จากกรณีเพจสังคมออนไลน์ชื่อดัง แชร์เรื่องราวสะเทือนใจของสาวรายหนึ่ง ที่ถูกการไฟฟ้าฯ ตัดไฟ จนทำให้ผู้เป็นมารดา ซึ่งมีอาการป่วยติดเตียงนอนร้องไห้ เหงื่อท่วมตัว จนต้องรีบจ่ายเงินแบบออนไลน์

โดยเจ้าของเคสได้โพสต์ถามว่า ต้องทำแบบไหน เวลาที่การไฟฟ้าฯ มาตัดไฟ ก่อนตัดอยากให้เขาโทรแจ้งก่อน เพราะมีแม่เป็นผู้ป่วยติดเตียง ค้างค่าไฟ 1 เดือน แล้วไม่ได้ไปจ่าย และเมื่อโดนตัดไฟก็ตัดตอนไหนไม่รู้

“หนูก็จ่ายค่าไฟที่ค้างไป (มอเตอร์แบบออนไลน์) 1 ชั่วโมงผ่านไปไฟก็ยังไม่มา เคยแจ้งเขาแล้วว่าแม่ติดเตียง ไม่สามารถเดิน ขยับ และพูดได้ เลยอยากให้ช่วยผลักดันการทำงาน ให้ความสำคัญต่อผู้ป่วยติดเตียง ก่อนจะตัดไฟให้ โทร.หาเจ้าบ้านหรือผู้ดูแล ถ้าโทรแล้วไม่รับก็ตัดไปเลย แบบนี้โอเค การไฟฟ้าฯ น่าจะลิสต์ข้อมูล บ้านที่มีผู้ป่วยติดเตียงไว้ แล้วโทร.หาไฟฟ้าท้องถิ่นก็ติดยากเหลือเกิน มันหดหู่อย่างบอกไม่ถูกค่ะ" เจ้าของเคสระบุ

กรณีที่เกิดขึ้น “การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค PEA” เคย ระบุหลักเกณฑ์ ยกเว้นการงดจ่ายไฟฟ้า (ไม่ตัดกระแสไฟฟ้า) กับสถานที่หรือบ้านที่มีผู้ป่วยที่ต้องใช้ไฟฟ้าในการเดินเครื่องมือทางการแพทย์เพื่อการรักษาพยาบาล 5 ข้อ

...

1. ผู้ใช้ไฟฟ้าติดต่อลงทะเบียนที่สำนักงาน PEA ในพื้นที่ทุกแห่ง
เอกสารที่ต้องใช้ในการลงทะเบียน
- บัตรประจำตัวประชาชนของผู้ใช้ไฟฟ้า
- บัตรประจำตัวประชาชนของผู้ป่วย หรือสำเนา
- ใบรับรองแพทย์จากโรงพยาบาล มีอายุไม่เกิน 1 เดือน นับแต่วันที่ออกใบรับรองแพทย์ที่ระบุว่าผู้ป่วยที่ต้องใช้ไฟฟ้าในการเดินเครื่องมือทางการแพทย์เพื่อการรักษาพยาบาล
- หลักฐานแสดงสถานที่ใช้ไฟฟ้า เช่น ใบเสร็จรับเงินค่าไฟฟ้า หรือสัญญาซื้อขายไฟฟ้าหรือสำเนาทะเบียนบ้านสถานที่ใช้ไฟฟ้า
- ในกรณีที่มอบอำนาจให้ผู้อื่นมาดำเนินการแทน ต้องมีหลักฐานแสดงตัวของผู้มอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจ

2. PEA สงวนสิทธิ์การเข้าตรวจสอบสถานที่ใช้ไฟฟ้า

3. ยื่นลงทะเบียนเพื่อรักษาสิทธิ์ต่อเนื่องภายในวันที่ 31 มกราคม ของทุกปี

4. กรณีไม่มีความจำเป็นต้องใช้ไฟฟ้าในการเดินเครื่องมือทางการแพทย์ ต้องแจ้งยกเลิกกับ PEA ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่สิ้นสุดความจำเป็น

5. PEA จะยกเลิกสิทธิ์ ในกรณีดังนี้
- ค้างชำระค่าไฟฟ้ารวมกัน 3 เดือน
- ตรวจพบการกระทำโดยมิชอบ/การละเมิดการใช้ไฟฟ้า
- แจ้งข้อมูลอันเป็นเท็จ
- ตรวจพบผู้ป่วยยกเลิกการใช้เครื่องมือทางการแพทย์ แต่ไม่มีการแจ้งยกเลิกกับ PEA

ทั้งนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้โทรสอบถามข้อเท็จจริงถึงกรณีดังกล่าว กับ นายมนตรี ยันตรวัฒนา ผู้ช่วยผู้ว่าการ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เขต 2 ได้อธิบายอีกมุมหนึ่งว่า

นายมนตรี บอกกับทีมข่าวว่า จริงๆ เรามีหลักเกณฑ์ในการยื่น สำหรับผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใช้ไฟ เพราะใช้เครื่องมือทางการแพทย์ 5 ข้ออยู่แล้ว อย่างไรก็ดี กับเคสกับที่เกิดขึ้นนี้ เขาเคยมาแจ้งว่า อยากจะใช้หลักเกณฑ์นี้กับที่บ้าน แต่..เขาไม่มีเอกสารหลักฐานอะไรมาให้

“แล้วข้อเท็จจริง คือ เคสนี้ไม่ได้ค้างค่าไฟ 1 เดือน แต่เป็นการค้างค่าไฟ 2 เดือน แล้วเขาก็มาจ่ายเพียง 1 เดือน ซึ่งตามระบบจริงๆ แล้ว ถ้าจ่ายแค่เดือนเดียว จะไม่ต่อให้ด้วย แต่ระบบทำการต่อไฟให้ใช้ ซึ่งในพื้นที่พัทยา เริ่มมีการใช้ระบบ AI (เมื่อ พ.ย.64) ในการตรวจสอบและตัดไฟ ซึ่งถือว่าระบบขัดข้องด้วยซ้ำ”

สำหรับยอดค้างชำระค่าไฟฟ้า

ยอดประจำเดือน 04/65 ยอดค้างค่าไฟฟ้า 1,380.30 บาท ครบกำหนดชำระ วันที่ 24/04/65

ยอดประจำเดือน 05/65 ยอดค้างค่าไฟ 1,827 บาท ครบกำหนดชำระวันที่ 25/05/65

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ได้ส่งใบแจ้งเตือน (ใบสีฟ้า) เมื่อวันที่ 04/05/65 เวลา 12.04 น. และครบกำหนดใหม่ 10/05/65

สำหรับการจ่ายเงินค่าไฟฟ้า ของบิลเดือนเมษายน จำนวนเงิน 1,380.30 บาท ในวันที่ 27/05/65 เวลาโดยประมาณ 21.15 น. ผ่าน APP smart+ และต่อมิเตอร์เวลา 23.13 น.

นายมนตรี อธิบายต่อไปว่า หากเขานำหลักฐานมายื่นต่อ กฟภ. ก็จะสามารถค้างได้ถึง 3 เดือน ซึ่งล่าสุด ทาง กฟภ. ก็ได้ติดต่อให้นำเอกสารต่างๆ มายื่น ก็พบว่ายังไม่มายื่น ทั้งนี้ ยืนยันว่า ทาง กฟภ. ได้มีการแจ้งเตือนให้ชำระค่าไฟแล้ว โดยเจ้าหน้าที่ได้ไปหาถึงที่บ้าน แต่ไม่มีคนออกมาจากบ้าน จึงนำเอกสารใส่กล่องจดหมายไว้

...

ทั้งนี้ การทำจดหมายแจ้งเตือน ก็มีค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่าย โดย 1 ใบ มูลค่า 10 บาท แต่ทาง กฟภ. ก็ไม่ได้เรียกเก็บกับลูกค้า แต่ประเด็นคือ สิ่งที่เกิดขึ้นเราก็รู้สึกเห็นใจ โดยเราก็มีนโยบายลงไปว่า หากมีการยื่นเอกสารหลังจากนี้ เราจะไม่ตึงจนเกินไป เช่น หากมีใบรับรองแพทย์จากคลินิก แต่ไม่ใช่โรงพยาบาลรัฐ แบบนี้ก็จะพอได้ ก็จะผ่อนผันให้ ซึ่งตามระเบียบของสาธารณสุข สำหรับ “ผู้ป่วยติดเตียง” มีหลักเกณฑ์ระบุไว้เยอะ เพราะจะมีสิทธิ์รับเงินช่วยเหลือ

“เรากำชับเจ้าหน้าที่ลงไปแล้วว่า ให้เห็นใจประชาชน เพราะตามปกติแล้ว หากเป็นประชาชนทั่วไป ก็จะค้างได้ 2 เดือน แล้วต้องจ่าย ส่วนหากทางบ้านมีผู้ป่วยติดเตียง จำเป็นต้องใช้ไฟฟ้ากับเครื่องมือแพทย์ เราก็เห็นใจให้ค้างได้ 3 เดือน ซึ่งเคสนี้หากมายื่นเราก็เพิ่มให้อีก 1 เดือนอยู่แล้ว แต่ถึงเวลาก็ต้องชำระค่าไฟอยู่ดี”

นายมนตรี กล่าวทิ้งท้ายต่อว่า ที่ผ่านมา กฟภ. ก็รู้สึกเห็นใจประชาชน ต้องประสบปัญหาโควิด-19 ระบาด จึงมีนโยบายผ่อนผันจ่ายค่าไฟ ซึ่งเคสนี้ก็เข้าร่วมโครงการผ่อนผัน และที่ผ่านมาก็มีคนติดค่าไฟฟ้ากับ กฟภ. จำนวนมาก บางคน 1-2 ปี ยังไม่จ่ายก็มี ซึ่งคิดรวมกันเป็นมูลค่าหลายล้านบาท

...

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์

อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ