เรียกว่าเป็น “ดีล” แรกของ ผู้ว่าฯ กทม. ที่ชื่อ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” หลังตกลงว่าจ้าง กรมราชทัณฑ์ให้ ผู้ต้องขัง ขุดลอกท่อระบายน้ำ ซึ่งใน กทม. มีจำนวนท่อที่จำเป็นต้องขุดลอกทั้งสิ้น 6,564 กิโลเมตร ในความรับผิดชอบของ สำนักงานระบายน้ำ 2,050 กิโลเมตร สำนักงานเขต ทั้ง 50 เขตอีก 4,514 กิโลเมตร แต่ในเบื้องต้น กทม. ใช้งบ 15 ล้านบาท ขุดลอกท่อ 100 กิโลเมตร โดยมีเป้าหมาย จะขุดลอกให้ได้ 400 กิโลเมตร

การใช้งานผู้ต้องขัง ถือว่าไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นเรื่องที่ทำกันมานานแล้ว ซึ่งก็มีหลักเกณฑ์หลายอย่างที่ต้องพิจารณา ทั้งการคัดเลือกผู้ต้องขังที่จะออกมาทำงานสาธารณะ การควบคุมดูแล รวมไปถึงค่าจ้างที่ควรจะได้

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ มีโอกาสพูดคุยกับ นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยว่า แนวคิดการใช้แรงงานผู้ต้องขังไปทำงานสาธารณประโยชน์นอกเรือนจำ จะคัดเลือกจากผู้ต้องขังที่มีความประพฤติดี หรือ กลุ่มที่ได้รับการอบรมวิชาชีพในเรือนจำดีแล้ว นอกจากนี้ ผู้ต้องขังที่จะออกมา ต้องมีโทษจำคุกเหลือน้อย และต้องผ่านการเตรียมความพร้อมก่อนปล่อยสู่สังคมด้วย

“สิ่งที่ได้จากการให้ผู้ต้องขังไปทำประโยชน์สาธารณะ คือ ตัวผู้ต้องขังจะมีกำลังใจมากขึ้น เพราะนอกจากจะได้รับการลดหย่อนโทษ เช่น ออกไปทำงาน 1 วัน ก็จะได้ลดโทษ 1 วัน หรือออกไปทำงาน 1 เดือน ก็จะได้ลดโทษ 1 เดือน แล้วยังได้เงินด้วย”

เปิดอัตราการจ้าง ผู้ต้องขัง “ขุดลอกคูคลอง”

อธิบดีกรมราชทัณฑ์ อธิบายว่า การทำงานของนักโทษนั้น มีการแบ่งค่าแรงเป็นหลายแบบ แต่ถ้าเอกชนจะมาจ้างงาน จะมีคณะกรรมการในการประเมินก่อน เช่น งานที่ทำเป็นการเสริมสร้างทักษะในการประกอบอาชีพในอนาคตหรือไม่ หากประเมินว่าเป็นงานที่ส่งเสริมทักษะก็จะมีการอนุญาตให้จ้างงาน ถ้าไม่เกิดประโยชน์ต่อทักษะนักโทษ ก็จะไม่รับงานนั้นๆ ส่วนรายได้อย่างต่ำที่สุด ต้องเป็นไปตามค่าแรงขั้นต่ำตามกฎหมายแรงงานตามแต่ละพื้นที่ หากเป็นงานภายในเรือนจำ เช่น ทำเฟอร์นิเจอร์ ก็จะขึ้นอยู่กับฝีมือแรงงาน แต่จะไม่น้อยกว่าค่าแรงขั้นต่ำ

...

“สิ่งสำคัญของการทำงานของผู้ต้องขังไม่ว่าจะในเรือนจำ หรือนอกเรือนจำ จะต้องเป็นการทำงานโดยสมัครใจ โดยไม่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน”

นายอายุตม์ กล่าวว่า หากมีรายได้ จากการจ้างของทางภาครัฐ หรือเอกชน กำไรสุทธิ 70% จะต้องแบ่งให้กับผู้ต้องขัง เพื่อเก็บไว้เป็นทุนเมื่อพ้นโทษจากเรือนจำ ซึ่งตรงนี้ถือเป็นกฎหมายและบังคับใช้มาโดยตลอด ถ้าไม่ทำเช่นนั้น ก็จะถือเป็นการใช้งานฟรี จะกลายเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง

เช่น การลอกท่อ อาจจะต้องใช้รถตัก น้ำมัน อุปกรณ์ต่างๆ ซึ่งต้องหักต้นทุนเหล่านี้แล้ว จนเหลือเป็นกำไรสุทธิ ซึ่งจะแบ่งให้ 70% แก่ผู้ต้องขัง

“การที่ผู้ต้องขังทำประโยชน์ให้กับสังคม อาจจะทำให้สังคมมองและให้โอกาสนักโทษเหล่านี้กลับตัวเป็นคนดี เมื่อออกมาสู่สังคมก็จะได้มีโอกาสที่ไปทำงานสุจริต ซึ่งตรงนี้คือสิ่งที่สำคัญ เป็นการลดการกระทำความผิดซ้ำ”

ผู้ต้องขัง ฆ่า ข่มขืน ค้ายาเสพติด และทุจริต หมดสิทธิ์ทำงานนอกเรือนจำ

เมื่อถามว่า นักโทษประเภทไหน ไม่สามารถออกมาทำงานนอกเรือนจำได้ นายอายุตม์ อธิบายว่า แน่นอนว่า การที่จะให้นักโทษเด็ดขาดออกมาภายนอกเรือนจำ การคัดเลือกเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะคดีที่ไม่เหมาะสมที่จะให้นักโทษออกมาทำงานภายนอก เช่น นักโทษที่ก่อเหตุฆาตกรรมรุนแรง ข่มขืน คดีสะเทือนขวัญ ค้ายาเสพติด รวมไปถึงการคดีทุจริตประพฤติมิชอบ ซึ่งทางกรมฯ ได้มีคณะกรรมการกลั่นกรอง

เปิดหลักเกณฑ์พิจารณา นักโทษเด็ดขาด ออกไปทำงานสาธารณประโยชน์

สำหรับ ระเบียบกรมราชทัณฑ์ ว่าด้วยการส่งนักโทษเด็ดขาดออกไปทำงานสาธารณะ หรือทำงานอื่นใดเพื่อประโยชน์ของทางราชการนอกเรือนจำ ปี 2563 ได้ระบุใจความสำคัญ อยู่ในหมวดที่ 1

ข้อที่ 5 นักโทษเด็ดขาดชั้นกลางขึ้นไป ที่ศาลมีคำพิพากษาลงโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี และต้องโทษเพียงคดีเดียว และต้องรับโทษแล้วไม่น้อยกว่า 1 ใน 4 ที่ระบุไว้ในหมายแจ้งโทษเด็ดขาดฯ

ข้อ 6 นักโทษเด็ดขาดนอกจากข้อ 5 ซึ่งเหลือโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี อาจได้รับการพิจารณาคัดเลือกออกไป โดยต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้
1) ชั้นเยี่ยม : ได้รับโทษจำคุกมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ใน 5
2) ชั้นดีมาก : ได้รับโทษจำคุกแล้วไม่น้อยกว่า 1 ใน 4
3) ชั้นดี : ได้รับโทษจำคุกแล้วไม่น้อยกว่า 1 ใน 3
4) ชั้นกลาง ได้รับโทษจำคุกแล้วไม่น้อยกว่า 1 ใน 2

อายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์
อายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์

...

ข้อ 7 นักโทษเด็ดขาดคดียาเสพติด อาจจะได้รับการพิจารณาโดยมีหลักเกณฑ์

1) ต้องโทษจำคุกครั้งแรก โดยพิจารณาจากหมายจำคุกไม่ได้มีการเพิ่มโทษตามมาตรา 92 มาตรา 93 ประมวลกฎหมายอาญา และมาตรา 97 แห่งคดียาเสพติด
2) ผลการตรวจสอบจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ไม่เข้าข่ายเป็นผู้กระทำผิดรายสำคัญ
3) กำหนดโทษตามคำพิพากษาไม่เกิน 15 ปี ไม่กระทำผิดฐานการผลิต นำเข้าหรือส่งออก

8. นักโทษเด็ดขาดที่ไม่อยู่ในข่ายการพิจารณาคัดเลือกให้ออกไปทำงานสาธารณะ

1) ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร
2) ความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้าย
3) ความผิดเกี่ยวกับเพศ
4) ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน
5) นักโทษเด็ดขาดที่มีคู่คดีในเรือนจำเดียวกัน
6) อยู่ระหว่างการอายัดตัวดำเนินคดีอื่น
7) อยู่ระหว่างดำเนินการทางวินัย หรือ เคยถูกลงโทษทางวินัย ในระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา
8) มีพฤติการณ์เข้าข่ายนักโทษเด็ดขาดรายสำคัญที่เป็นเครือข่ายยาเสพติดรายใหญ่ หรือ โทรศัพท์มือถือในเรือนจำ (Big Name) หรือ นักโทษเด็ดขาดคดีเป็นที่สนใจของสังคม (Brand Name) หรือ นักโทษเด็ดขาดที่เฝ้าระวังการก่ออาชญากรรมสะเทือนขวัญต่อสังคม (Watch list)
9) มีโทษกักขังต่อจากโทษจำคุก
10) อยู่ระหว่างถูกดำเนินคดีอาญาอื่นหรือ กระทำผิดอาญาขณะถูกคุมขังในเรือนจำ
11) มีพฤติการณ์ที่แสดงให้เห็นว่า เมื่อจ่ายออกไปแล้ว อาจจะหลบหนี หรือก่อให้เกิดความเสียหายแก่ราชการ
12) ความผิดอื่นตามที่อธิบดีกำหนด

...

“นักโทษ” ออกมาทำสาธารณประโยชน์แล้วหลบหนี

เมื่อถามว่า ที่ผ่านมาเคยมีกรณีนักโทษที่ออกมาทำงานภายนอกแล้วหลบหนี อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ยอมรับตรงๆ ว่ามีบ้าง เพราะเวลาออกไปทำงานภายนอก ญาติของนักโทษบางคนก็ทราบ ก็อยากไปเยี่ยมหรือพบที่หน้างาน พอได้รับข่าวสารจากครอบครัว แล้วเกิดอยากจะหลบหนี

“ด้วยเหตุนี้ เวลานักโทษออกไปทำงาน จึงต้องมีผู้คุมคอยสอดส่อง ซึ่งหากเป็นไปได้ การออกไปทำงานภายนอก เราก็อยากให้ญาติมารับรองด้วย อย่างไรก็ตาม กรมราชทัณฑ์เองก็มีความเชื่อมั่นว่า เราคัดเลือกบุคคลที่มีความเชื่อมั่นว่าจะไม่หลบหนี และในระหว่างการทำงาน เราก็มีมาตรการในการตรวจสอบ นับคน อยู่ทุกเวลา ซึ่งการหลบหนีถือว่าไม่เป็นผลดีกับตัวนักโทษคนนั้นเอง เพราะเราก็ต้องไปตามจับ และดำเนินคดีเพิ่มโทษไปอีก”
นายอายุตม์ กล่าวว่า การที่นักโทษคิดจะหลบหนีถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่คุ้มค่า เพราะการได้ออกมาแบบนี้ ได้ลดวันลดโทษแล้ว การได้ทำงานสาธารณะถือว่า มีความหวังว่าจะได้พ้นโทษเร็วขึ้นด้วย

อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ทิ้งท้ายว่า งานที่สำคัญอย่างหนึ่งของราชทัณฑ์ คือ การเตรียมความพร้อมให้กับนักโทษก่อนที่จะกลับเข้าสู่สังคม บางคนออกมา มีอาชีพ มีรายได้ดี ซึ่งก็มีจำนวนมาก แต่สำหรับบางคน อยู่ในเรือนจำนาน ไม่เคยเห็นรถไฟฟ้าวิ่งด้วยซ้ำ พอเห็นแล้ว สังคมเปลี่ยนไปมาก ทำให้เขาเกิดความเครียด ฉะนั้น อยากจะให้สังคมให้โอกาส เวลาส่งผู้ต้องขังออกไปภายนอก ได้ใกล้ชิดกับประชาชน ได้ทำงานเพื่อสังคม ก็ทำให้เขาเห็นว่า มีอากาสกลับตัวเป็นคนดีได้

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน 

อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ 

...