บนหน้าประวัติศาสตร์ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน หลายปัญหาทับถม ซ้อนทับ ท่ามกลางประชากรเมืองที่เพิ่มขึ้น แต่สำหรับเวทีการเมือง เก้าอี้ผู้ว่าฯ มีการแข่งขันดุเดือด ทั้งจากพรรคเก่าแก่ ยึดครองคะแนนเสียงมายาวนาน และพรรคการเมือง “คลื่นลูกใหม่” ในแต่ละยุค

หลังยุคสงครามเย็น ความเจริญค่อยๆ ตกแต่งเมืองหลวง ให้วิบวับด้วยแสงไฟ ทั้งถนนเพชรบุรี เมืองฝั่งพระนคร และธนบุรี ผนวกรวมเป็นกรุงเทพฯ ภายใต้แนวคิดพื้นที่พิเศษ ที่ต้องการผู้ว่าฯ มาจากเลือกตั้ง “รศ.ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์” อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้ฉายภาพให้เห็นว่า หลังเหตุการณ์ “14 ต.ค. 2516” ประชาชนเริ่มตื่นตัวทางการเมืองมากขึ้น เวทีผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ เป็นอีกสนาม ที่มีการผลักดันให้มีการเลือกตั้ง โดยผู้ว่าฯ ต้องเป็นคนที่เข้าใจปัญหา ท่ามกลางเมืองที่เติบโตรวดเร็ว

ปฐมบทเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ครั้งแรก

การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เกิดขึ้นครั้งแรก พ.ศ.2518 ก่อนหน้านั้น 2 ปี ผู้ที่นั่งหัวโต๊ะมาจากการแต่งตั้งของรัฐบาล ยุคนั้นพรรคประชาธิปัตย์ ครองฐานเสียงในเมืองหลวงอย่างเหนียวแน่น การส่ง “ธรรมนูญ เทียนเงิน” ลงแข่งขัน จึงไม่ใช่งานยาก ที่จะคว้าเก้าอี้มาครอง ครั้งแรกในหน้าประวัติศาสตร์ แต่ไม่นานก็เกิดรัฐประหารขึ้น ทำให้ ตำแหน่งผู้ว่าฯ มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหาร

ถัดจากนั้นอีกราว 7 ปี เวทีการเมืองกลับมาคึกคักอีกครั้ง เก้าอี้ผู้ว่าฯ คนใหม่เปิดต้อนรับให้คนที่ชนะการเลือกตั้ง ได้ทำงานอีกครั้ง ถึงตรงนี้ “รศ.ดร.ธำรงศักดิ์” เล่าถึงบรรยากาศให้ห้วงเวลานั้นว่า การเลือกตั้งปี พ.ศ.2528 เป็นหน้าประวัติศาสตร์ ที่มีการแข่งขันดุเดือด คนกรุงเทพฯ เฝ้ารอเวลานี้มายาวนาน โดยพรรคประชาธิปัตย์ ที่ยึดครองพื้นที่มาตลอด เปิดตัวผู้สมัคร หวังคว้าชัยอีกครั้ง

...

พลตรี จำลอง ศรีเมือง
พลตรี จำลอง ศรีเมือง


แต่ปรากฏการณ์ “มหา 5 ขัน” ทำให้คนเมืองสนใจ ชายที่สลัดเครื่องแบบทหาร มาสวมชุดหม้อห้อม นาม “พลตรี จำลอง ศรีเมือง” แม้ชื่อชั้น “กลุ่มรวมพลัง” จะโนเนม แต่ภาพความสมถะ ก็ครองใจชาวบ้านร้านตลาด ที่เรียกเสียงฮือฮาคือ ป้ายหาเสียง ดัดแปลงเอาฝาเข่งเก่ามาใช้ ทำให้ได้รับคะแนนเสียงท่วมท้น

การเข้ายึดพื้นที่เมืองหลวงของ “มหาจำลอง” ทำให้หลายพรรคการเมืองจับตา จนการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ในปี พ.ศ.2533 ชนะคะแนนเสียงท่วมท้นอีกหน แสงไฟทางการเมือง ฉายมาที่ “พรรคพลังธรรม” เพราะ 6 ปี ในตำแหน่งผู้ว่าฯ น่าจะเพียงพอในการเป็นบันไดให้ “พรรคพลังผัก” ก้าวสู่เวทีระดับชาติ

ร้อยเอก กฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา
ร้อยเอก กฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา


หลัง “มหาจำลอง” โดดไปเล่นการเมืองระดับชาติ การเลือกตั้งผู้ว่าฯ ในปี พ.ศ.2535 “พลังธรรม” ส่ง “ร้อยเอก กฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา” ลงแข่งขัน เวทีเลือกตั้งหนนี้ ร้อนแรงกว่าที่คิด ประชาชนกำลังตื่นตัวกับการเมือง ไม่กี่เดือนหลัง “ร้อยเอก กฤษฎา” ชนะการเลือกตั้ง ก็เกิดเหตุการณ์ “พฤษภาทมิฬ”

ผู้สมัครอิสระครองใจคนกรุง

ดร.พิจิตต รัตตกุล
ดร.พิจิตต รัตตกุล

การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ในปี พ.ศ. 2539 กลายเป็นศึกใหญ่ ที่อดีตผู้ว่า 2 สมัย อย่าง “มหาจำลอง” ลงสมัครอีกครั้ง เช่นเดียวกับ “ร้อยเอก กฤษฎา” มาในสีเสื้อพรรคประชากรไทย ขณะที่ “ดร.พิจิตต รัตตกุล” ที่คราวก่อนพ่ายแพ้การเลือกตั้ง รอบนี้สลัดคราบพรรคประชาธิปัตย์ มาเป็นผู้สมัครอิสระ ที่กวาดคะแนนชนะอดีต 2 ผู้ว่าฯ ซึ่งนักวิเคราะห์ทางการเมืองมองว่า หาก “มหาจำลอง” และ “ร้อยเอก กฤษฎา” ไม่ลงเลือกตั้งพร้อมกัน คะแนนอาจจะไม่ตัดกัน จนพ่ายแพ้ราบคาบ

...

สมัคร สุนทรเวช
สมัคร สุนทรเวช


เวทีการเมืองกรุงเทพฯ เริ่มเข้าสู่การเชื่อมโยงเวทีการเมืองระดับชาติมากขึ้น หลายพรรคใช้โอกาสนี้ ทดสอบฐานเสียง การเลือกตั้งผู้ว่าฯ ในปี พ.ศ.2543 “พรรคไทยรักไทย” ที่เริ่มก่อตั้งได้ไม่นาน ส่ง “คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์” ลงสมัครแข่งกับ “นักการเมืองฝีปากกล้า” สมัคร สุนทรเวช ในนามพรรคประชากรไทย และคว้าเก้าอี้ผู้ว่าฯ โดยสร้างประวัติศาสตร์ เป็นคนแรกที่มีคะแนนเสียงเกิน 1 ล้านคน

การกลับมาของพรรคประชาธิปัตย์

อภิรักษ์ โกษะโยธิน
อภิรักษ์ โกษะโยธิน

...


พรรคประชาธิปัตย์ ว่างเว้นจากการชนะเลือกตั้งเวทีผู้ว่าฯ มายาวนาน การเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2547 เป็นครั้งสำคัญ ในการเปิดตัว “อภิรักษ์ โกษะโยธิน” คนหนุ่มที่มีพื้นฐานการบริหารภาคเอกชน มีบุคลิกคล่องแคล่ว และมีแววว่าจะก้าวสู่เวทีเลือกตั้งใหญ่ ชนะไปด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น เช่นเดียวกับการมารับตำแหน่งต่อในปี พ.ศ. 2551 แต่ก็อยู่ไม่ครบวาระ จึงต้องสละเก้าอี้ เปิดทางให้การเลือกตั้งครั้งใหม่

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร
ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร


การเลือกตั้งผู้ว่าฯ ในปี พ.ศ.2552 พรรคประชาธิปัตย์ หวังทวงคืนคะแนนเสียงอีกครั้ง จึงส่ง “ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร” ลงเลือกตั้ง ด้วยภาพลักษณ์ที่มาจากตระกูลเก่าแก่ ทำให้ได้รับคะแนนเสียง เป็นผู้ว่าฯ คนใหม่ เช่นเดียวกับการลงสมัครอีกครั้งในปี พ.ศ. 2556 แม้จะมีความตึงเครียดทางการเมือง หลังผ่านเหตุการณ์ “พฤษภา 53” แต่ก็ยังได้รับความไว้วางใจ ก่อนมีการรัฐประหาร และปลดออกจากตำแหน่ง โดยแต่งตั้ง “พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง” ดำรงตำแหน่งแทน

...

สำหรับ “รศ.ดร.ธำรงศักดิ์” ที่ติดตามการทำงานของผู้ว่าฯ กทม.ในหลายยุคสมัย อยากให้เปลี่ยนการบริหารงาน โดยเฉพาะผู้อำนวยการแต่ละเขต ต้องมาจากตำแหน่งทางการเมือง มากกว่าจะเป็นข้าราชการประจำอย่างที่เป็นอยู่ เพื่อให้เกิดการทำงานที่ฉับไว และผู้ว่าฯ สามารถสั่งงานได้ โดยจะเป็นการเปลี่ยนโฉมหน้าของกรุงเทพฯ ที่เต็มด้วยปัญหา ให้เกิดการทำงานอย่างเป็นระบบ บนหน้าประวัติศาสตร์การเลือกตั้งผู้ว่าฯ สะท้อนพัฒนาการเวทีการเมืองไทย และคุณภาพของผู้สมัคร เพราะสุดท้ายแล้ว อำนาจย่อมอยู่ในมือของประชาชน.