ถึงวันนี้เราอยู่กับ “โควิด-19” มาแล้วกว่า 3 ปี มีคนทั่วโลกเสียชีวิตไปแล้วกว่า 6.4 ล้านคน (ข้อมูลวันที่ 31 มี.ค. 65) อย่างไรก็ตาม หน่วยงานด้านสาธารณสุขระดับโลกอย่างองค์การอนามัยโลก มีการประเมินว่า ตัวเลขผู้เสียชีวิตจริงๆ อาจจะมากกว่าสถิติถึง 3 เท่า...

นอกจากผู้เสียชีวิตแล้ว คนป่วยที่หายกลับมาจำนวนมากก็ไม่เหมือนเดิม เนื่องมาจากอยู่ในภาวะ Long Covid (ลองโควิด) ซึ่งหนึ่งในอาการลองโควิด ก็คือ “อาการผมร่วง” และวันนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ มีโอกาสพูดคุยกับ “คุณหมอโบนัส” หรือ รองศาสตราจารย์ ดร.พญ.รัชต์ธร ปัญจประทีป หัวหน้าศูนย์โรคเส้นผมและหนังศีรษะ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เจ้าของรางวัลงานวิจัยระดับโลก ในการรักษาผมร่วงศีรษะล้านจากพันธุกรรม ซึ่งวันนี้มีอยู่ 2 ประเด็น คือ การเปรียบเทียบเชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์เดลตา กับ โอมิครอน ว่าสายพันธุ์ร้ายใดส่งผลกับ “เส้นผม” มากกว่ากัน....

รองศาสตราจารย์ ดร.พญ.รัชต์ธร อธิบายว่า อาการผมร่วงที่เจอกันนั้นคือ อาการ “ผมร่วงฉับพลัน” (Telogen effluvium) และไม่ได้เป็นเพราะโควิด-19 อย่างเดียว แต่เป็นอาการป่วยอะไรก็ได้ โดยแบ่งออกเป็น 5 สาเหตุหลัก ประกอบด้วย

1.อาการเจ็บป่วยที่ทำให้ร่างกายเรามีไข้สูง เกิดผลกระทบทางกาย เช่น ไข้เลือดออก ไข้มาลาเรีย หรือการเข้ารับการผ่าตัดใหญ่ที่จำเป็นต้องดมยาสลบ หรือป่วยหนักเข้าไอซียู

2.ผลกระทบทางจิตใจ ความเครียด เช่น จะเข้าสอบแล้วก็เครียด ก็ทำให้ผมร่วงได้

3.คนที่น้ำหนักลดอย่างรวดเร็ว จะลดแบบความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม อาทิ คนที่ลดน้ำหนักแบบคีโต (Ketogenic diet) ลดการกินแป้งและน้ำตาล โดยคนที่ลดน้ำหนักแบบวิธีนี้ในช่วงแรกผมจะร่วงกันเกือบหมด เท่าที่เจอประมาณ 80%

...

“หากเข้าไปในกลุ่มที่คุยกันเรื่องนี้ก็จะรู้ว่า มีบางส่วนเกิดอาการผมร่วงฉับพลัน เพราะกินอาหารไม่ครบ 5 หมู่ ไม่กินแป้งกับน้ำตาล จะทำให้ร่างกายลดน้ำหนักลงอย่างรวดเร็ว และการลดน้ำหนักลงอย่างรวดเร็วนี่เองทำให้เกิดอาการผมร่วงได้ ฉะนั้นหากให้แนะนำ ก็ควรกินบ้างบางมื้อ เช่น กินคีโต 5 วัน รับประทานอาการปกติ 2 วัน เป็นต้น” หมอโบนัส อธิบาย

5 สาเหตุ “ผมร่วงฉับพลัน” เดลตา VS โอมิครอน ผลพวงผมร่วงที่แตกต่าง

4.ผลข้างเคียงจากยา เช่น ยาในกลุ่มแอคโนติน และโรแอคคิวเทน ซึ่งเป็นยาในกลุ่มรักษาสิว ซึ่งจากการรายงานทางการแพทย์พบว่า คนที่กินยากลุ่มนี้ใหม่ๆ จะทำให้เกิดผมร่วง รวมถึงยาลดความดัน ยาไขมัน หรือแม้แต่ยาฮอร์โมน ยาคุมกำเนิด ซึ่งถือเป็นยาที่ปรับเปลี่ยนฮอร์โมนในร่างกาย แต่ไม่ได้เป็นทุกคน

5.โรคประจำตัว อาทิ ไทรอยด์ หรือโรคที่เจ็บป่วยเรื้อรังต่างๆ เช่น แพ้ภูมิตัวเอง ซึ่งเป็นกลุ่มที่ไม่สบายเรื้อรัง ก็อาจจะส่งผลให้เส้นผมบางลง หรือผู้หญิงบางคนที่มีฮอร์โมนเพศชายสูง ก็มีโอกาสป่วยโรคผมร่วงฉับพลัน ซึ่งหากสังเกตดีๆ คนที่ป่วยโรคผมร่วงฉับพลันนั้นส่วนใหญ่จะมาจากระบบภายในร่างกาย

หมอผู้เชี่ยวชาญเรื่องเส้นผม ยังเผยต่อว่า นอกจาก 5 สาเหตุดังกล่าวแล้ว ยังพบผู้หญิงวัยรุ่นผมร่วงบ่อยๆ เนื่องจากการมีประจำเดือน สูญเสียเลือด ธาตุเหล็ก อีกทั้งวัยรุ่นส่วนใหญ่เหล่านี้มักจะควบคุมอาหาร กินอาหารน้อยเกินไป ก็ทำให้เกิดอาการผมร่วงฉับพลันได้ และมีผลเรื้อรังในอนาคตได้

5 สาเหตุ “ผมร่วงฉับพลัน” เดลตา VS โอมิครอน ผลพวงผมร่วงที่แตกต่าง

เปรียบเทียบอาการผมร่วง เดลตา VS โอมิครอน

คุณหมอโบนัส กล่าวต่อว่า สำหรับความรุนแรงของอาการ “ผมร่วงฉับพลัน” ที่เกี่ยวข้องกับโควิด ขึ้นอยู่ที่ความรุนแรงของเชื้อโควิด-19 ดังนั้นเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ที่มีการแพร่ระบาดในช่วงแรก (สายพันธุ์อู่ฮั่น) จะมีความรุนแรงค่อนข้างสูง สังเกตได้จากอัตราการเสียชีวิตและเจ็บป่วยต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ หรือนอนโรงพยาบาล เพราะร่างกายมีอาการ “อักเสบ” เป็นจำนวนมาก ซึ่งคนไข้ที่ป่วยในช่วงนั้นก็จะมีอาการ “ผมร่วง” จำนวนมาก แต่ก็ไม่ค่อยได้เป็นข่าวเยอะนัก เนื่องจากเวลานั้นยังไม่ได้มองว่าเป็นเรื่องสำคัญ

อย่างไรก็ตาม คนที่ติดโควิดช่วงแรกๆ ที่อาการหนักนั้นจะเกิดอาการ “ผมร่วง” หลังจากรักษาตัวหาย 1 เดือน และจะร่วงต่อเนื่อง 2-3 เดือน จากนั้นอาการก็จะดีขึ้นเอง เพราะอาการโดยรวมมันดีขึ้น ก็จะค่อยๆ หายไป

5 สาเหตุ “ผมร่วงฉับพลัน” เดลตา VS โอมิครอน ผลพวงผมร่วงที่แตกต่าง

...

พอมาสู่การแพร่ระบาดของไวรัสโควิดสายพันธุ์ “โอมิครอน” คุณหมอโบนัส บอกว่า จากการสังเกตจากผู้ป่วยที่มาทำการรักษา ก็พบว่ามี “ผมร่วง” เช่นเดียวกัน แต่จะแตกต่างจากการแพร่ระบาดโควิดในช่วงแรก เพราะผมร่วงอาจจะน้อยกว่า ส่วนหนึ่งเพราะว่าความรุนแรงของโรคไม่มาก เพราะเชื้อไม่ได้ลงปอด ส่วนมากจะแค่รู้สึกเจ็บคอ ไอ แต่ไม่มีไข้ หรือมีเพียงเล็กน้อย อีกทั้งระยะเวลาที่ป่วยก็สั้นลง แตกต่างจาก “เดลตา” ที่อาการหนักกว่ามาก และต้องรักษาตัวยาวนาน 7-14 วัน

อีกปัจจัยที่สำคัญที่ทำให้คนป่วยโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา ผมร่วงเยอะกว่า คือ คนป่วยจะมีอาการ “จมูกไม่ได้กลิ่น” และ “ลิ้นไม่รับรสชาติ” ทำให้น้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็ว เพราะเกิดอาการเบื่ออาหาร พอน้ำหนักลดอย่างรวดเร็วก็เป็นสิ่งกระตุ้นให้เกิดภาวะผมร่วงได้ง่าย

“อาการผมร่วงจากโควิด ปัจจุบันคนที่เคยป่วยเดลตามาก็น่าจะดีขึ้นกันทั้งหมดแล้ว ยกเว้นคนที่มีปัญหาเรื่องเส้นผมมาก่อน ส่วนคนที่ผมร่วงจากโอมิครอนถือว่ามีไม่มาก และก็คล้ายกับสายพันธุ์เดลตา คือมันจะค่อยๆ ดีขึ้น ทางป้องกันก็ควรป้องกันตัวเอง ไม่ให้ติดโควิด เพราะโควิดคือผลตามมาที่อาจจะทำให้เกิดผมร่วงได้ หรือถ้าใครติดโควิดแล้ว ควรจะพยายามดูแลตัวเองให้หายเร็ว หรือเจ็บป่วยน้อยที่สุด หรือพยายามดูแลสุขภาพ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ไม่ให้น้ำหนักลดมากเกินไป” คุณหมอโบนัส กล่าวทิ้งท้าย.

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ 

อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ :

...