“การศึกษาขั้นต้น พบว่า ธุรกิจการพนันออนไลน์ในประเทศวงใหญ่มาก มีเงินสูงถึง 3 ล้านล้านบาทต่อเดือน หรือปีละ 36 ล้านล้านบาทต่อปี”
นายชัชวาลล์ คงอุดม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังท้องถิ่นไทย กล่าวตอนหนึ่งในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 25 พ.ย.2564 เพื่อสนับสนุนการผลักดัน “กาสิโน” เสรีในไทย และเห็นว่าเป็นทางรอดในการหารายได้ เข้าประเทศ...
บ่อนกาสิโนเสรี ถูกพูดถึงมาสักพักใหญ่แล้ว โดยมีความเห็นจาก ส.ส. ทั้งรัฐบาล และฝ่ายค้าน สนับสนุน และที่ผ่านมา ก็มีการตั้ง คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาการเปิดสถานบันเทิงแบบครบวงจร (Entertainment Complex) การจัดเก็บรายได้ และภาษีจากธุรกิจกาสิโนถูกกฎหมาย และมาตรการในการป้องกัน และแก้ไขปัญหาบ่อนการพนันผิดกฎหมาย การแพร่ระบาดของตู้เกมพนันไฟฟ้า และการพนันออนไลน์ สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีการเดินสายพูดคุยกับภาคประชาชน สังคม และธุรกิจ ไปบ้างแล้ว แต่ก็ยังไม่มีอะไรเป็นรูปเป็นร่างมากนัก มีเพียงประเด็นเรื่อง “เงิน” ที่คาดว่าจะได้ หลายล้านๆ บาท โดยเป็นการเทียบเคียงกับประเทศที่เปิดบ่อนกาสิโน
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ มีโอกาสได้พูดคุย ดร.นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และ รศ.ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมีมุมมองที่น่าสนใจ
“เชื่อไหม...คนไทยโดยทั่วไปกลัว “กาสิโน” เพราะเขารู้ว่า เวลาคนติดกาสิโน จะเล่นต่อเนื่อง ไม่กลับบ้าน และใช้เงินเยอะ เป็นหนี้เยอะ ถึงแม้ว่าเราจะรู้สึกว่าคนไทยเล่นหวย ซื้อลอตเตอรี่เยอะ แต่การพนันแบบนั้นเป็นการเล่นเป็นครั้งๆ เดือนละ 2 ครั้ง แต่ถ้ามีกาสิโนถูกกฎหมาย เขาจะกลัวคนใกล้ชิดติดการพนัน และสร้างปัญหาตั้งแต่ครอบครัว ไปจนถึงสังคม” รศ.ดร.นวลน้อย เกริ่นนำ
...
ผอ.ศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขยายความว่า ในทุก 2 ปี ทางศูนย์ฯ ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนเรื่องการเปิด “กาสิโน” ถูกกฎหมาย โดยในปี 2562 และ 2564 ได้รับคำตอบที่น่าสนใจ คือ ในปี 2562 เก็บตัวอย่างจากตัวแทนทุกจังหวัด มากกว่า 5 หมื่นคน และในปี 2564 เก็บตัวอย่าง มากกว่า 7 พันคน ปรากฏว่า คำตอบที่ได้จากประชาชนนั้นใกล้เคียงกันคือ ประชาชน “ไม่เห็นด้วย” กับการเปิดกาสิโน ในประเทศไทยมากกว่า 50% ทุกครั้ง ส่วนคนที่เห็นด้วย ประมาณมากกว่า 30% ส่วนอีกประมาณมากกว่า 10% จะไม่แน่ใจและไม่มีความเห็น
จากตัวเลขดังกล่าว สะท้อนให้เห็นว่าคนไทยมากกว่า 50% ยังมีความกลัว “กาสิโน”...
ด้าน ดร.นณริฏ กล่าวว่า ที่ผ่านมา มีการพูดถึง “กาสิโน” ใน 2 รูปแบบ คือ 1.การตั้ง “กาสิโน” ในพื้นที่เฉพาะ และ 2 “การพนันเสรี” คล้ายกับ “สุราก้าวหน้า” ที่ใครๆ ก็ผลิตได้
“แน่นอนว่า ส่วนตัวผมไม่เห็นด้วยกับรูปแบบหลัง ถ้าเราเปิดให้ใครเล่นที่ไหน เมื่อไหร่ก็ได้ ถือเป็นเรื่องอันตรายมาก เพราะปกติ ทุกวันนี้เราเล่นการพนันกันมากมาย ขนาดในงานศพ ยังมีการจัดเล่นกันอยู่แล้ว”
นักวิชาการอาวุโส จาก ทีดีอาร์ไอ เสนอว่า หากมีการเปิด “กาสิโน” จริง จะต้องมีการให้ใบอนุญาตอย่างจำกัด คล้ายๆ โมเดลของมาเก๊า ประกอบด้วย
1. ใช้พื้นที่เฉพาะ
2. สกรีนคนที่เล่น เช่น คนต่างชาติ อาจจะเสรี หรือ ถ้าเป็นคนไทยต้องมีเกณฑ์เข้ามา เช่น มีรายได้เพียงพอ ไม่มีหนี้สิน
3. ต้องมีกลไก ในการคิดค่าธรรมเนียมที่เหมาะสม เพื่อนำเงินมาใช้ในการแก้ปัญหาสังคม เช่น การแก้ปัญหาหนี้สินนอกระบบ โดยอาจจะแบ่งมาจากรายได้กำไร หรือใบอนุญาต กลับมาคืนให้สังคม
มุมมองที่เปลี่ยนไป จาก “การพนัน” สู่การแข่งขัน “กีฬา”
ดร.นณริฏ กล่าวว่า ปัจจุบัน “กาสิโน” ก็มีความเปลี่ยนแปลงไป แต่ก่อน อาจจะเป็นการมุ่งเล่นเพื่อการพนัน หรือ เล่นฆ่าเวลา เช่น ปาจิงโกะ แต่ปัจจุบัน แนวคิดเกี่ยวกับ “กาสิโน” ได้เริ่มเปลี่ยนไป มีการส่งเสริมให้เล่นเพื่อเป็น “กีฬา” มากขึ้น ดังเช่น เมื่อเร็วๆ นี้ที่มีคนไทยไปแข่งขันโป๊กเกอร์ที่ประเทศเวียดนาม “การพนัน” ที่กลายเป็น “กีฬา” ถือเป็นจุดขายที่ดี หากเราวางเป้าในเชิงสปอร์ต ก็อาจจะดึงนักท่องเที่ยวได้ อาจจะเกิดเป็นสายอาชีพใหม่ขึ้นมาได้
...
แต่...การเปิดกาสิโน ต้องยอมรับว่ามีเรื่องความเสี่ยงเข้ามาค่อนข้างเยอะ ฉะนั้น ภาครัฐต้องมีความสามารถในการจัดการในการควบคุม มีกลไกการป้องกัน การแก้ไข เวลาเกิดปัญหา เพราะ “กาสิโน” ก็คือ การพนัน หากมีการเล่นอย่างหนักก็ทำให้มีการติดพนัน ก่อให้เกิดปัญหาอาชญากรรมตามมา ตั้งแต่ทำร้ายร่างกาย ลัก วิ่ง ชิงปล้น หรือแม้แต่ฆ่าคนตายหรือฆ่าตัวตาย
หากเปิด “กาสิโน” จริง กลไกการควบคุมภาครัฐต้องเข้มแข็ง
ดร.นณริฏ อธิบายว่า จากการศึกษา ข้อมูลในต่างประเทศ ภาครัฐของเขามีกลไกในการช่วยเหลือรองรับด้วย เช่น การเปิดโอกาสให้คนในครอบครัวมายื่น “ลิสต์รายชื่อ” ห้ามคนในครอบครัว หรือ แม้กระทั่งตัวเอง “เข้าบ่อนการพนัน นี่คือตัวอย่างของกลไกที่จำเป็นต้องมี ซึ่งโดยหลักการแล้ว ต้องมีหน่วยงาน ภาควิชาการ เข้าไปควบคุม ดูแล ไม่ใช่แค่ขายใบอนุญาตแล้วปล่อยให้เอกชนทำ ซึ่งสิ่งที่ห่วงที่สุด คือ “ภาคธุรกิจ” อาจจะมีอำนาจเหนือ “ภาครัฐ” เนื่องจาก หากปล่อยให้ภาคเอกชนดำเนินการไป และภาครัฐไม่เข้มแข็ง อาจจะส่งผลต่อการแทรกแซงได้
...
ที่ผ่านมา เคยเกิดเหตุการณ์ “กาสิโน” ร่วมกับ “นักพนัน” โกงการแข่งขันโป๊กเกอร์ ร่วมกันโกงนักพนันคนอื่น ซึ่งเรื่องนี้มีการฟ้องร้องกันตามมา ฉะนั้น ภาครัฐต้องมีบทลงโทษ ยึดใบอนุญาต ซึ่งการที่มีเงินมาเกี่ยวข้องมหาศาล อาจจะทำให้เกิดการแทรกแซงได้..
เอาให้ชัด เป้าหมาย “กาสิโน” คือกลุ่มไหนกันแน่
รศ.ดร.นวลน้อย เน้นย้ำในประเด็นเดียวกับ ดร.นณริฏ ว่า หากรัฐบาลจะเดินหน้าทำกาสิโน จริงๆ สิ่งสำคัญคือการ “ควบคุมผลกระทบ” ให้ได้ ทั้งเรื่องทางสังคมและเศรษฐกิจ ประเด็นสำคัญคือ เวลานี้ พบว่ามี “ช่องโหว่” คือ ทีมที่ผลักดันเวลานี้มุ่งเป้าไปเรื่องเม็ดเงินที่คาดหวังว่าจะได้ แต่...ยังไม่ได้กำหนดอะไรที่ชัดเจน ยกตัวอย่าง “เพื่อการท่องเที่ยว”
จากข้อมูลในหลายๆ ประเทศพบว่า “ลูกค้า” ที่เดินทางมาเล่นการพนันในประเทศต่างๆ ในเอเชียนั้น มาจากประเทศ “จีน” แต่เวลานี้มีความชัดเจนว่า รัฐบาลจีนมีการออกข้อกำหนดหลายเรื่อง เพื่อป้องกันไม่ให้ประชาชนของตนเองไปเล่น “กาสิโน” ในต่างประเทศ นอกจากนี้ยังออกกฎหมายควบคุม ชื่อ “remote gambling” ซึ่งความหมายคือรวมไปถึงการเล่นกาสิโน ออนไลน์ ซึ่งโดยปกติแล้ว รัฐบาลจีนไม่ส่งเสริมเรื่องการพนันอยู่แล้ว การพนันอย่างเดียวที่มีคือ “ลอตเตอรี่”
รศ.ดร.นวลน้อย กล่าวว่า หากมีการจัดทัวร์เพื่อเดินทางไปเล่นกาสิโน รัฐบาลจีนจะมองว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งผิดกฎหมาย และที่ผ่านมา จีนก็พยายามกดดันไปยังประเทศฟิลิปปินส์ ซี่งมีการเปิดพนันออนไลน์ มุ่งเป้าไปที่คนต่างประเทศ ซึ่งก็ทำให้ประเทศฟิลิปปินส์มีการลดใบอนุญาตลง ในขณะที่ “มาเก๊า” ก็มีการลดใบอนุญาตลง และจำนวนปีที่ถือครอง โดยมุ่งเป้าไปที่การท่องเที่ยวมากขึ้น เพื่อลดการพึ่งพา “กาสิโน” ลงในระบบเศรษฐกิจประเทศ
...
เมื่อกลับมามองประเทศไทย ที่บอกว่า จะเอานักท่องเที่ยวมาเมืองไทย โดยใช้ “กาสิโน” เป็นสิ่งดึงดูด คำถามคือ ถ้าจะพุ่งเป้าไปที่นักท่องเที่ยวจีน อาจจะกลายเป็นสิ่งที่ไม่เป็นไปตามความคาดหวัง....
“เมื่อไม่ได้เป็นไปอย่างที่หวัง กลายเป็นว่า ก็ใช้กลยุทธ์ชักชวนคนในประเทศตัวเองมาเล่น เพราะมีการลงทุนไปแล้ว ซึ่งเรื่องนี้จะกลายเป็นสิ่ง “อันตราย” ทันที”
ผอ.ศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน จุฬาฯ กล่าวต่อว่า การจะทำอะไร ต้องดำเนินไปด้วยพื้นฐานข้อมูลที่เป็นจริง การผลักดันเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ที่มีผลกับคนทั้งประเทศ ก็ควรฟังคนทั้งประเทศ บางคนเสนอให้มี “ประชามติ” ด้วยซ้ำ...
ลองนึกภาพ... หากคนในครอบครัวติดการพนันสัก 1 คน แน่นอนว่าได้รับผลกระทบทั้งครอบครัว ส่งผลให้เกิดปัญหาสังคม และอาชญากรรมตามมา รายได้ไม่พอรายจ่าย
สิ่งที่อยากจะเห็นในเวลานี้คือ กฎกติกา และโมเดลต่างๆ เสียก่อน ที่ผ่านมา มีแต่คำพูดว่า รัฐบาลจะได้เงินเป็นแสนล้าน คำถามคือ ตัวเลขดังกล่าวมาจากไหน.. นักท่องเที่ยวประเทศไหนจะมาเล่น และยิ่งเป็นช่วงโควิดระบาด ปิดประเทศ ไม่มีนักท่องเที่ยวมาจะทำอย่างไร
“ที่ผ่านมา มีกาสิโนในต่างประเทศ พยายามกดดันรัฐบาลประเทศนั้นๆ เปิดโอกาสให้คนในประเทศได้เล่นการพนัน ฉะนั้น สิ่งที่รัฐบาลต้องทำ คือ การพูดเรื่องผลกระทบที่จะตามมาด้วย ไม่ได้บอกแต่ประโยชน์ด้านเดียว
“กัญชา” ตัวอย่างความล้มเหลว “เสรี” ก่อน ตามแก้ไขทีหลัง
อาจารย์นวลน้อย กล่าวว่า ก่อนจะมี “กาสิโน” ต้องควบคุมความเสียหายให้ได้ก่อน อาจจะตั้งคณะกรรมการควบคุมเพื่อออกกฎ กติกาต่างๆ มาก่อน ไม่ใช่ว่าทำแบบ “กัญชา” ปล่อยเสรีไปก่อน แล้วค่อยไปตามแก้ไข ควบคุมความเสียหาย บอกเลยไม่มีประเทศไหนทำแบบนี้ ไม่ว่าจะออกกฎอะไร จะต้องมาพร้อมรูปแบบการควบคุม
อาจารย์นวลน้อย กล่าวว่า สิ่งที่รัฐบาลเสนอ คือ Entertainment Complex ซึ่งแนวคิดนี้จะคล้ายกับ สิงคโปร์ และ มาเลเซีย ซึ่งทั้ง 2 ที่ก็ไม่เหมือนกัน แม้ในสิงคโปร์ ที่มี 2 แห่ง แต่ทั้ง 2 แห่งก็แตกต่างกัน รูปแบบหนึ่งเป็น “สวนสนุก” ส่วนอีกแบบที่อยู่ในเมือง Marina Bay Sands จะมีลักษณะเป็นห้างสรรพสินค้า ศูนย์ประชุม โรงละคร และก็การพนัน สิ่งที่เหมือนกันในสิงคโปร์ คือ พื้นที่สำหรับ “กาสิโน” มีเพียง 3% เท่านั้น...
เมื่อมองกลับมาที่ประเทศ ไม่มีการกล่าวถึงเรื่องเหล่านี้เลย Entertainment Complex จะมีการลงทุนอื่นๆ คืออะไร...? เพราะแบบนี้ “ความย้อนแย้ง” มีเยอะ จนไม่รู้จะให้ความเห็นอย่างไร... เพราะเรายังไม่เห็นโมเดลอะไรเลย พูดแต่ว่า ผลประโยชน์จะได้อะไร จึงไม่รู้ว่าจะรีบร้อนทำไปทำไม เมื่อไม่มีความพร้อมอะไรเลย
“ถ้ามุ่งนักท่องเที่ยว ก็ควรกำหนดไปเลยว่าไม่ให้คนไทยเล่น หรือจะให้ต่างชาติเล่น ก็อาจจะเปิดเป็นที่เล็กๆ ก่อน เช่น สนามบิน โรงแรมเฉพาะจุด ในพื้นที่ท่องเที่ยว เช่น พัทยา ภูเก็ต แต่ต้องไม่ประชาสัมพันธ์ ให้เฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้า มีการกวดขัน ทดลองเก็บข้อมูลดูก่อน และที่สำคัญคือ ต้องมีเงินกองทุนสำหรับช่วยเหลือบำบัดคนติดพนัน หรือกลไกในการดูแลป้องกัน เช่น ห้ามคนติดพนันเข้ามาเล่น” ผอ.ศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวทิ้งท้าย
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์
อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ