- จิตแพทย์แสดงความกังวล หลังมีผู้ป่วยได้รับผลกระทบจากการใช้กัญชา ทั้งโดยตรง และทางอ้อมมากขึ้นเท่าตัว โดยเฉพาะการแอบใส่ในอาหาร กินโดยไม่รู้ตัว ทำให้ต้องวิเคราะห์หาสาเหตุนาน เสี่ยงหลอนระยะยาว
- กฎหมายในปัจจุบันยังไม่ครอบคลุมทั้งระบบ ควรล้อมกรอบการโฆษณาซื้อขายกัญชาบนโลกอินเทอร์เน็ต ป้องกันเยาวชนและกลุ่มเปราะบางเข้าถึงง่าย และกำหนดอายุผู้ซื้อเครื่องดื่มมีส่วนผสมกัญชา ให้เหมือนเหล้าบุหรี่
- กัญชาแต่ละสายพันธุ์ให้สารเมาแตกต่างกัน ต้องควบคุมการผลิตตั้งแต่การปลูก เลือกสายพันธุ์ที่เหมาะสม ไม่ให้ส่งผลกระทบกับผู้ใช้ และมีการเสนอให้วางกรอบเก็บภาษีบาป เข้ากองทุนเพื่อเยียวยาผู้บริโภคที่อาจได้รับผลกระทบ หลังปลดล็อกกัญชา
หลังการปลดล็อกกัญชา เพื่อส่งเสริมการนำไปใช้ในทางการแพทย์ แต่ยังมีการนำไปใช้ผิดวิธี จนกลายเป็นผลเสีย เกิดผลกระทบเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะการนำกัญชามาผสมอาหาร ทำให้ผู้บริโภคที่ไม่ทราบ เกิดอาการแพ้รุนแรง และแม้ขณะนี้มีการออกกฎหมายควบคุมกลิ่นควัน เพื่อไม่ให้รบกวนผู้อื่นในพื้นที่สาธารณะ แต่ยังต้องมีกฎหมายเพิ่มเติม เพื่อให้ครอบคลุมและป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นได้
ทำให้ขณะนี้อยู่ในช่วงสภาวะ “สุญญากาศ” เกิดความเข้าใจผิดในการนำกัญชาไปใช้อย่างไม่ถูกต้อง และได้มีผู้ได้รับผลกระทบจากกัญชา ทั้งทางตรงและทางอ้อม เข้ามารักษามากขึ้นกับแพทย์ด้านจิตเวช จนเกรงว่าอาจส่งผลกระทบต่อระบบสาธารณสุขในระยะยาว หากไม่มีการออกกฎหมายที่ครอบคลุมรอบด้านให้มากกว่านี้
...
อาการเมากัญชา ผลเสียโดยตรงและทางอ้อม
“นพ.ปิยะวัฒน์ เด่นดำรงกุล” กรรมการสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า หลังปลดล็อกกัญชา มีผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากกัญชา เข้ามาพบแพทย์ในกรณีฉุกเฉินเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว โดยแบ่งเป็นกลุ่มคนไข้ เคยใช้กัญชามาก่อน และเมื่อเปิดเสรีกัญชา มีการใช้เกินขนาดจนเกิดผลข้างเคียง ขณะที่อีกกลุ่มเป็นคนไข้ที่ไม่รู้ตัวเองว่า ทานอาหารที่มีส่วนผสมของกัญชา จนมีผลกระทบทำให้เกิดอาการเมา แต่ส่วนใหญ่ไม่รู้ตัวว่าอาการดังกล่าวเป็นผลมาจากการใช้กัญชา ทำให้จิตแพทย์ ต้องทำงานหนักมากขึ้น ในการเข้าไปช่วยเหลือแพทย์ในห้องฉุกเฉิน
ลักษณะอาการผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากกัญชา จะมาด้วยอาการปวดท้อง หูแว่ว ประสาทหลอน คนไข้หลายคนคาดไม่ถึงว่า เป็นผลจากการใช้กัญชา ทำให้แพทย์ที่ทำการรักษาเบื้องต้นในห้องฉุกเฉิน ต้องปรึกษาจิตแพทย์เข้ามามีส่วนร่วมในการวิเคราะห์ จนพบว่ามีต้นเหตุมาจากฤทธิ์กัญชา ซึ่งการรักษาเบื้องต้น ทำได้เพียงประคับประคองอาการ เพราะสารเมาในกัญชาบางชนิด ไม่มียาที่มาช่วยต้านพิษได้โดยตรง จึงต้องใช้เวลาในการขับพิษออกจากร่างกาย
“ที่น่าสนใจคือ กลุ่มคนไข้ที่ไม่เคยใช้กัญชามาก่อน แต่ได้รับเพราะมีการปนเปื้อนในอาหาร โดยไม่รู้ตัว ทำให้คนไข้มีผลข้างเคียงในระยะยาว เช่น หูแว่ว เรื้อรังกว่า 1 ปี บางรายอาจมีร่องรอยของโรค เมื่อมีภาวะที่ได้รับการกระตุ้น มีโอกาสเกิดอาการได้เร็วขึ้น เช่น หูแว่ว, ประสาทหลอน, อารมณ์รุนแรง, ซึมเศร้า จนนำสู่การฆ่าตัวตาย อาการเหล่านี้ เหมือนรอยร้าวบนกระจก เมื่อถูกกระตุ้น จะมีรอยปริแตกมากขึ้นเรื่อยๆ หากไม่มีการรักษาที่เหมาะสม”
ขณะที่การใช้กัญชาทางการแพทย์ เป็นอีกกรณีที่ได้รับผลกระทบ เพราะที่ผ่านมามีการนำกัญชาไปใช้กับผู้ป่วยจิตเวชบางกรณี เช่น ช่วยให้นอนหลับ เมื่อมีการปลดล็อกกัญชา คนไข้หลายรายกลับหยุดยา ไม่มาพบแพทย์เพื่อทำการรักษา แต่ซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกัญชามาทานเอง ทำให้ผู้ป่วยหลายราย มีอาการกำเริบของโรคด้านจิตเวช เนื่องจากใช้ในปริมาณไม่เหมาะสมกับที่ร่างกายต้องการ
จากผลกระทบที่เกิดขึ้น หน่วยงานรัฐต้องเร่งออกกฎหมาย ควบคุมการใช้งาน และควรเน้นให้เกิดการใช้กัญชาทางการแพทย์ มากกว่าสันทนาการ ซึ่งการออก พ.ร.บ. เพื่อควบคุมกัญชา ควรมีแพทย์ด้านจิตเวช เข้าไปร่วมร่างกฎหมาย เพื่อให้ครอบคลุมกับการใช้งานของประชาชน
ก่อนปลดล็อกกัญชา ควรต้องมีก.ม.ครอบคลุมทั้งระบบ
“ผศ.ดร.ธานี วรภัทร์” ผู้อำนวยการหลักสูตรนิติศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยรังสิต และเคยทำวิจัยเกี่ยวกับกฎหมายควบคุมกัญชา มองว่า ก่อนปลดล็อกกัญชา ควรมีการวางแผนออกกฎหมาย เข้ามาควบคุมผู้ที่ใช้เกินขนาด และควบคุมกลุ่มเปราะบาง เช่น เยาวชน ไม่ให้ทดลองใช้กัญชา จนมีผลต่อพัฒนาการทางสมอง ซึ่งในต่างประเทศ แม้จะมีการอนุญาตให้ใช้กัญชา แต่มีกฎหมายควบคุม โดยกระทรวงสาธารณสุขและกรมการปกครอง เพื่อให้เกิดการบังคับใช้กฎหมาย
...
“กฎหมายควบคุมการโฆษณากัญชา ควรออกมาอย่างเร่งด่วน เพราะขณะนี้ในอินเทอร์เน็ต มีการโฆษณาและสั่งซื้อได้ง่าย เสี่ยงที่เยาวชนหรือกลุ่มเปราะบาง จะนำกัญชาไปทดลอง โดยผู้ปกครองไม่ทราบ ขณะที่เครื่องดื่มมีส่วนผสมของกัญชา มีขายอย่างเสรีในร้านสะดวกซื้อ โดยไม่มีการกำหนดอายุผู้ซื้อ ดังนั้นรัฐควรมีกฎหมายเข้ามาควบคุม เหมือนการกำหนดอายุผู้ซื้อสุราและบุหรี่ เพื่อควบคุมไม่ให้เยาวชนเข้าถึงได้ง่าย แม้มีการอ้างว่า มีส่วนผสมของกัญชาในปริมาณปลอดภัย แต่ทั่วโลกมีผลยืนยันว่า กัญชามีผลต่อพัฒนาการทางสมองของเด็ก”
ด้านกระบวนการลงโทษเชิงกฎหมาย เมื่อปรับเปลี่ยนการกระทำความผิดจากกฎหมายอาญา ควรมีการลงโทษผู้ฝ่าฝืนด้วยโทษทางปกครอง แต่ถ้าผู้กระทำผิดซ้ำ หรือละเมิดบ่อยครั้ง จะต้องกำหนดกรอบให้ใช้กฎหมายทางอาญาเข้ามาควบคุม
เสนอควบคุมการใช้กัญชา ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ
“ผศ.ดร.ธานี” ให้ความเห็นถึงการออกกฎหมายควบคุมการใช้กัญชา ต้องเริ่มตั้งแต่ต้นน้ำ เริ่มจากการปลูก ต้องมีการควบคุมกำกับสายพันธุ์กัญชา ให้มีความเหมาะสม เพราะกัญชาแต่ละสายพันธุ์ให้สารเมาแตกต่างกัน ขณะเดียวกันต้องมีการควบคุมการผลิต ไม่ให้มีสารเคมีปนเปื้อน ส่งผลกระทบต่อผู้บิโภค
...
ในส่วนกระบวนการผลิตหรือแปรรูป สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ต้องควบคุมและตรวจสอบสถานที่ผลิต และต้องกำกับให้มีการติดฉลาก ระบุถึงปริมาณกัญชา ซึ่งเป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์ โดยต้องกำหนดสีฉลากให้มีความชัดเจน
ขณะที่ผู้บริโภคจะต้องมีกระบวนการเฝ้าระวัง รับเรื่องร้องเรียน และเข้าไปช่วยเหลือผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบในทันทีเมื่อเกิดเหตุ โดยผู้รับผิดชอบต้องเป็นหน่วยงานด้านสาธารณสุข และต้องมีกระบวนการจัดเก็บภาษี เหมือนกับภาษีเหล้าและบุหรี่ โดยนำภาษีที่ได้เข้าสู่กองทุน เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากกัญชา เหมือนการทำงานของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
“แม้มีการออกฎหมายควบคุมกลิ่นควันจากกัญชา ก่อให้เกิดความรำคาญ แต่เป็นเพียงหนึ่งในมาตรการควบคุม ซึ่งยังไม่ครอบคลุมทั้งระบบ ดังนั้นการออกกฎหมายที่ครอบคลุม ไม่ใช่เรื่องยาก เพราะที่ผ่านมามีหลายงานวิจัยที่ชี้ชัดถึงกฎหมายที่จะช่วยควบคุมการใช้กัญชา แต่ไม่ถูกหยิบมาใช้ประกอบการพิจารณาเป็นกฎหมาย ซึ่งถ้ามีการนำงานวิจัยมาพิจารณาประกอบกับการออกกฎหมายลูก จะใช้เวลาในการร่างพ.ร.บ. เร็วขึ้น” ผศ.ดร.ธานี กล่าวทิ้งท้าย
ในสภาวะสุญญากาศทางกฎหมายกัญชา นอกจากการเร่งออกกฎหมาย เพื่ออุดช่องโหว่อย่างรอบด้าน จะต้องมีการสร้างความเข้าใจในกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะเยาวชน ถือเป็นอีกความท้าทายที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องทำอย่างเร่งด่วน.
ผู้เขียน : ศราวุธ ดีหมื่นไวย์