รัฐบาลภายใต้การนำของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ถูกจับตาว่าจะหมดหน้าที่เมื่อไร เพราะมีวาระร้อนว่าจะถูกชี้ชะตาในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนั้นครบ 8 ปี โดยนับจากช่วงเวลาใด ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 และยังมีประเด็นเรื่องเสถียรภาพของรัฐบาล ที่มีการเล่นเกมการเมืองภายในกันเอง โดยล่าสุดเป็นประเด็นร้อนทางการเมือง กรณีที่ประชุมสภาฯ ล่มเป็นครั้งที่ 3 ในการพิจารณา ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. … นับเป็นปรากฏการณ์สภาฯ ล่มกว่า 20 ครั้งในรอบ 3 ปี ขณะที่โฆษกรัฐบาล “บิ๊กตู่” ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 เปลี่ยนมาแล้ว 7 คน ซึ่งมีคำถามเกิดขึ้นว่าเป็นความพยายามในการแก้ปัญหาการสื่อสารผลงานรัฐบาลมากเกินไปหรือไม่
ไม่ว่าการพิจารณาเรื่องวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจะนับจากตอนไหน แต่เสถียรภาพของรัฐบาลจากสภาที่ล่มบ่อยครั้ง เมื่อมีการพิจารณากฎหมายที่สำคัญ เป็นอย่างไร แต่สิ่งที่แน่นอนคือ มีคำถามมากมายเกี่ยวกับผลงานรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ในช่วง 8 ปี ที่ผ่านมา
เมื่อย้อนดูผลงานรัฐบาลชุดนี้ “ผศ.วันวิชิต บุญโปร่ง” อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ให้ความเห็นว่า 8 ปี ในการเป็นผู้นำรัฐบาลของบิ๊กตู่ นับตั้งแต่ 22 พฤษภาคม 2557 เป็น “8 ปี ที่สูญเปล่า” เพราะผลงานภาพรวมสอบตก โดยเฉพาะ 2-3 ปีหลัง ปัญหาเศรษฐกิจส่งผลกระทบหนักต่อประชาชน แต่รัฐมนตรีบางคนที่มาแก้ปัญหากลับขาดประสิทธิภาพ ขณะที่คนมีความสามารถก็ไม่อยากเข้ามาช่วยทำงาน เพราะมีการแทรกแซงจากผู้ใหญ่ จนทำให้ไม่สามารถทำงานได้ตามเป้าหมาย
“การแทรกแซงการทำงานของผู้ใหญ่ ตามแบบระบบราชการทำให้รัฐบาลบิ๊กตู่ ขาดประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุดและรวดเร็ว จนมีการเปรียบเทียบผู้นำรัฐบาลกับนักการเมืองรุ่นใหม่ เช่นมีการเปรียบเทียบบิ๊กตู่กับชัชชาติ แสดงให้เห็นถึงทัศนคติของประชาชน ต้องการความเปลี่ยนแปลง ไม่ต้องการผู้นำที่ทำงานตามแบบระบบราชการเหมือนเดิม”
...
ถ้าวิเคราะห์ผลงานบิ๊กตู่ ช่วงแรกหลังรัฐประหารการเป็นผู้นำคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ช่วงปี 2557 ถึงต้นปี 2562 มีท่าทีการทำงานที่คำนึงถึงประชาชนมากกว่าช่วงหลัง เห็นได้จากการจะทำนโยบายอะไรก็ฟังเสียงประชาชน หากมีการต่อต้านจะล้มเลิกหรือปรับเปลี่ยนนโยบายตามกระแสสังคม ส่วนท่าทีการเป็นผู้นำของบิ๊กตู่ พยายามวางคาแรกเตอร์ให้เป็นคนตลก แต่งเพลงเพื่อลดความตึงเครียด ลบภาพการเป็นผู้นำทหาร แต่สุดท้ายภาพลักษณ์ที่พยายามทำขึ้นกลับย้อนแย้งกับการกระทำตอนนี้
ขณะที่ผลงานหลังมีการเลือกตั้ง จนได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง เห็นถึงปัญหาที่ชัดเจนมากขึ้น ในการจัดสรรตำแหน่งทางการเมืองให้กับพรรคร่วมรัฐบาล โดยไม่ได้คำนึงถึงความเหมาะสม ตัวอย่างเช่นกระทรวงเกรดเอ มีการจัดสรรให้กับแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล จนทำให้การแก้ปัญหาเพื่อประชาชนไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากบุคลากรขาดความสามารถ และนับวันปัญหาจะทวีความรุนแรงมากขึ้น
“ถ้าเทียบคุณภาพของคณะรัฐมนตรีในการนำของบิ๊กตู่ ช่วงที่เป็น คสช. จะมีคุณภาพมากกว่าช่วงหลัง เพราะการทำงานมีความเด็ดขาด ไม่มีการแทรกแซงมากเหมือนกับตอนนี้ จุดอ่อนนี้ทำให้การบริหารราชการของรัฐบาลชุดนี้ผิดพลาด และทำให้ประชาชนเริ่มเกิดความเบื่อหน่ายมากขึ้น”

บิ๊กตู่ เส้นทางลงจากอำนาจไม่ง่าย
“ผศ.วันวิชิต” วิเคราะห์อีกว่า สิ่งที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของประชาชนอย่างมากคือ การที่บิ๊กตู่ไม่ยอมรับการตรวจสอบในหลายกรณี แต่อ้างกฎหมายเพื่อเป็นเกราะกำบัง เช่น การตรวจสอบย้อนหลังกรณี จีที 200 และความไม่โปร่งใสเรื่องทรัพย์สินของพวกพ้อง ซึ่งตรงข้ามกับคนที่เห็นต่าง จะมีการตรวจสอบทางกฎหมายอย่างเข้มงวด
แต่สิ่งที่เป็นปัญหาชัดเจนคือ ความล้มเหลวในการสื่อสารของบิ๊กตู่ เพราะใน 8 ปี มีการเปลี่ยนโฆษกรัฐบาลมาแล้ว 7 คน แสดงให้เห็นถึงปัญหาในการสื่อสารของผู้นำอย่างชัดเจน จนทำให้รัฐบาลมีภาพการทำงานที่ล้มเหลว เพราะไม่สามารถสื่อสารกับประชาชนได้ตามเป้าหมาย
“การพิจารณาวาระนายกฯ ครบ 8 ปี หากบิ๊กตู่รอด การอยู่ในตำแหน่งต่อก็จะขาดประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากพรรคร่วมรัฐบาลต่างก็อยากได้คะแนนเสียงในการเลือกตั้งครั้งถัดไป และต้องการผู้นำที่มีประสิทธิภาพมากกว่านี้ เพราะภาพลักษณ์บิ๊กตู่ เริ่มมีปัญหามากขึ้นเรื่อยๆ”
บนเส้นทางลงจากอำนาจ แม้จะผ่านด่านการพิจารณานายกฯ ครบ 8 ปี แต่เส้นทางการเมืองของบิ๊กตู่ จะต้องปรับเปลี่ยนตัวเอง เพื่อนำไปสู่การวางมือ ที่ทำให้เกิดความขัดแย้งในสังคมน้อยที่สุด.