“มนุษย์ต่างดาว” สิ่งมีชีวิตนอกโลก หรือเอเลียน มีจริงหรือไม่ จากข้อถกเถียงของชาวโลกแวดวงต่างๆ ในมุมมองหลากหลายมายาวนานมาก และมีความพยายามจะหาคำตอบมาให้ได้ ตั้งแต่การส่งยานสำรวจอวกาศ ไปยังดาวเคราะห์และวัตถุในระบบสุริยะอื่นๆ การค้นหาดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะอันห่างไกล

รวมถึงการพยายามค้นหาสัญญาณวิทยุจากห้วงอวกาศที่แปลกไปจากธรรมชาติ ผ่านโครงการ SETI (Search for ExtraTerrestrial Intelligence) หลายโครงการทั่วโลก หรือเรียกกันว่าการค้นหาสัญญาณจากมนุษย์ต่างดาว เริ่มมาตั้งแต่ช่วงปี ค.ศ. 1900

เมื่อเวลาผ่านไปมีการพัฒนาและปรับปรุงใช้เทคโนโลยี เข้ามาช่วยในการค้นหาสัญญาณ ตั้งแต่การใช้เครื่องซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ ช่วยวิเคราะห์ข้อมูล และเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปมีส่วนร่วมค้นหาสัญญาณผ่านโครงการ SETI@home จนปัจจุบันยังไม่สามารถค้นพบหลักฐานยืนยันได้ถึงการมีอยู่ของมนุษย์ต่างดาว หรือสิ่งมีชีวิตอันทรงภูมิปัญญาจากต่างดาว ทำให้มนุษย์โลกยังคงเป็นสิ่งมีชีวิตอันทรงภูมิปัญญาเพียงหนึ่งเดียวในจักรวาล

อีกหนึ่งโครงการมีชื่อว่า METI (Messaging extraterrestrial intelligence) พิสูจน์การมีอยู่ของสิ่งมีชีวิตจากต่างดาว แต่แตกต่างเน้นการระบุตำแหน่งและเรียกหาให้มนุษย์ต่างดาวนอกอวกาศได้ทราบถึงการมีอยู่ของสิ่งมีชีวิตบนโลก เริ่มจากการส่งแผ่นโลหะฉลุลายสัญลักษณ์ต่างๆ ติดอยู่กับยาน

ต่อมาองค์การนาซา ได้ส่งแผ่นเสียงทองคำบอกเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นบนโลก เหมือนการปล่อยจดหมายในขวดแก้วให้ล่องลอยไป ทำให้นักวิทยาศาสตร์เลือกใช้วิธีอื่น ในการส่งข้อความผ่านสัญญาณวิทยุในหลายกระบวนการ ท่ามกลางการท้วงติงเกรงว่า อาจก่อหายนะนำพามนุษย์ต่างดาวบุกรุกเข้ามาโลกมนุษย์

...

ล่าสุด ดร.ศุภชัย อาวิพันธุ์ นักวิจัย กลุ่มวิจัยดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ และชีวดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ร่วมกับนักวิจัยมหาวิทยาลัยฮอกไกโด ได้ใช้ฐานข้อมูลดาวฤกษ์จากกล้องโทรทรรศน์อวกาศ Gaia DR2 คำนวณหาโอกาสที่โลกจะถูกตรวจพบจากสิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญานอกโลก ด้วยเทคนิคไมโครเลนส์ทั่วทั้งท้องฟ้า พบว่ามีโอกาสเพียง 14 ครั้งต่อปี เป็นอีกหนึ่งเหตุผลทางดาราศาสตร์ในการพยายามอธิบายและตอบโจทย์ข้อสงสัย “ทำไมจึงยังไม่เจอมนุษย์ต่างดาว” ในงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Monthly Notices of the Royal Astronomical Society

งานวิจัยนี้พบว่า ดาวฤกษ์บริเวณระนาบกาแล็กซีทางช้างเผือก มีโอกาสที่จะถูกตรวจพบโลกมากกว่าบริเวณอื่นบนท้องฟ้า เมื่อรวมอัตราการถูกตรวจพบทั่วทั้งท้องฟ้าแล้วพบว่า โลกมีโอกาสถูกตรวจพบจากสิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญาเพียงแค่ 14 ครั้งต่อปี ถือว่าเป็นอัตราที่ต่ำมาก เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนดาวฤกษ์ในกาแล็กซีทางช้างเผือกที่มีมากกว่า 4 แสนล้านดวง และการที่โลกของตั้งอยู่ในบริเวณที่ถูกค้นพบได้ยาก ทำให้สิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญาไม่พยายามที่จะติดต่อหรือเดินทางมายังโลก อาจเป็นเหตุให้ปัจจุบันยังคงไม่สามารถค้นพบสัญญาณของสิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญาเหล่านั้น

จากผลการคำนวณ เปรียบเทียบกับดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่ถูกค้นพบแล้วในปัจจุบัน ดาวเคราะห์ MOA-2007-BLG-192L b เป็นดาวเคราะห์ที่อยู่ในบริเวณที่มีโอกาสตรวจพบโลกได้สูงที่สุด แต่อาจมีอุณหภูมิพื้นผิวที่ต่ำเกินกว่าที่จะมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ได้ ขณะที่ดาวเคราะห์ GJ 422 b ตั้งอยู่ในบริเวณที่มีโอกาสตรวจพบโลกได้สูงเป็นอันดับสอง เป็นดาวเคราะห์หิน มีอุณหภูมิพื้นผิวที่สิ่งมีชีวิตสามารถอาศัยอยู่ได้ ดังนั้นดาวเคราะห์ GJ 422 b จึงเป็นหนึ่งในดาวเคราะห์ที่น่าสนใจ ในการค้นหาสัญญาณจากสิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญาในอนาคต

สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งบริเวณบนท้องฟ้า ซึ่งเรียกว่า Earth Microlensing Zone (EMZ) มีบางส่วนซ้อนทับกับบริเวณบนท้องฟ้า จะสามารถเห็นโลกโคจรผ่านหน้าดวงอาทิตย์ ได้ ทำให้สิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญาในบริเวณดังกล่าว จะสามารถตรวจพบโลกทั้งด้วยเทคนิคการผ่านหน้า และเทคนิคไมโครเลนส์ได้

ทำให้บริเวณ Earth Microlensing Zone อาจน่าสนใจสำหรับนักดาราศาสตร์ ทำการค้นหาสัญญาณของสิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญา ภายใต้โครงการ SETI นำไปสู่ความร่วมมือกับนักดาราศาสตร์นานาชาติในอนาคต เช่น ใช้หอสังเกตการณ์ดาราศาสตร์วิทยุแห่งชาติของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ร่วมค้นหา อาจหันกล้องโทรทรรศน์วิทยุ ไปยังดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะบางดวง และค้นพบสัญญาณวิทยุจากสิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญา กำลังพยายามติดต่อมาหามนุษย์ที่อาศัยอยู่บนโลกได้เช่นกัน 

...

หนึ่งในนักวิทยาศาสตร์ที่เชื่อว่ามนุษย์ต่างดาวมีจริง “ดร.ก้องภพ อยู่เย็น” อดีตวิศวกรองค์การนาซา ผู้เชี่ยวชาญด้านพายุสุริยะและปรากฏการณ์ของจักรวาล บอกว่า การเชื่อว่ามนุษย์ต่างดาวมีจริง เป็นเรื่องประสบการณ์ของแต่ละคนที่เจอมา ขณะที่คนส่วนใหญ่ไม่เคยเห็นอาจมองว่าเป็นเรื่องเพ้อเจ้อ ทำให้พูดในเรื่องนี้ไม่ได้มากและเป็นเรื่องของความมั่นคง แม้มีหลายคนเคยเห็นเคยเจอมา หากพูดไปคนก็จะแตกตื่น และไม่สามารถพูดหว่านล้อมให้นักวิทยาศาสตร์เชื่อได้ หรือต่อให้พูดทางสื่อ ก็ยังมีการปฏิเสธไม่รับฟัง เพราะยังหมกมุ่นในความเห็นของตัวเอง

“เรื่องมนุษย์ต่างดาว เป็นประสบการณ์เฉพาะคน เหมือนเรื่องผี วิญญาณ จนถูกมองว่าบ้า ว่าเพี้ยน เพราะเมื่อคนไม่เปิดใจ ก็จะมีการวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ นานา และโครงการพิสูจน์การมีอยู่ของมนุษย์ต่างดาวเหล่านี้ ใช้สมมติฐานที่ตั้งไว้แล้วไปตีกรอบสิ่งมีชีวิตนอกโลก อาจเป็นอย่างโน้นอย่างนี้ แต่อาจนอกเหนือกว่านี้ อาจใช้คาร์บอนไดออกไซด์ที่ไม่ใช่ออกซิเจนหายใจก็ได้ เป็นการใช้กรอบมนุษย์โลกเป็นที่ตั้ง ทำให้แต่ละโครงการไม่ประสบความสำเร็จ”

ในกลุ่มคนที่เจอมนุษย์ต่างดาวเจอได้ในหลายรูปแบบ อาจในความฝันดูเหมือนไม่จริง แต่ก็มีอยู่จริงเห็นได้ในอีกมิติมีการสื่อสารระหว่างกัน หากมนุษย์ยังปิดกั้นตัวเองอยู่ คิดว่าใหญ่ที่สุดในจักรวาล จะทำให้มนุษย์ต่างดาวไม่ปรากฏให้เห็น ทั้งๆ มีอยู่ทั่วทั้งบนท้องฟ้า บนดินและใต้ดิน จะต้องมีใจที่เปิดกว้างจะสามารถเห็นมนุษย์ต่างดาวได้

รูปวงกลมและเรขาคณิต อาจเกี่ยวข้องกับการมาเยือนของมนุษย์ต่างดาว
รูปวงกลมและเรขาคณิต อาจเกี่ยวข้องกับการมาเยือนของมนุษย์ต่างดาว

...

ส่วนงานวิจัยที่บอกว่าโลกมีโอกาสถูกตรวจพบจากมนุษย์ต่างดาวเพียงแค่ 14 ครั้งต่อปีนั้น ในความจริงมีมากกว่านั้น สามารถเจอในทุกรูปแบบและสื่อสารในหลายวิธี หรือแม้แต่การทำสัญลักษณ์ และไม่ควรตั้งสมมติฐานว่ามนุษย์ต่างดาวยังไม่เข้ามาในโลก เพราะความเป็นจริงได้เข้ามาแล้ว ไม่ใช่อยู่นอกโลก

“สิ่งสำคัญอยู่ที่ใจต้องเปิด นอกเหนือความเชื่อของตัวเอง อย่างที่เขากะลา เพราะเปิดใจ เปิดการสื่อสาร จึงได้เจอ แต่คนทั่วไปหากยังลังเลสงสัย ถามว่าจะเจอได้อย่างไร อย่าเอาวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันมากำหนดกรอบ เพราะเป็นเรื่องเฉพาะคน หากกล้าพิสูจน์ก็เจอ แต่ต้องศึกษา และพิสูจน์ด้วยตัวเอง อย่าไปฟังเรื่องโฆษณาชวนเชื่อจะถูกหลอกได้ง่าย และอย่างมงาย”.