จริงหรือ? โกตาบายา ราชปักษา อดีตประธานาธิบดีศรีลังกา วัย 73 ปี พร้อมภรรยา อาจเดินทางจากสิงคโปร์มายังประเทศไทยในวันพฤหัสบดี 11 ส.ค.นี้ ภายหลังหลบหนีออกจากประเทศจากเหตุประท้วงรุนแรงในศรีลังกา เพราะประชาชนเดือดร้อนหนักต้องเผชิญวิกฤติเศรษฐกิจครั้งเลวร้ายที่สุด จนทนไม่ไหวลุกฮือบุกบ้านพักราชปักษา ภายในทำเนียบประธานาธิบดี เมื่อวันที่ 10 ก.ค.2565 เพื่อกดดันให้ลงจากตำแหน่ง เนื่องจากบริหารประเทศผิดพลาด ทำให้เศรษฐกิจประเทศตกต่ำลง เพราะตระกูลราชปักษา เล่นพรรคเล่นพวกแบ่งอำนาจกันในหมู่เครือญาติ

ขณะกลุ่มผู้ประท้วงบุกเข้าบ้านพักด้วยความโกรธแค้น ทางทีมอารักขาได้นำตัวราชปักษา ไปยังสถานที่ปลอดภัย จากนั้นได้เดินทางออกจากศรีลังกาด้วยเครื่องบินทหาร ไปยังมัลดีฟส์ เมื่อวันที่ 13 ก.ค. 2565 ก่อนเดินทางด้วยเครื่องบินเหมาลำมาประเทศสิงคโปร์ เมื่อวันที่ 14 ก.ค. 2565 และยอมยื่นใบลาออกจากตำแหน่งผ่านทางอีเมล ส่งผลให้ราชปักษา ไม่มีเอกสิทธิ์คุ้มครองทางกฎหมายในฐานะประมุขประเทศอีกต่อไป

เมื่อราชปักษา มาถึงประเทศสิงคโปร์ ทางกระทรวงต่างประเทศของสิงคโปร์ ได้ออกแถลงการณ์ยืนยันว่า ราชปักษาเดินทางเข้ามาเป็นการส่วนตัว ไม่ได้มาเพื่อขอลี้ภัย และไม่ได้รับอนุญาตให้ลี้ภัยใดๆ ต่อมาทางการสิงคโปร์ มีการขยายเวลาใบอนุญาตพำนักระยะสั้นเพิ่มอีก 14 วันให้กับราชปักษา สามารถพำนักได้จนถึงวันที่ 11 ส.ค. 2565 กระทั่งล่าสุดสำนักข่าวต่างประเทศ อ้างแหล่งข่าวว่าราชปักษา อาจเดินทางถึงประเทศไทยในวันพฤหัสบดีนี้ เพื่อหาที่พักพิงชั่วคราว 

...

“ศ.กิตติคุณ ดร.ไชยวัฒน์ ค้ำชู” ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เห็นว่า หากอดีตประธานาธิบดีศรีลังกา บินมาไทยจริง ทางการไทยไม่สามารถทำอะไรได้ เพราะไม่ได้มีหมายจับ หรือเป็นอาชญากร อีกทั้งรัฐบาลศรีลังกา ถือว่าเป็นพวกของราชปักษา ไม่ได้เอาผิดทางกฎหมายใดๆ แต่การเข้ามาไทย แม้มาหาที่พักพิงชั่วคราว อาจสร้างความไม่พอใจให้กับประชาชนชาวศรีลังกา คงต้องดูท่าทีของทางการไทย เพราะอาจจะถูกรังควานหรือไม่

“ยกเว้นราชปักษา ยังไม่ลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีศรีลังกา เพราะในแง่ของกฎหมายระหว่างประเทศ จะได้รับความคุ้มครองในทางการทูต แต่สงสัยทำไมสิงคโปร์ ไม่ให้ราชปักษาอยู่ต่อ และหากเข้ามาไทย ก็สามารถทำได้ในฐานะนักท่องเที่ยวทั่วไป ก่อนเดินทางไปยังประเทศอื่นเพื่อขอทำเรื่องลี้ภัย เพียงแต่ว่ารัฐบาลไทยจะต้องไม่ออกมาต้อนรับขับสู้ หากไม่ต้องการมีประเด็น และคงจะบอกไปว่าไม่มีความสัมพันธ์ใดกับไทย อีกอย่างเขาก็ไม่ใช่อาชญากร จึงทำอะไรไม่ได้”

ขณะที่ "ธานี แสงรัตน์" อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ชี้แจงว่า การเดินทางเข้าประเทศไทยของอดีตประธานาธิบดีศรีลังกา เป็นการร้องขอจากรัฐบาลศรีลังกาชุดปัจจุบัน เป็นการพำนักชั่วคราว ไม่ได้มีความประสงค์จะลี้ภัยทางการเมืองในประเทศไทยแต่อย่างใด และจะเดินทางไปยังประเทศอื่นต่อไป

ทั้งนี้ ไทยได้พิจารณาคำขอดังกล่าวบนพื้นฐานของความสัมพันธ์ฉันมิตร ระหว่างไทยกับศรีลังกา และอดีตประธานาธิบดีศรีลังกา เป็นผู้ถือหนังสือเดินทางทูต ซึ่งได้รับการยกเว้นการตรวจลงตราไม่เกิน 90 วัน ตามข้อตกลงว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางทูต และราชการ ปี 2556.