ปีนี้ฝนชุกจะตกหนักมากขึ้น ตั้งแต่เดือน ก.ย.เป็นต้นไป และอาจตกยาวไปถึงเดือน พ.ย. ทุกฝ่ายต้องเตรียมพร้อมรับมือในการบริหารจัดการน้ำ เพราะประเมินกันว่าปลายปี 2565 น้ำจะท่วมหนัก ในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะผลกระทบจากพายุหมุนเขตร้อนจำนวน 2 ลูกในช่วงปลาย ส.ค. ถึง ก.ย. มีความเป็นไปได้ทั้งดีเปรสชัน โซนร้อนและไต้ฝุ่น มีโอกาสสูงจะเคลื่อนผ่านบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ

ไม่ใช่แค่น้ำท่วม จากสภาพอากาศในภาวะสุดขีด ยังก่อให้เกิดภัยแล้ง ไฟป่า และคลื่นความร้อน เป็นเรื่องใหม่กำลังเป็นที่สนใจของหลายภูมิภาคทั่วโลก ไม่มีประเทศใดรอดพ้นจากผลกระทบจากภัยคุกคามเหล่านี้ เป็นที่มาของหนังสือ “การประเมินเหตุการณ์ในภาวะสุดขีดภายใต้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” จากประสบการณ์การเป็นผู้เชี่ยวชาญในคณะทำงานระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) มากว่า 10 ปีของ ”รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์” ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ มหาวิทยาลัยรังสิต และรองประธานมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับสังคมไทย ในการเตรียมพร้อมรับมือภัยทั้งการป้องกัน และปรับตัว ก่อนจะสายเกินแก้

...

อีกทั้งปี 2565 หลายพื้นที่ในประเทศไทยมีความเสี่ยงสูงจะเกิดน้ำท่วมหนัก จนสร้างความกังวลให้กับ ”รศ.ดร.เสรี” ต้องออกมาเตือนเพื่อไม่ให้ประมาท แต่อย่าตระหนก และตอกย้ำด้วยรายงานการประเมินฉบับที่ 6 “แพร่หลาย รวดเร็ว รุนแรง” (Widespread, rapid, and intensify) ของคณะทำงานระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) เมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2564 บ่งชี้ว่าโลกกำลังร้อนขึ้นด้วยอัตราเร่งที่แตกต่างกันในแต่ละภูมิภาค และค่อนข้างชัดเจนว่ามนุษย์เป็นตัวการที่สำคัญในการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ส่งผลให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้น ตามมาด้วยปริมาณฝนที่เพิ่มขึ้น และเหตุการณ์ที่รุนแรงมากขึ้นในภูมิภาคต่างๆ จากความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศในอนาคต

ตามมาด้วยแอนโตนีโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ ได้ออกมาเตือนถึงรหัสแดงต่อมวลมนุษยชาติ (Code red for humanity) เน้นย้ำถึงภัยคุกคามจากสภาพอากาศในภาวะสุดขีด เป็นความท้าทายต่อโลกในอนาคต แต่ผลการประชุมโลกร้อน COP26 เมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ ที่ผ่านมา กลับทำให้สังคมโลกค่อนข้างผิดหวัง ภายหลังอาลก ชาร์มา ประธานที่ประชุมออกมากล่าวว่า “ผลการประชุม COP26 ไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นชัยชนะ หรือความพ่ายแพ้ แต่ถ้าเป็นชัยชนะก็เป็นชัยชนะที่เปราะบาง และการที่จะบรรลุข้อตกลงปารีสในการจำกัดอุณหภูมิเฉลี่ยโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ภายในปี ค.ศ. 2100 นั้นมีพลังค่อนข้างอ่อน”

แม้การประชุม COP26 มีการพูดถึงความร่วมมือต่างๆ ในการลดใช้ถ่านหิน การเร่งรัดให้มีการจัดทำรายงานลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การยุติการตัดไม้ทำลายป่า ภายในปี ค.ศ. 2030 และลดการปล่อยแก๊สมีเทนลง 30% ภายในปี ค.ศ. 2030 ก็ตาม

การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ และปริมาณฝนรายจังหวัด
การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ และปริมาณฝนรายจังหวัด

...

ล่าสุดศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ และภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้ทำการประเมินความเสี่ยง และความเปราะบางของประเทศไทย โดยการย่อส่วน และปรับแก้ข้อมูล บนพื้นฐานข้อมูลล่าสุดของ IPCC พบว่า ประเทศไทยในอนาคต มีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากรหัสแดง 1.อุณหภูมิจะสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีโอกาสเกิดคลื่นความร้อนถี่ และรุนแรงขึ้น 2.ตามมาด้วยความรุนแรงของภัยแล้งมากขึ้น

3.ในฤดูฝนจะมีฝนตกหนักมากขึ้นทั้งความถี่ และความรุนแรง 4.ตามมาด้วยอุทกภัยที่รุนแรงมากขึ้น และ 5.ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น จะทำให้พื้นที่ริมชายฝั่งทะเล โดยเฉพาะ กทม. และปริมณฑล ต้องเผชิญกับเหตุการณ์น้ำท่วมชายฝั่งที่รุนแรงมากขึ้น.