แม้เป็นผลเลือกตั้งไม่เป็นทางการ แต่คะแนนเสียงพรรคฝ่ายค้าน กวาดเก้าอี้สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร หรือ ส.ก. ไปอย่างท่วมท้น ในการเลือกตั้งกรุงเทพฯ หนนี้ สะท้อนถึงท่าทีของประชาชน และอาจสร้างความสั่นสะเทือนทางการเมือง ในเวทีระดับชาติ ต่อจากนี้

“ดร.อมร วาณิชวิวัฒน์” อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์ว่า คะแนนเสียง ส.ก. สองอันดับแรก มาจากพรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล ที่อยู่คนละขั้วกับฝั่งรัฐบาล ซึ่งในการทำงานร่วมกับ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ว่าที่ผู้ว่าฯ  กรุงเทพคนใหม่ ไม่น่าจะมีปัญหา เพราะแนวคิดการทำงานมีความสอดคล้องกัน

ด้านการอนุมัติงบประมาณ การที่ ส.ก.ชุดใหม่มีขั้วพรรคฝ่ายค้านเข้ามามาก จะช่วยให้การอนุมัติงบประมาณกว่าแสนล้านบาท มีประสิทธิภาพมากขึ้น ขณะเดียวกันอาจมีการรื้อโครงการ ที่ผู้ว่าฯ คนเก่าทำไว้มาตรวจสอบ และจะเกิดการเช็กบิลย้อนหลังได้ ตัวอย่างเช่น สมัย “อภิรักษ์ โกษะโยธิน” แม้ลงจากตำแหน่งผู้ว่าฯ แล้ว แต่ยังมีการตรวจสอบ โชคดีที่พิจารณาแล้วไม่มีความผิด

"นี่จึงเป็นอีกเรื่องที่ต้องจับตามอง ว่าจะมีการรื้อฟื้นเพื่อตรวจสอบ โครงการสมัยพลตำรวจเอกอัศวิน ขวัญเมือง หรือไม่ เพราะแม้คดีความจะมีระยะเวลากำหนด แต่ถ้ามีการทำงานด้านข้อมูลภายในที่รวดเร็ว คดีความจะเสร็จสิ้นได้เร็วขึ้น"

...

หากมองด้านการเมือง เป็นผลดีต่อพรรคฝ่ายค้าน ที่ได้รับเลือกเป็น ส.ก. ในการสร้างฐานเสียงในพื้นที่ และการทำงานที่ใกล้ชิดกับประชาชนมากขึ้น ถือเป็นฐานเสียงสำคัญ ก่อนจะมีการเลือกตั้งเวทีใหญ่ หลังจากนี้ แต่ในอีกมุมหนึ่งก็มีทฤษฏีทางการเมืองที่พรรครัฐบาลมักจะไม่ชนะคะแนนในการเลือกตั้งของเมืองกรุง เพราะประชาชนต้องการให้เกิดการคานอำนาจระหว่างกัน ซึ่งในการเลือกตั้งกรุงเทพฯ ครั้งนี้ อาจเป็นอีกสัญญาณเตือนให้ฝั่งรัฐบาลต้องมานั่งวิเคราะห์ กลยุทธ์การสร้างฐานเสียงของตนเองในกรุงเทพฯ ใหม่

อีกสิ่งที่น่าจับตา ถ้าการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ครั้งนี้ มีผู้มาใช้สิทธิ์เกิน 70 เปอร์เซ็นต์ จะเป็นสัญญาณเตือนสำคัญให้พรรคฝั่งรัฐบาลต้องทบทวนมากขึ้น ขณะที่พรรคฝ่ายค้านก็มีความมั่นใจ และเดินเกมสร้างฐานเสียง โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เป็นกำลังสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลง ในการเลือกตั้งระดับประเทศครั้งหน้า.