เตามหาเศรษฐี หรือเตาซุปเปอร์อั้งโล่ กลายเป็นกระแสได้รับความนิยม หลังกระทรวงพลังงาน แนะนำให้ใช้แทนเตาแก๊สหุงต้ม หลังแก๊สหุงต้มปรับราคาขึ้นต่อเนื่อง แม้มีข้อมูลยืนยันว่า “เตาซุปเปอร์อั้งโล่” จะช่วยประหยัดพลังงานได้มากกว่าเตาอั้งโล่ในท้องตลาดถึง 29 เปอร์เซ็นต์ แต่ยังมีข้อสงสัยถึงประสิทธิภาพในการนำมาใช้งานจริง รวมถึงการให้ความร้อน ที่เหมาะสมกับการปรุงอาหารแต่ละประเภท

เตาอั้งโล่ ต้องใช้ให้เหมาะสมกับเมนูต้ม หรือตุ๋น

สำหรับผู้ที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการพลังงานอย่าง “ศ.ดร.ธราพงษ์ วิทิตศานต์” ผู้อำนวยการศูนย์เชื้อเพลิงและพลังงานจากชีวมวล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อมูลว่า การนำเตาอั้งโล่ มาใช้แทนก๊าซหุงต้ม ต้องคำนึงถึงความเหมาะสมของการใช้งาน เพราะเตาถ่านเหมาะกับการนำไปปรุงอาหารประเภทต้มหรือตุ๋น ที่ต้องใช้เวลานานในการอุ่นด้วยความร้อน แต่เตาแก๊สเหมาะกับการปรุงอาหารประเภทผัดทอด ซึ่งใช้ความร้อนคงที่ในเวลารวดเร็ว

“ความร้อนของไฟจากเตาแก๊ส มีความคงที่มากกว่าเตาถ่าน ดังนั้นผู้ที่ใช้งานต้องคำนึงถึงความเหมาะสม หากใช้ไม่ถูกประเภทอาจทำให้สิ้นเปลืองพลังงาน ตัวอย่างเช่น การทำเมนูผัดที่ใช้เตาถ่าน ต้องใช้เวลานานกว่าไฟจะให้ความร้อนเต็มที่ และถ้าต้องผัดหลายจาน จะต้องคอยเติมถ่านใหม่ทำให้สิ้นเปลืองถ่านมากกว่าการใช้เตาแก๊ส”

การคัดเลือกถ่านที่มาใช้กับเตาอั้งโล่ ต้องใช้ถ่านอัดแท่งที่มีคุณภาพ เพื่อให้มีความร้อนสม่ำเสมอ ไม่มอดดับง่าย และลดฝุ่นควันที่ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพ โดยถ่านหุงต้มที่ขายตามท้องตลาดเป็นถ่านประเภท “มวลกลาง” ให้ความร้อนห้าพันแคลอรีต่อกรัม ทำจากต้นไม้อายุ 3 ปีขึ้นไป เหมาะกับการนำมาทำเมนูผัดและหุงต้ม ที่ให้ความร้อนได้เหมาะสม ติดไฟดีกว่าถ่านหุงต้มประเภทอื่น

...

ส่วนถ่านหุงต้มประเภท “มวลเบา” ทำจากเศษไม้ขนาดเล็ก เหมาะกับการใช้งานที่ไม่ต้องการความร้อนสูง เช่น ปิ้งย่าง หรือการปรุงอาหารที่ไม่ต้องใช้ไฟแรง แต่ไม่เหมาะกับการนำไปใช้ในการหุงต้ม เพราะทำให้สิ้นเปลืองถ่านมากกว่าปกติ ขณะที่ถ่าน “มวลหนัก” ไม่มีขายตามท้องตลาด ทำจากไม้ที่มีอายุ 5 ปีขึ้นไป ใช้ในอุตสาหกรรมประเภทถลุงเหล็ก ที่ต้องใช้ความร้อนสูง

ขณะนี้มีความกังวลถึงการนำถ่านมาใช้แทนแก๊สหุงต้ม และกลัวว่าจะเป็นการส่งเสริมให้ชาวบ้านตัดไม้ทำลายป่า แต่ปัจจุบันมีการพัฒนาถ่านอัดแท่ง ที่ผลิตในชุมชนด้วยเศษไม้และวัสดุจากธรรมชาติ เช่น ถ่านจากชานอ้อย หรือใบอ้อย ที่มีจำหน่ายกิโลกรัมละ 20 บาท ผลิตโดยชาวบ้าน หรือการส่งเสริมให้ปลูกไม้โตเร็ว เพื่อนำมาผลิตถ่าน ตัวอย่างเช่น สวนลำไย ลิ้นจี่ จังหวัดเชียงราย มีการตัดแต่งกิ่งประจำ จึงส่งเสริมให้นำไม้มาใช้ประโยชน์ต่อ

การหันกลับมาใช้เตาถ่าน เป็นทางรอดในภาวะที่พลังงานทั่วโลกปรับตัวสูงขึ้น เพราะในยุโรปตอนนี้เริ่มหันกลับมาใช้พลังงานชีวมวล แม้จะถูกต่อต้านจากกลุ่มที่ไม่เห็นด้วย แต่เป็นทางรอดในสภาวะวิกฤติพลังงาน ซึ่งประเทศไทย การกลับมาใช้เตาอั้งโล่ เป็นอีกทางเลือกที่ต้องใช้ให้เหมาะสมกับการปรุงอาหาร

เซฟค่าใช้จ่าย ดันยอดขายเตาอั้งโล่ พุ่งกว่า 50% 

“สารภี สุขวัฑฒโก” ผู้ผลิตเตาอั้งโล่ โรงงานเตาทอง จังหวัดราชบุรี กล่าวว่า ขณะนี้ยอดขายเพิ่มขึ้นกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ลูกค้าส่วนใหญ่มาหาซื้อ เพราะต้องการประหยัดรายจ่าย โดยขณะนี้โรงงานผลิตได้วันละ 70 เตา ส่วนขนาดที่จำหน่ายมีแบบเล็ก กลาง และใหญ่ ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของผู้ใช้งาน ขณะเดียวกันก็มีร้านค้าที่ขายข้าวแกง นำเตาไปดัดแปลง ด้วยการนำหัวเตาแก๊สมาใส่ในเตา เหมาะกับการอุ่นอาหาร ที่ใช้เวลานาน เพราะตัวเตาทำจากดิน เมื่อเปิดแก๊สให้มีความร้อนเต็มที่ เตาจะเก็บกักความร้อนได้นาน โดยที่ไม่ต้องเปิดแก๊สทิ้งไว้ตลอดเวลา สามารถช่วยประหยัดแก๊สได้กว่า 50 เปอร์เซ็นต์

สำหรับกระบวนการทำเตาอั้งโล่ ชิ้นส่วนสำคัญที่ทำให้ประหยัดพลังงานคือ ตะแกรงภายใน โดยต้องทำให้มีขนาดหนา เพื่อเก็บกักความร้อนได้ดี ต้องมีรูบนตะแกรงถี่และขนาดเล็ก เพื่อให้ถ่านไม่หล่นลงมาเป็นขี้เถ้าเร็ว ส่วนถ่านหุงต้ม หากทำจากไม้โกงกาง และไม้มะขาม จะให้ความร้อนได้มากกว่าถ่านหุงต้มประเภทอื่น

“ตอนนี้เตาที่ร้านขายราคา 380–400 บาท ราคาขึ้นมากว่า 20 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากเหล็กที่เป็นฉนวนหุ้มเตา มีราคาสูงขึ้น ทำให้ต้องปรับราคา คาดว่าต้องเพิ่มกำลังการผลิตหลังจากนี้ เพราะมีผู้ที่สนใจเข้ามาสั่งจำนวนมาก และอยากให้คนรุ่นใหม่ที่สนใจมาลองใช้เตาถ่านมากขึ้น” สารภี ทิ้งท้าย.