตวิทยาให้คำปรึกษา มามีส่วนร่วมในการดูแลผู้ป่วย เพราะตำแหน่งนี้ยังมีอัตราจำกัดในโรงพยาบาล เพราะกระทรวงสาธารณสุขมองว่าทุกอย่างต้องเป็นหน้าที่ของแพทย์ ทั้งที่จริงถ้าเพิ่มอัตรานักจิตวิทยาให้คำปรึกษา จะช่วยแบ่งเบาภาระการทำงานของแพทย์ได้มากขึ้น”

...

ขณะเดียวกันกระทรวงสาธารณสุขจะต้องเพิ่มงบประมาณในการสนับสนุนสายด่วนสุขภาพจิต เพื่อให้ผู้มีภาวะซึมเศร้าได้โทรฯ มาปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญได้สะดวกมากขึ้น เพราะบางกรณีที่มีภาวะซึมเศร้าขั้นรุนแรง ถ้าคนที่ให้คำปรึกษาไม่มีความเข้าใจ อาจยิ่งกระตุ้นให้ผู้ป่วยมีภาวะทางอารมณ์ที่รุนแรงมากขึ้นกว่าเดิม

“ที่ผ่านมาสิทธิประกันสุขภาพแห่งชาติมักจะบีบให้โรงพยาบาลจ่ายยาที่อยู่นอกเหนือยาหลักแห่งชาติ ให้กับคนไข้ที่มีการร้องเรียน โดยที่ไม่ต้องจ่ายเงิน แต่ทางกองทุนฯ จะไม่จ่ายเงินส่วนเกินให้กับโรงพยาบาล ทำให้โรงพยาบาลต้องพยายามบริหารจัดการเงินส่วนเกินเหล่านั้นเอง จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้โรงพยาบาลหลายแห่งทยอยออกจากสิทธิประกันสุขภาพ ซึ่งผลสุดท้ายผู้ที่รับเคราะห์คือ คนไข้ที่ไม่ได้รับการรักษาอย่างทั่วถึง”

ด้วยปริมาณคนไข้โรคซึมเศร้าที่มีจำนวนมากขึ้น ทำให้การบริการของแพทย์ไม่ทั่วถึง และอาจขาดประสิทธิภาพในการดูแลผู้ป่วยในบางกรณี ซึ่งสะท้อนถึงปัญหาที่กระทรวงสาธารณสุข และผู้เกี่ยวข้องควรเร่งแก้ไข มากกว่าปล่อยให้ประชาชนต้องรับเคราะห์กรรม

ผู้เขียน : ปักหมุด