- บทเรียนมะละกอจีเอ็มโอ ซึ่งเป็นพืชตัดต่อพันธุกรรม เมื่อปี 2556 ทำให้การส่งออกของไทยได้รับผลกระทบลดลง 4-5 เท่า เพราะประเทศคู่ค้า ไม่ยอมรับ จนมาถึงกรณีการลักลอบนำเข้าสับปะรดสีชมพู มีการซื้อขายทางออนไลน์
- สับปะรดสีชมพูเล็ดลอดเข้ามาได้อย่างไร ทั้งที่พืชตัดต่อพันธุกรรมหรือจีเอ็มโอ เป็นสิ่งต้องห้ามในไทย มีโทษตาม พ.ร.บ.กักพืช พ.ศ. 2507 ต้องจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- สภาองค์กรของผู้บริโภค ได้รับแจ้งเบาะแสมีการจำหน่ายสับปะรดที่มีเนื้อสีชมพู บนสื่อสังคมออนไลน์ มากว่า 9 เดือน แม้ร้องเรียนไปยังหน่วยงานภาครัฐ แต่ยังคงทะลักเข้ามาขายในไทย หรือเกิดจากการปล่อยปละละเลยของเจ้าหน้าที่
สับปะรดสีชมพู ห้ามนำเข้ามาขาย ผิดกฎหมาย
สับปะรดสีชมพู (Pinkglow) มาจากแหล่งใด "ระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์" อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ระบุเป็นของบริษัท Del Monte ปลูกในประเทศคอสตาริกา และเป็นพืชจีเอ็มโอ ไม่มีการอนุญาตให้นำเข้า หรือจำหน่ายในไทย สามารถยึดอายัดและทำลายได้ทันที และผู้ซื้อ-ผู้ขาย จะเรียกร้องค่าเสียหายจากใครไม่ได้ และผู้ลักลอบนำเข้าต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตาม พ.ร.บ.กักพืช พ.ศ. 2507
...
ในยุคการซื้อขายผ่านระบบออนไลน์ "มนัญญา ไทยเศรษฐ์" รัฐมนตรีช่วยว่าการเกษตรและสหกรณ์ ยอมรับมีความสุ่มเสี่ยงต่อการส่งของผิดกฎหมาย จึงได้ให้กรมวิชาการเกษตรตรวจเข้มทุกพื้นที่ เพราะไทยมีนโยบายปลอดพืชจีเอ็มโอ ไม่มีการอนุญาตนำเข้าแต่อย่างใด และฝากเตือนประชาชนอย่านำเข้า หรือสนับสนุนในการซื้อขาย เพื่อรักษาชื่อเสียงของประเทศ
ขณะที่ นพ.วิทิต สฤษฎีชัยกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ระบุได้เพิ่มมาตรการกำกับดูแลตามกฎหมาย กำหนดให้อาหารที่ได้จากเทคนิคการดัดแปรพันธุกรรม หรือจีเอ็มโอ เป็นอาหารห้ามผลิต นำเข้าหรือจำหน่าย เว้นแต่ผ่านการประเมินความปลอดภัยตามเกณฑ์ที่กำหนด และแก้ไขให้อาหาร จีเอ็มโอทุกชนิด ต้องแสดงฉลากตามเกณฑ์ที่กำหนด
ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุข ได้ออกประกาศ เรื่องอาหารจากสิ่งมีชีวิตดัดแปรพันธุกรรม หรือจีเอ็มโอ และเรื่องการแสดงฉลากครอบคลุมอาหารที่ได้จากสิ่งมีชีวิตดัดแปรพันธุกรรม ซึ่งประกาศทั้ง 2 ฉบับนี้ อยู่ระหว่างการประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้มีผลใช้บังคับทางกฎหมาย
ผลกระทบเกษตรกรสับปะรด จากสิ่งที่ไม่ได้ก่อ
"รศ.ดร.สุรวิช วรรณไกรโรจน์" อาจารย์ข้าราชการบำนาญ ภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แสดงความกังวลต่อการลักลอบนำหน่อพันธุ์สับปะรดจีเอ็มโอ จากประเทศคอสตาริกา เข้ามาประเทศไทย และมีการประชาสัมพันธ์คุณสมบัติของสับปะรดสีชมพูว่า มีกลิ่นและรสดีกว่าสับปะรดแบบดั้งเดิม โดยองค์กรที่สนับสนุนการใช้จีเอ็มโอ แม้มีเกษตรกรบางส่วนได้ซื้อหน่อพันธุ์ไปทดลองปลูก และต่อมาทราบว่าเป็นสิ่งผิดกฎหมาย จึงได้ทำลายทิ้งไป แต่เชื่อว่าได้มีเกษตรกรบางส่วนนำไปปลูกในพื้นที่เกษตรกรรม และมีข่าวว่านักผสมพันธุ์ต้นไม้ระดับอาจารย์ได้นำไปผสมพันธุ์กับสับปะรดปกติ จนได้ลูกผสมก่อนทำลายสับปะรดจีเอ็มโอทิ้งไป
สิ่งน่าห่วงในขณะนี้ หากมีสับปะรดจีเอ็มโอภายในแปลงผลิตในประเทศ น่าจะส่งผลกระทบกับเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดส่งโรงงานสับปะรดกระป๋อง เพราะโรงงานจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ในการตรวจรับรองผลิตภัณฑ์ต้องปราศจากสับปะรดจีเอ็มโอ อย่างที่เคยเกิดขึ้นกับโรงงานผลิตผลไม้รวม มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในการตรวจรับรองผลิตภัณฑ์ต้องปราศจากมะละกอจีเอ็มโอ
“ภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นของโรงงาน ย่อมกระทบเกษตรกร ด้วยการลดราคารับซื้อลง ดังนั้นเพื่อไม่ให้เกษตรกรผู้บริสุทธิ์ต้องเดือดร้อน จากสิ่งที่ไม่ได้ก่อขึ้น จึงขอให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเร่งดำเนินการจัดการปัญหา”
...
บทเรียนปนเปื้อนทางพันธุกรรม มะละกอจีเอ็มโอ
เช่นเดียวกับ "วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ" เลขาธิการมูลนิธิชีววิถี ได้หยิบยกบทเรียนการปนเปื้อนทางพันธุกรรมของมะละกอจีเอ็มโอเมื่อปี 2556 ทำให้การส่งออกลดลง 4-5 เท่า เพราะประเทศคู่ค้าอย่างเช่น สหภาพยุโรป ไม่ยอมรับ ดังนั้นหากปล่อยให้มีการลักลอบนำเข้าสับปะรดสีชมพูและนำไปปลูกในวงกว้าง อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกของอุตสาหกรรมผลไม้ และเพิ่มภาระต้นทุนการตรวจสอบรับรองผลิตภัณฑ์
โดยเฉพาะ จ.ประจวบคีรีขันธ์ เป็นพื้นที่ปลูกสับปะรดมากที่สุด 148,198 ไร่ หรือร้อยละ 34.95 และเป็นพื้นที่มีการแปรรูปสับปะรดกระป๋อง จึงอยากให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รีบดำเนินการและจัดการกับการนำเข้าสับปะรดจีเอ็มโอ เพื่อคุ้มครองเกษตรกรที่ปลูกสับปะรดกว่า 5 หมื่นครอบครัว รวมถึงอุตสาหกรรมสับปะรดทั้งระบบอีกด้วย.
...
ผู้เขียน : ปูรณิมา