ฝนถล่มเมืองกรุงตั้งแต่ช่วงหัวค่ำวันที่ 6 ก.ย. จนเกิดน้ำท่วมขังพื้นที่หลายจุด และยังคงตกต่อเนื่องในช่วงกลางดึกวันที่ 7 ก.ย. สลับหนักและเบา จนมาถึงวันที่ 8 ก.ย. โดยเฉพาะพื้นที่เขตลาดกระบัง มีปริมาณฝนตกสะสมสูงสุดในช่วงเช้า 131.5 มม. ได้ทำให้พื้นที่ลุ่มต่ำเกิดน้ำท่วมขังในทันที ขณะที่ถนนหลายจุดในกรุงเทพฯ ยังคงมีน้ำท่วมขังรอการระบาย ส่วนใหญ่ระดับน้ำลดลงต่อเนื่อง หากไม่มีฝนตกหนักกระหน่ำซ้ำลงมาอีก
สถานการณ์ฝนตกหนักน้ำท่วม ได้สร้างความกังวลใจให้กับคนกรุง จากภาพจำในอดีตกับเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ทำให้หน้าฝนปี 2565 จะประมาทไม่ได้ อีกทั้งปริมาณฝนมีมากกว่าปี 2564 แต่จากการประเมินของ “ชวลิต จันทรรัตน์” ประธานกรรมการบริหาร บริษัททีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนต์ จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำ ระบุว่า ฝนที่ตกในขณะนี้เป็นไปตามฤดูกาล ยังไม่เกี่ยวข้องกับพายุ
แต่เหตุที่ฝนในกรุงเทพฯมาเร็ว เนื่องจากร่องความกดอากาศต่ำ หรือร่องมรสุมมาจากภาคเหนือและภาคอีสานตอนบน และฝนที่ตกหนักตั้งแต่วันที่ 5 ก.ย. มาจนถึงวันนี้ มาจากความกดอากาศต่ำจากประเทศจีน ได้แผ่ลงมาจนเกิดมวลความชื้นทำให้เกิดร่องฝน โดยเฉพาะภาคตะวันออก และภาคตะวันตก
...
“ฝนตกน้ำท่วมในกรุงเทพฯ ทั้งเขตบางเขน และลาดกระบัง เพราะฝนตกเกิน 60 มิลลิเมตร ทำให้ระบายน้ำไม่ทัน รวมถึงเมืองต่างๆ ถ้าเจอฝนตกหนักลักษณะนี้ ก็ท่วมเช่นเดียวกัน อย่างเมื่อช่วงสายวันที่ 8 ก.ย. เริ่มมีความชื้นต่อเนื่องมาจากเขาใหญ่ ไล่มาจากปราจีนบุรี นครนายก ไหลเข้ามาลงร่องฝน จนเกิดฝนตกในกรุงเทพฯ ค่อนไปทางตะวันตก แถวฝั่งธน เฉียดนครปฐม จะทำให้หมู่บ้านเศรษฐกิจ และพื้นที่ต่ำ เขตบางแค ได้รับผลกระทบตั้งแต่บ่ายถึงค่ำ อาจเกิดน้ำท่วมขัง แต่หากคลองภาษีเจริญ ซึ่งรับน้ำจากที่อื่น สามารถระบายน้ำลงแม่น้ำท่าจีนได้ ก็ไม่น่าห่วง”
ขณะที่เขตลาดกระบัง ฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯ มีปัญหาการระบายน้ำออก เพราะคลองประเวศบุรีรมย์ มีปริมาณน้ำมากกว่าจะระบายลงสู่ทะเล จะต้องผ่านเขตประเวศ และพระโขนง อีกทั้งท่อระบายน้ำมีปัญหา และเครื่องสูบน้ำไม่เพียงพอ เป็นสาเหตุทำให้เขตลาดกระบัง ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำมีน้ำท่วมขัง ส่วนคลองไม่มีการปรับปรุงขุดลอกอย่างต่อเนื่อง จนเกิดปัญหา เช่นเดียวกับคลองบางบัว ทำให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่เขตบางเขน เชื่อมโยงไปถึงพื้นที่คลองถนน คลองสอง และรังสิต ยกเว้นคลองลาดพร้าว บริเวณวัดลาดพร้าว ซอยภาวนา ไม่มีปัญหาสามารถระบายน้ำออกคลองบางซื่อได้
ปัญหาน้ำท่วมในกรุงเทพฯ ขึ้นอยู่กับฝนตกหนักในจุดใด หากเกิน 60 มิลลิเมตร จะต้องใช้เวลาระบายเป็นวัน ซึ่งเป็นห่วงพื้นที่เขตบางแค โดยเฉพาะจุดน้ำท่วมซ้ำซาก ต้องเฝ้าระวังตั้งแต่วันที่ 8-9 ก.ย.นี้ ส่วนปัญหาน้ำท่วมขังบนถนนแจ้งวัฒนะ ซึ่งเป็นรอยต่อระหว่างกรุงเทพฯและนนทบุรี ต้องระบายน้ำลงคลองเปรมประชากร แต่หากขุดลอกคลองบางตลาด จะสามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมในภาพรวมได้ เพื่อให้น้ำไหลลงคลองบางตลาด อีกทางหนึ่ง
นอกจากนี้ยังกังวลภาวะน้ำทะเลหนุนสูง ช่วงวันที่ 8-11 ก.ย.นี้ จะกระทบพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาใน จ.ปทุมธานี นนทบุรี กรุงเทพฯ สมุทรปราการ นครปฐม และสมุทรสาคร ซึ่งต้องระมัดระวังน้ำเอ่อล้นตลิ่งท่วมบ้านเรือนประชาชน โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเตรียมรับมือ ไม่ให้ขยะลอยตามน้ำตามลำคลอง ทำให้เครื่องสูบน้ำเสียจากเศษขยะมาอุดตัน และควรตั้งงบประมาณในการซ่อมแซมเครื่องสูบน้ำ ซ่อมคันกั้นน้ำ และขุดลอกท่อระบายน้ำให้พร้อม
“ไม่ต้องคิดไปทำโครงการใหญ่ๆ ในการป้องกันน้ำท่วม แต่ตอนนี้ขอให้มีงบเพียงพอในการรับมือน้ำท่วม ไม่ใช่ไปทำอย่างอื่น เอาไปสร้างถนน สร้างสะพาน อย่างทุกวันนี้ และขอให้ประชาชนอย่ากังวลจะเกิดน้ำท่วมหนักเหมือนปี 54 เพราะปริมาณน้ำฝนไม่ถึงขนาดนั้น แต่พื้นที่ลุ่มต่ำยังคงท่วมยาวนาน 3 เดือนเหมือนทุกปี ในพื้นที่บางบาล เสนา ผักไห่ โผงเผง และปีนี้ในกรุงเทพฯ ให้ระวังพื้นที่ลาดกระบัง ประเวศ สะพานสูง อาจเกิดน้ำท่วมยาวนาน”