- หลอกขายแอร์มินิ คุณภาพสินค้าไม่ตรงปกกับที่โฆษณาบนโลกออนไลน์ ใช้ได้ไม่กี่ครั้งพัง หลังใช้แผนจูงใจเหยื่อด้วยราคาถูกเก็บเงินปลายทาง หว่านล้อมด้วยการชวนเชื่อเกินจริง
- สภาองค์กรของผู้บริโภค เตือนทำกันเป็นขบวนการหลอกลวง ส่วนใหญ่เป็นชาวจีน มีการเช่าโกดังเก็บสินค้า ตบตาเจ้าหน้าที่ด้วยที่อยู่ปลอม หลอกให้โอนเงินเข้า “บัญชีม้า” โอนเงินออกภายใน 15 นาที
- “ตำรวจไซเบอร์” พบคดีกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ถูกหลอกลวงขายสินค้าไม่ตรงปก เปิดช่องแจ้งความผ่านเว็บไซต์ หวังเช็กบิลแก๊งตุ๋นออนไลน์ข้ามชาติรายใหญ่ หลังพบทำผิดต่อเนื่อง
แอร์พกพาขนาดมินิ กำลังสร้างกระแสอวดคุณภาพว่าเป็นนวัตกรรมจากญี่ปุ่น นำมาลดราคากระหน่ำ เป็นหนึ่งในสินค้าที่มีผู้เสียหายเข้ามาร้องเรียนกับ สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) จำนวนมาก โดยผู้เสียหายส่วนใหญ่ร้องเรียนกรณีสินค้าไม่ตรงกับที่โฆษณาไว้บนโลกออนไลน์ ซึ่งที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ตำรวจ มีการสอบสวนจับกุมผู้กระทำผิด จนพบว่าขบวนการนี้เป็นชาวต่างชาติ ใช้วิธีการโปรโมตสินค้าให้เหยื่อหลงเชื่อ เข้าข่ายความผิดฐานหลอกลวงประชาชน
จากกรณีนี้ “ทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์” ได้ทำการตรวจสอบไปยังเว็บไซต์ขายแอร์มินิ มีการโฆษณาสินค้าอ้างว่า นำเข้าจากญี่ปุ่น สามารถทำความเย็นได้ถึง 23 องศา เพียงเติมน้ำลงไปในเครื่อง ไม่นานความเย็นฉ่ำจะออกมาอย่างรวดเร็ว โดยสินค้าลดกระหน่ำกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ ถ้าหากซื้อผ่านเว็บไซต์จะลดราคาจากเครื่องละ 1,250 บาท เหลือ 720 บาท แต่ถ้าซื้อ 2 เครื่อง จะลดราคาเหลือ 1,240 บาท ทำให้มีผู้หลงเชื่อซื้อสินค้าจำนวนมาก แต่สิ่งที่ผิดปกติบนเว็บไซต์คือ ไม่มีเบอร์โทรศัพท์ติดต่อผู้ขาย มีเพียงอีเมลและเว็บไซต์ สำหรับผู้ซื้อถ้าสนใจต้องกรอกที่อยู่ เบอร์โทรฯ ลงบนเว็บไซต์ จากนั้นผู้ขายจะดำเนินการส่งสินค้าและเก็บเงินปลายทาง
...
ด้วยภาพสินค้า มีคนต่อคิวจนแน่นห้างซื้อสินค้า และการโปรโมตขายบนโลกออนไลน์ ทำให้เข้าถึงประชาชนได้จำนวนมาก จนมีผู้หลงเชื่อซื้อสินค้า โดย “รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์” อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยโพสต์เตือนไว้ในเพจส่วนตัว ถึงการโพสต์ภาพคนที่มาต่อคิวยาวเพื่อซื้อแอร์มินิในห้างสรรพสินค้า แต่เมื่อตรวจสอบภาพถ่ายพบว่าเป็นภาพห้างสรรพสินค้าในประเทศเวียดนาม
ส่วนแอร์มินิ ที่อ้างว่านำเข้าจากญี่ปุ่น “รศ.ดร.เจษฎา” ให้ข้อมูลกับ “ทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์” ว่า มีเพื่อนที่ซื้อมาใช้งาน และพบว่าคุณภาพสินค้าไม่ตรงกับที่โฆษณา เพราะสินค้าจริงเป็นเหมือนพัดลมธรรมดา ที่ต้องเติมน้ำเย็นลงไปในเครื่อง และใช้พัดลมเป่าให้ไอความเย็นของน้ำออกมา ซึ่งไม่สามารถทำความเย็นได้อย่างที่โฆษณา ส่วนวัสดุที่ใช้เป็นพลาสติกที่มีคุณภาพต่ำ ทำให้ใช้งานได้ไม่กี่ครั้ง
“ที่ผ่านมามีคนหลงเชื่อซื้อสินค้าจำนวนมาก เพราะคิดว่าถูกและดี โดยขบวนการนี้มักหลอกขายผ่านเฟซบุ๊ก หรือติ๊กต่อก แต่ถ้าสังเกตเนื้อหาคำโฆษณาจะเห็นว่ามีการใช้ภาษาแปลกๆ เนื่องจากผู้กระทำผิดส่วนใหญ่เป็นชาวจีน ที่ใช้โปรแกรมแปลภาษาอัตโนมัติ ซึ่งก่อนหน้านี้มีการหลอกขายสินค้าที่ไม่ตรงปกมาแล้ว 1 – 2 ปี แต่เมื่อถูกจับแล้วก็กลับมาเปิดใหม่ โดยจะเปลี่ยนสินค้าไปเรื่อยๆ”
ผู้ที่หลงเชื่อส่วนใหญ่มักถูกจูงใจด้วยภาพสินค้าที่มีคุณภาพ และเนื้อหาโฆษณาว่าสินค้ามีราคาถูก ทำให้ตัดสินใจซื้อรวดเร็ว สำหรับแนวทางป้องกันของผู้บริโภค ควรซื้อสินค้าออนไลน์ในร้านที่น่าเชื่อถือ มีเบอร์โทรฯ และหน้าร้านที่สามารถตรวจสอบได้ แต่กรณีแอร์มินิ ไม่มีแม้แต่เบอร์โทรฯ ติดต่อ จึงเสี่ยงที่จะถูกหลอก ดังนั้นผู้ซื้อควรตระหนักไว้เสมอว่า สินค้าราคาถูกและดีไม่มีในโลก ซึ่งควรเพิ่มความระมัดระวังทุกครั้งเมื่อซื้อสินค้าออนไลน์

หลอกลวงเป็นขบวนการให้โอนเข้า “บัญชีม้า”
จากสถิติการร้องเรียนของ สภาองค์กรของผู้บริโภค พบว่า สินค้าอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า มีผู้บริโภคร้องเรียนเข้ามามากที่สุด เนื่องจากสินค้าที่สั่งออนไลน์มีคุณภาพต่ำกว่าที่โฆษณาไว้ ซึ่ง “ภัทรกร ทีปบุญรัตน์” หัวหน้างานศูนย์คุ้มครองและพิทักษ์ผู้บริโภค แบบเบ็ดเสร็จ (one stop service) สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) ให้ความเห็นว่า กรณีแอร์มินิเข้าข่ายการหลอกลวง เพราะก่อนหน้านี้มีขบวนการชาวจีนที่ทำในลักษณะเดียวกัน โดยจะโฆษณาขายจักรยานไฟฟ้า เตารีดไฟฟ้า ซึ่งจะโพสต์ขายผ่านเฟซบุ๊ก
ที่ผ่านมาหน่วยงานได้ร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุมคนร้าย ส่วนใหญ่เป็นชาวจีน ที่มาเช่าโกดังเก็บสินค้า เมื่อสืบหาไปยังที่อยู่ตามที่ระบุไว้บนกล่องสินค้าที่ส่งมา กลับพบว่าเป็นโกดังที่เปิดไว้รับเฉพาะสินค้าที่ส่งคืน โดยคนร้ายจะเปิดโกดังไว้ 2 แห่ง เพื่อไม่ให้เจ้าหน้าที่ตามเจอ
ส่วนบัญชีธนาคารที่คนร้ายให้ลูกค้าโอนเงินจะเป็น “บัญชีม้า” ที่มีการหลอกให้คนไทยเปิดบัญชีไว้ โดยหลังจากลูกค้าโอนเงินมา จะทำการโอนเงินดังกล่าวออกจากบัญชีภายใน 15 นาที คนร้ายบางรายมีการโอนเงินผ่าน “บัญชีม้า” ถึง 3 – 4 บัญชี เพื่อป้องกันไม่ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจสอบเจอ
...
“ราคาสินค้าที่ขบวนการหลอกลวงขายในออนไลน์ มีตั้งแต่ 1,000 – 2,000 บาท แต่ส่วนใหญ่ผู้บริโภคที่ได้รับสินค้าไม่ตรงปก มักไม่ไปแจ้งความ เพราะมองว่าเป็นเรื่องยุ่งยาก ทำให้ขบวนการนี้ยังทำอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่จริงคนร้ายมีความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน ขณะเดียวกันเมื่อไปแจ้งความแล้ว คดีประเภทนี้มักกระจายอยู่ตามโรงพักทั่วประเทศ ทำให้เจ้าหน้าที่ไม่ค่อยสืบหาผู้กระทำผิด เพราะมองว่าเป็นคดีที่มีความเสียหายไม่มาก ดังนั้นถ้ามีการรวบรวมผู้เสียหาย ที่เกิดจากการหลอกลวงของขบวนการเดียวกัน จะทำให้การจับกุมสามารถขยายผลไปยังต้นตอใหญ่ได้ง่ายขึ้น”

“ตำรวจไซเบอร์” เปิดเว็บไซต์แจ้งความหวังอุดช่องโหว่
แหล่งข่าวจาก กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ให้ข้อมูลว่า ขณะนี้มีคดีความที่ถูกหลอกลวงจากการซื้อสินค้าไม่ตรงกับที่โฆษณาไว้บนออนไลน์กว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเข้าข่ายความผิดฐานหลอกลวงประชาชน แต่ที่ผ่านมาคดีประเภทนี้จะมีผู้เสียหายแจ้งความไว้หลายโรงพักทั่วประเทศ ทำให้ยากในการจับกุมคนร้าย ทางเจ้าหน้าที่จึงปรับเปลี่ยนระบบการแจ้งความผ่านเว็บไซต์ https://www.thaipoliceonline.com/ เพื่อให้ง่ายต่อการติดตามผู้กระทำผิด โดยผู้บริโภคเมื่อแจ้งความผ่านเว็บไซต์ เป็นที่เรียบร้อย
...
จากนั้นจะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจที่รับเรื่องโทรหาเพื่อสอบถามข้อมูลเบื้องต้น ก่อนจะมีการนัดเพื่อไปแจ้งความยังโรงพักในท้องที่ ซึ่งกระบวนการนี้จะทำให้เจ้าหน้าที่รวบรวมข้อมูลได้ง่ายมากขึ้น ในกรณีที่ผู้กระทำผิดหลอกลวงผู้เสียหายเป็นจำนวนมาก
สำหรับประชาชนที่ซื้อสินค้าผ่านออนไลน์ จะต้องซื้อในแพลตฟอร์มที่น่าเชื่อถือ สามารถตรวจสอบร้านค้าที่จำหน่ายได้ และต้องดูรีวิวจากผู้ที่ซื้อสินค้าไปแล้วว่ามีความน่าเชื่อถือหรือไม่ ส่วนคุณภาพสินค้าควรมีเครื่องหมายมาตรฐานผลิตภัณฑ์ ที่หน่วยงานภาครัฐเป็นผู้กำหนดอยู่บนสินค้า เพื่อให้ได้สินค้าที่มีมาตราฐานตามที่ต้องการมากที่สุด
ผู้เขียน : ปักหมุด