ท่ามกลางการระบาดโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ที่นำโดย "สายพันธุ์โอมิครอน BA.2" ซึ่งทำให้ผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นอย่างน่าวิตกไปทั่วโลก ประเด็นเรื่อง “ระบบภูมิคุ้มกัน” (Immume System) ถูกหยิบยกขึ้นมาตั้งคำถามในวงกว้างอีกครั้งว่า “จำเป็นหรือไม่” ที่ต้องวัดระบบภูมิคุ้มกันของตัวเอง รวมถึง มีสัญญาณบ่งชี้อะไรหรือไม่ว่า ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายของเรา “กำลังอ่อนแอ” หรือ "เข้มแข็ง" มากพอแล้วหรือยัง สำหรับการป้องกัน "โอมิครอน BA.2?"
และนี่คือ...สัญญาณเตือนสำคัญที่อาจสามารถตอบคำถามจากบรรทัดด้านบนทั้งหมดได้
อะไรคือสัญญาณบ่งชี้ว่า ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ :
1. ป่วยบ่อยและใช้เวลาในการฟื้นตัวนานกว่าปกติ
อย่าตื่นตระหนกหากพบว่าตัวเองมีอาการจามและคัดจมูกเมื่อเป็นโรคหวัด 2 หรือ 3 ครั้งต่อปี เพราะคนส่วนใหญ่จะมีร่างกายกลับมาเป็นปกติในเวลาประมาณ 1 สัปดาห์
...
แต่กลับกันหากเกิดเป็นหวัดอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังมีอาการป่วยคงอยู่ยาวนานหลายสัปดาห์ หรือเกิดอาการอาหารเป็นพิษอยู่บ่อยๆ มีความเป็นไปได้สูงว่าอาจเกิดขึ้นเพราะการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายเฉื่อยลง
ข้อควรรู้ : ระบบภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติ คือ แนวป้องกันไม่ให้เชื้อโรคที่เป็นอันตรายเข้าสู่ร่างกายของมนุษย์ โดยแนวป้องกันด่านแรกที่บ่งชี้ถึงการป้องกันผู้บุกรุกคือ
อาการไอ : คือการขับสิ่งที่สร้างความระคายเคือง หรือ อาจทำให้เกิดอาการติดเชื้อได้
การมีเสมหะเพิ่มมากขึ้น : คือการดักจับแบคทีเรียหรืออนุภาคขนาดเล็ก เพื่อขับออกจากร่างกาย
กรดในกระเพาะอาหาร : ช่วยฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ที่เข้าสู่ร่างกายผ่านอาหารและน้ำ
2. ตกอยู่ภายใต้ภาวะความเครียดตลอดเวลา
แม้ความเครียดบางอย่างอาจเป็นประโยชน์ต่อระบบภูมิคุ้มกันและสุขภาพโดยรวม เช่น ความเครียดเฉียบพลันในระยะสั้น เช่น ความเครียดเมื่อรถติด ร่างกายของมนุษย์จะตอบสนองด้วยการเพิ่มกลไกในการป้องกันขึ้นในทันที ด้วยเหตุนี้ ความเครียดเฉียบพลันจึงช่วยเพิ่มระบบภูมิคุ้มกันได้ในระยะสั้นๆ
แต่ในมุมกลับกัน ภาวะความเครียดเรื้อรัง นอกจากจะทำให้เกิดความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันแล้ว ยังจะกดภูมิคุ้มกันในต่ำลงด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้จะนำไปสู่การติดเชื้อได้ง่ายและการฟื้นตัวจากโรคได้ไม่ดีนัก
นอกจากนี้ ยังมีผลการศึกษาที่สามารถบ่งชี้ได้อีกว่า ภาวะความเครียดที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง อาจทำให้เกิดโรคกลุ่มอาการภูมิต้านทานเนื้อเยื่อตัวเอง (Autoimmune Diseases) เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid Arthritis) และ โรคลำไส้ใหญ่อักเสบเรื้อรัง (Ulcerative Colitis) รวมทั้ง กลุ่มอาการแพ้ (Allergic Reaction) ต่างๆ เช่น โรคผิวหนังอักเสบ (Eczema) หรือ โรคหอบหืด (Asthma) ด้วย
3. ป่วยเป็นโรคเริมหรืองูสวัดบ่อยครั้ง
ไวรัสที่ทำให้เกิดโรคเริมและงูสวัด เมื่อเข้าสู่ร่างกายและทำให้เกิดการติดเชื้อแล้ว เมื่อร่างกายหายเป็นปกติแล้ว เชื้อดังกล่าวจะหลบซ่อนอยู่ในปมประสาทของร่างกาย และมักจะออกมาจู่โจมร่างกายเมื่อเกิดภาวะความเครียดหรือภูมิคุ้มกันในร่ายกายอ่อนแอลง ด้วยเหตุนี้หากกลับมาเป็นโรคเริม หรือ งูสวัดบ่อยครั้ง ย่อมแปลว่าระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายต้องการได้รับการกระตุ้น
4. การใช้ยาบางชนิดที่ทำให้ภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง
ยาสำคัญหลายชนิดที่ใช้ในการทำเคมีบำบัดเพื่อรักษาโรคมะเร็ง ยารักษาโรคภูมิต้านทานเนื้อเยื่อตัวเอง หรือ ยาป้องกันปฏิกิริยาร่างกายต่อต้านการปลูกถ่ายอวัยวะ จะทำให้ภูมิคุ้มกันร่างกายลดต่ำลง
วิธีการสร้างภูมิคุ้มกันในร่างกายให้เข้มแข็ง :
ข้อควรรู้ : ไม่ว่าสถานะการฟื้นตัวของภูมิคุ้มกันในร่างกายจะเป็นอย่างไร แต่มนุษย์สามารถทำให้ร่างกายแข็งแรงขึ้นได้
1. ให้อาหารระบบภูมิคุ้มกัน
...
ระบบภูมิคุ้มกันมนุษย์ต้องการอาหารที่อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในผักและผลไม้สด และอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินซีและเบต้าแคโรทีน (Beta Carotene)
ด้วยเหตุนี้จึงควรเน้นไปที่การรับประทานผักใบเขียวในทุกๆ วัน เช่น คะน้า หรือ ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ เช่น แบล็กเบอร์รี่ และผักตระกูลกะหล่ำที่อุดมไปด้วยไฟเบอร์ซึ่งเป็นมิตรต่อลำไส้ เช่น กะหล่ำปลี บร็อกโคลี รวมถึงอาหารที่อุดมไปด้วย แร่ธาตุสังกะสี (Zinc) และ ซิลีเนียม (Selenium) ที่มีผลต่อการเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ซึ่งมีในถั่ว เมล็ดพืช หอย และ เนื้อสัตว์บางชนิด
นอกจากนี้ การรับประทานอาหารจำพวก Superfood อย่างเช่น เห็ดชิตาเกะ, เห็ดไมตาเกะ, ชาเขียว และกลุ่มเครื่องเทศบางชนิด เช่น ขมิ้นชัน โรสแมรี และ กานพูล รายงานวิจัยหลายชิ้นพบว่าสามารถเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย
2. ให้ร่างกายรับแสงแดด
แสงแดดนอกจากจะช่วยเรื่องการผ่อนคลายความเครียดได้แล้ว การให้ร่างกายรับแสงแดดเพียง 10 - 15 นาทีต่อวัน อาจทำให้ร่างกายได้รับวิตามินดี ซึ่งเป็นวิตามินที่ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันได้มากเพียงพอแล้ว
ข้อมูลจากงานวิจัยบางชิ้นพบว่า หากร่างกายมีระดับวิตามินดีต่ำ อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการทำให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลงได้
...
3. นอนหลับให้เพียงพอ
คุณภาพและระยะเวลาในการนอนหลับที่เพียงพอ มีผลอย่างยิ่งต่อระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายมนุษย์ การอดนอนเรื้อรังมักสัมพันธ์กับการอักเสบ (Inflammation) หรือ กระบวนการที่ร่างกายตอบสนองต่อสิ่งที่ทำให้เนื้อเยื่อของร่างกายได้รับบาดเจ็บ เช่น เชื้อโรค การตายของเซลล์จากการขาดเลือดหรือขาดออกซิเจน โดยการตอบสนองโดยกระบวนการอักเสบประกอบด้วย การเปลี่ยนแปลงของหลอดเลือด การเข้ามาของเซลล์เม็ดเลือดขาว และผลกระทบที่เกิดกับร่างกายทั้งระบบ (Systemic effect) เนื่องจากในขณะที่ร่างกายกำลังพักผ่อน เซลล์ของระบบภูมิคุ้มกันจะมุ่งเน้นไปที่การโจมตีไวรัสและแบคทีเรียที่บุกรุกเข้ามาในร่างกาย
นอกจากนี้ การนอนหลับยังช่วยให้กลไลของแอนติบอดีสามารถจดจำแบคทีเรียและไวรัสที่เคยบุกรุกเข้ามาในร่ายกายก่อนหน้านี้ได้ดีมากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพขึ้นกว่าเดิมเมื่อแบคทีเรียและไวรัสชนิดเดิมบุกเข้ามาในร่างกายอีกครั้ง
4. หยุดสูบบุหรี่
นอกจากสารเคมีในควันบุหรี่เป็นสารที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งได้แล้ว มันยังมักทำเนื้อเยื่อเกิดอาการอักเสบและอยู่ในสภาพที่ต้องการซ่อมแซมตัวเองอย่างต่อเนื่องด้วย
...
การสูบบุหรี่ กัญชา และแม้กระทั่งบุหรี่ไฟฟ้า ล้วนเป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจ ซึ่งถือเป็นอุปสรรคแรกในการเข้าจู่โจมของไวรัสและแบคทีเรียในอากาศ
5. จำกัดการดื่มแอลกอฮอล์
แอลกอฮอล์ส่งผลเสียต่อเซลล์ภูมิคุ้มกันโดยธรรมชาติและเซลล์ภูมิคุ้มกันส่วนใหญ่ในร่างกายมนุษย์ การดื่มแบบเรื้อรังและมากเกินไปยังทำลายเยื่อบุทางเดินอาหาร จนอาจเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการรั่วไหลของจุลินทรีย์เข้าสู่กระแสเลือดได้อีกด้วย
6. ลดภาวะความเครียด
วิธีที่มีประสิทธิภาพที่สุดวิธีหนึ่งในการเสริมสร้างการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกัน คือ การจัดการความเครียดด้วยการทำสมาธิ การฝึกการหายใจ
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :