จากคำพิพากษาของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ตัดสินประหารชีวิต “พ.ต.อ.ธิติสรรค์ อุทธนผล” หรือ ผู้กำกับโจ้ อดีตผู้กำกับสถานีตำรวจภูธรเมืองนครสวรรค์ แต่ลดโทษ 1 ใน 3 เป็นจำคุกตลอดชีวิต กรณีร่วมกับพวกอีก 6 คน ใช้ถุงดำคลุมศีรษะ “จิระพงษ์ ธนะพัฒน์” หรือมาวิน ผู้ต้องหาคดียาเสพติด จนถึงแก่ความตาย
คดีนี้สร้างความสั่นสะเทือน “วงการสีกากี” เนื่องจากมีคลิป ขณะผู้เสียชีวิตถูกทำร้าย เผยแพร่ออกมา จึงเป็นหลักฐานสำคัญ และเป็นคดีประวัติศาสตร์ เกี่ยวกับการซ้อมทรมาน โดยการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ
จากจุดเริ่มต้นสู่การตัดสินคดีผู้กำกับโจ้
- 5 ส.ค. 2564 เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองนครสวรรค์ จับกุมผู้ต้องหา 2 สามีภรรยา พร้อมด้วยยาเสพติด 1 แสนเม็ด ก่อนควบคุมตัวมายังโรงพัก เบื้องต้นของการสืบสวน มีการเรียกรับเงินจากผู้ต้องหา 2 ล้านบาท แต่ผู้ต้องหาจะจ่ายเพียง 1 ล้านบาท
- เมื่อต่อรองสินบนไม่ได้ตามเป้าหมาย ผู้กำกับโจ้ พร้อมพวก ได้นำถุงดำมาคลุมหัว “มาวิน” ผู้ต้องหาจนเสียชีวิต จากนั้นนำศพไปยังโรงพยาบาล และปล่อยตัวผู้ต้องหาหญิง โดยห้ามบอกเรื่องราวทั้งหมดกับผู้อื่น เพื่อแลกกับการไม่ต้องถูกดำเนินคดี

...
- ในวันถัดมา มีผลชันสูตรของโรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ นครสวรรค์ ระบุการเสียชีวิตของผู้ต้องหา เกิดจากพิษสารแอมเฟตามีน
- หลังเกิดเหตุ มีตำรวจชั้นผู้น้อย ร้องเรียนต่อทนายเดชา กิตติวิทยานันท์ จนมีการออกมาเปิดเผยเรื่องนี้ นำไปสู่การสอบสวนตำรวจชุดดังกล่าว
- ต่อมามีคำสั่งจากผู้บังคับบัญชา ย้ายผู้กำกับโจ้ ไปปฏิบัติราชการที่อื่น เพื่อไม่ให้เป็นที่ครหา ในกระบวนการสอบสวนข้อเท็จจริง หากมีการกระทำผิดจริง ต้องถูกดำเนินการทางวินัย
- ผู้กำกับโจ้ ยืนยันไม่มีการเรียกรับเงิน หรือซ้อมทรมานผู้ต้องหา โดยบิดาของผู้เสียชีวิต ไม่ติดใจการตาย และเชื่อว่ามาจากโรคประจำตัว
- “ทนายษิทรา เบี้ยบังเกิด” โพสต์คลิปวิดีโอผ่านเฟซบุ๊ก"วินาทีผู้กำกับโจ้ ใช้ถุงดำคลุมหัวผู้ต้องหา จนเสียชีวิต" จากนั้นจเรตำรวจ ตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัย ผู้กำกับโจ้ พร้อมพวก นำมาสู่การจับกุมดำเนินคดี
- 8 มิ.ย.2565 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ตัดสินประหารชีวิต ก่อนลดโทษเป็นจำคุกตลอดชีวิต ผู้กำกับโจ้ ในฐานะความผิด เช่น ร่วมกันปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหน้าที่ โดยละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ โดยทุจริต เป็นต้น
- ผู้ร่วมกระทำความผิด ส่วนหนึ่งได้รับโทษประหารชีวิต มีการลดโทษเหลือจำคุกตลอดชีวิต ขณะที่ ด.ต.ศุภากร จำเลย 6 มีความผิดละเว้น หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ร่วมกันข่มขืนใจให้กระทำการใด หรือไม่กระทำการใด ให้ลงโทษ จำคุก 8 ปี ลดเหลือจำคุก 5 ปี 4 เดือน

บทเรียนคดีสู่การปรับเปลี่ยนกฎหมาย
สำหรับองค์กรอิสระ ที่ติดตามคดีนี้ “พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ” ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม มองว่า จากคำตัดสินที่ผู้ต้องหาได้รับโทษสูงสุด เป็นที่น่าพอใจ และคดีนี้ถือเป็นหน้าประวัติศาสตร์ เนื่องจากที่ผ่านมา คดีการซ้อมทรมานโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่สามารถดำเนินคดีเอาผิดได้ เพราะหลักฐานของคดีไม่มีความชัดเจน แต่กรณีคดีผู้กำกับโจ้ มีคลิปวงจรปิด ซึ่งทำให้เห็นการกระทำผิดชัดเจน นำสู่การตัดสินของศาล ซึ่งมีการทำสำนวนคดีอย่างรัดกุม
“ที่น่าสนใจคือ คำตัดสิน จำเลยที่ 6 คือ ด.ต.ศุภากร อาจจะมีโทษที่น้อยเกินไป แม้อ้างว่าเป็นผู้เฝ้าประตู แต่เมื่อเห็นแล้วว่า กลุ่มผู้กระทำผิดกำลังนำถุงดำคลุมหัวผู้เสียชีวิต และกำลังขาดอากาศหายใจ ควรไปแจ้งผู้บังคับบัญชา หน่วยอื่น เพื่อให้เข้ามาระงับเหตุ”
กรณีการซ้อมทรมานผู้ต้องหา โดยเจ้าหน้าที่ คดีนี้ยังมีประเด็นที่ต้องปรับเปลี่ยนการทำงานในกระบวนการยุติธรรม เพราะหลังจากศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ตัดสินคดี ทางญาติของผู้เสียชีวิต ต้องไปดำเนินการฟ้องร้อง เพื่อเรียกเงินชดเชยกับศาลแพ่งต่ออีก โดยต้องใช้เงินส่วนตัว เพื่อเดินทางไปฟ้องร้องด้วยตนเอง ทำให้เกิดความซ้ำซ้อน ในกระบวนการยุติธรรม แทนที่จะมีการพิจารณา ด้วยศาลเดียว แล้วจบในทุกคดี
“คดีนี้เป็นหน้าประวัติศาสตร์ ในคดีเกี่ยวกับการซ้อมทรมาน เพราะที่ผ่านมาไม่สามารถเอาผิดเจ้าหน้าที่ได้ เช่นกรณีผู้ต้องหาเสียชีวิตในค่ายทหาร รายหนึ่ง มีลักษณะการเสียชีวิตคล้ายมาวิน ที่มีเลือดออกบริเวณดวงตา และสมองบวม แต่กรณีนี้เอาผิดไม่ได้ เนื่องจากกล้องวงจรปิดในค่ายทหารเสีย จึงไม่มีหลักฐานเพียงพอ” พรเพ็ญ ทิ้งท้าย
...