แม้ผลการนับคะแนนเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ยังไม่เสร็จสิ้น หลังปิดหีบเลือกตั้งเมื่อเวลา 17.00 น.วันที่ 22 พ.ค. 2565 แต่ผลปรากฏว่า “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ผู้สมัครอิสระ เบอร์ 8 คะแนนนำโด่งไปแล้ว กำลังกลายเป็นว่าที่ผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น รวมถึงผลโพลหลายสำนักที่ชี้ชัดคะแนนนิยมของชัชชาติ ไม่เคยแผ่วลงนับตั้งแต่ประกาศตัวลงสนามแข่งขัน จนมาถึงช่วงโค้งสุดท้าย และรอเพียงกกต.ประกาศผลอย่างเป็นทางการภายใน 30 วัน หากไม่มีเรื่องร้องเรียน หรือเหตุการณ์พลิกผันใดๆ
แล้วเหตุผลใดที่คนกรุง ต่างเทคะแนนให้กับ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” รศ.ดร.นันทนา นันทวโรภาส คณบดีวิทยาลัยสื่อสารการเมือง มหาวิทยาลัยเกริก มองว่า เหตุผลหนึ่งมาจากคนใช้สิทธิค่อนข้างมาก เพราะระยะเวลาเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ควรเป็น 4 ปีครั้ง แต่กลับกลายเป็น 9 ปี และกว่าจะเลือกตั้ง ส.ก.ก็ใช้เวลา 12 ปี เป็นความรู้สึกของผู้คนที่ต้องการตัวแทนไปดูแลพวกเขา คือ ส.ก. และต้องการผู้ว่าฯ กทม. มาทำในสิ่งที่ต้องการได้รับ ไม่ใช่มาชี้นิ้ว อย่างที่เคยทำ
...
“ใช้ว่าแลนด์สไลด์ก็ได้ สะท้อนให้เห็นว่าฝ่ายอนุรักษนิยมที่พยายามบอกต้องรวมกัน ต้องเลือกผู้ว่าฯ กทม.แบบมียุทธศาสตร์นั้นใช้ไม่ได้ เพราะคนเข้าใจการเมืองและรู้ว่ามีการชี้นำให้ทำตามคนบางกลุ่ม ยิ่งพอบอกว่าให้เลือกแบบยุทธศาสตร์ ยิ่งสร้างความเกลียดชัง ทำให้คนไม่เล่นด้วย ทำให้ชัชชาติได้คะแนนโดยปริยาย”
ส่วนคนที่ยังไม่ตัดสินใจในตอนแรก ได้เทคะแนนให้ชัชชาติ เพราะต้องการหยุดการใช้อำนาจที่มีมานาน แทนที่จะฟังเสียงประชาชน และทุกเขตที่มีทหารก็เลือกชัชชาติ แสดงให้เห็นว่าไม่สามารถควบคุมได้ เหมือนสายลมแล้ง ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้เหมือนการเลือกตั้งใหญ่ปี 2562 และถือว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และพวก หมดความขลังไปแล้ว
นอกจากนี้ ยังชี้ให้เห็นการเลือกตั้งครั้งหน้า แม้ไม่ยุบสภา แต่ต้องเลือกตั้งในเดือนมี.ค.ปีหน้า ซึ่งระยะเวลาใกล้กันมาก เพราะ “มู้ดแอนด์โทน” ของคนยังอยู่ในอารมณ์นี้ เป็นอันตรายต่อพรรคร่วมรัฐบาลกับปีกอนุรักษนิยม ที่เคยกอดคอกันใช้อำนาจจนได้ผล แต่ยิ่งนานไปยิ่งทำให้คนพร้อมจะเปลี่ยน
อีกหนึ่งสิ่งที่เห็นจากคะแนนรวมกันของผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. 3-4 คน ในปีกอนุรักษนิยม พบว่ายังน้อยกว่าชัชชาติ และวิโรจน์ ลักขณาอดิศร แสดงให้เห็นความพ่ายแพ้จนป้อมค่ายพังยับเยิน เพราะไม่มีเขตใดเลือก ทำให้คะแนนชัชชาติ เป็นสถิติใหม่ กลายเป็นชนะทุกเขตแบบไม่เคยมีมาก่อนและเป็นปรากฏการณ์ใหม่ สะท้อนคะแนนนิยมของรัฐบาล ไม่ใช่ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ไม่ชนะเท่านั้น แต่เป็นพล.อ.ประยุทธ์ ด้วย
หรือแม้แต่โพลที่ก่อนหน้าพบว่า พล.ต.อ.อัศวิน มาเป็นอันดับสอง แต่ผลเลือกตั้งออกมากลับเป็น วิโรจน์ แสดงให้เห็นว่าคนเปลี่ยนตัวเลือกไปแล้ว จากคะแนนนิยมของพล.ต.อ.อัศวิน ที่มาจากการสนับสนุนของ พล.อ.ประยุทธ์ กลายเป็นเตี้ยอุ้มค่อม และเป็นการตัดสินใจที่พลาดของรัฐบาล ที่คิดว่า พล.ต.อ.อัศวิน จะสามารถใช้กลไก กทม.ในการให้ประโยชน์กับชุมชนได้ คิดว่าคุมคะแนนเสียงได้ จึงไม่ให้ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ลงแข่งขัน กระทั่งการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.มาถึง และรู้ผลคะแนนที่ชัดเจน ยิ่งสะท้อนความนิยมของรัฐบาลที่ลดลงมากขึ้นในที่สุด.