ถือเป็นเหตุการณ์ “ช็อกโลก” สำหรับโศกนาฏกรรมเครื่องบินโดยสารโบอิ้ง 737-800 สายการบินไชน่า อีสเทิร์น แอร์ ไลน์ส เที่ยวบิน MU 5735 ซึ่งเป็นการบินภายในประเทศของจีน ตกในลักษณะพุ่งลงหัวปักดิน แล้วเกิดระเบิดไฟไหม้ บริเวณภูเขาเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงทางใต้ของจีน ส่งผลให้ผู้โดยสาร 123 ชีวิต และลูกเรืออีก 9 คน รวม 132 คน คาดว่าเสียชีวิตทั้งหมด
จากรายงานของสื่อท้องถิ่นจีน ระบุว่า เครื่องบินโดยสารโบอิ้ง 737-800 เที่ยวบินดังกล่าว เดินทางออกจากเมืองคุนหมิง มณฑลยูนนาน เมื่อเวลา 13.11 น. กำหนดการถึงเมืองกวางโจว มณฑลกวางตุ้ง เวลา 15.05 น. แต่หายไปจากจอเรดาร์เวลา 14.22 น. ในพื้นที่เมืองอู๋โจว เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง โดยเครื่องมีความเร็วสุดท้ายอยู่ที่เกือบ 700 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ก่อนสูญหายตัวเครื่องลดระดับเพดานบินลงอย่างรวดเร็ว จากระดับความสูง 8,870 เมตร มาอยู่ที่ 983 เมตร ภายในเวลาเพียง 3 นาที
เฟซบุ๊กเพจ “อยากเป็นนักบิน” โพสต์ข้อความที่น่าสนใจ โดยระบุว่า เครื่องบินพุ่งดิ่งลงเหมือนดินสอ เป็นไปได้อย่างไร ?? “ “Airplane upset” การสูญเสียท่าทางการบิน โดยปกติแล้ว เครื่องบินเป็นอากาศยานที่มีเสถียรภาพในการบินที่ดีมากถึงแม้ว่าเครื่องยนต์จะดับทั้งหมดก็จะยังสามารถร่อนต่อไปได้จากแรงยกที่ยังคงมีอยู่จากปีกและความสูง(พลังงานศักย์) ที่เปลี่ยนเป็นความเร็ว(พลังงานจลน์)
(ลองนึกภาพเวลาปล่อยเครื่องบินกระดาษลงมาจากที่สูงครับ เหมือนกันเลยต่อให้เราปักหัวทิ่มลงแล้วปล่อย มันก็จะยังคงบินได้) ไม่ใช่ว่าพอไม่มีเครื่องยนต์แล้วจะหล่นตุ้บเป็นก้อนหิน ทีนี้อยู่ที่ว่าความสูงที่มีนั้นจะเปลี่ยนเป็นความเร็วให้สามารถร่อนไปได้ไกลแค่ไหน และจะสามารถประคองไปจนถึงสนามบินหรือบริเวณที่ปลอดภัยจะลงจอดได้หรือไม่
...
การที่เครื่องบินจะดิ่งหัวทิ้งดิ่งลงมาเป็นดินสอได้นั้น มีได้แค่ 2 กรณีคือ
1.ปีกหลุดไปทั้งสองข้าง (อาจเกิดจากการระเบิด หรือมีแรง G ที่สูงมากๆ กระทำกับปีก ซึ่งแทบจะเป็นไปไม่ได้ในเครื่องบินโดยสาร) ทำให้ไม่มีแรงยก และตกลงมาทั้งแบบนั้น
2. แพนบังคับทิศทาง (control surface) บังคับให้เครื่องบินอยู่ในท่าทางนั้น ซึ่งอาจเกิดจากความผิดปกติของระบบเครื่องบิน หรือเกิดจากการบังคับของนักบิน ซึ่งโดยปกติแล้ว นักบินจะได้รับการฝึกฝนการแก้ไขทางทางการบินที่ไม่ปกติ (Airplane upset recovery) กันอย่างสม่ำเสมออยู่แล้ว และจะไม่มีทางปล่อยให้เครื่องบินพุ่งลงมาแบบนั้นแน่นอน ยกเว้นจะจงใจ หรือระบบควบคุมการบิน ล็อกอยู่ในท่านั้น และไม่สามารถควบคุมได้จริงๆ ซึ่งหากจะเทียบกับเคส 737Max ทั้งสองเคส ที่เกิดจากความผิดพลาดของระบบ MCAS ซึ่งเกิดขึ้นไม่นานหลังจากเครื่องวิ่งขึ้น และท่าทางการตกไม่ได้พุ่งลงมาแบบนี้ อย่างไรก็ตาม เคสของ #MU5735 วันนี้นั้นยังต้องอาศัยข้อมูลอีกหลายด้านเพื่อวิเคราะห์และสรุปถึงสาเหตุที่แท้จริงต่อไป
ทั้งนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ มีโอกาสได้คุยกับ “แหล่งข่าว” ซึ่งเป็นนักบินสายการบินแห่งหนึ่ง ในฐานะ “ครูการบิน” มองเรื่องนี้ว่า ถ้าเครื่องบินตกมาด้วยความเร็วขนาดนั้น การวิเคราะห์จากเพจดังกล่าว 2 ข้อ ก็อาจจะเป็นไปได้ แต่...ส่วนตัวก็ยังรู้สึกฉงน ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร และถือเป็น “แปลก” และ “ผิดปกติมากๆ”
เพื่อทำความเข้าใจ ครูการบิน ได้อธิบายว่า อุบัติเหตุทางการบินส่วนใหญ่จะไม่มีลักษณะแบบนี้เลย สมมติว่าเครื่องบินมีปัญหา เครื่องยนต์ดับ ก็จะสามารถบินร่อนต่อได้ไกลเป็น 100 กิโลเมตร การเสียระยะสูงด้วยความรวดเร็วแบบนี้ เพียงแค่ 3 นาทีถึงพื้นเลยถือว่าผิดปกติมากๆ คนในวงการบินเขาอาจจะมองว่า เครื่องบินตกแบบนี้ได้ด้วยหรือ..?
ส่วนตัวมั่นใจว่าสาเหตุโศกนาฏกรรมครั้งนี้ ไม่น่าจะมาจากเครื่องยนต์ดับแน่...แต่อาจจะมาจากระบบ flight control ซึ่งไม่ได้หมายถึงปีกหลุด แต่อาจจะเกิดความขัดข้องกับระบบพื้นบังคับ ทำให้หัวปักลงมา.. สิ่งที่ประหลาด คือ “ทำไมลงท่านี้” หากเครื่องบินมีอะไรเสียหาย คงต้องเสียหายอย่างรุนแรงมาก
อีกกรณี ที่ตั้งข้อสังเกต คือ กรณีบังคับให้เครื่องปักหัวลงมา...ถามว่าทำได้ไหม คำตอบคือนักบินทำได้อยู่แล้ว เพราะนักบินสามารถบังคับเครื่องบินได้อยู่แล้ว แต่เป็นอะไรที่วิเคราะห์ได้ยากมาก สุดท้ายคงต้องไปดูที่กล่องดำ และการสืบสวน
เมื่อถามว่าประวัติศาสตร์การบินโลก เคยมีเหตุการณ์ลักษณะนี้หรือไม่ ครูการบิน คนเดิม เผยว่า เคยอ่านเจอในบทความหนึ่ง ที่เขาระบุว่า มีอาจเกิดแพนหางที่นอตหลุด หรือ หลวม แต่เหตุการณ์นั้นก็ไม่ถึงกับพุ่งหัวปักพื้นแบบนี้ เพราะตัวเมนหลัก คือ ปีก ยังสามารถพยุงเครื่องได้อยู่
...
ยกเว้นว่า “ปีกหลุดหมดเลย” อย่างที่วิเคราะห์กัน.. แต่โอกาสเป็นไปได้มันยากมาก แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย ยิ่งการผลิตเครื่องบินที่มีการตรวจสอบทุกขั้นตอน จะมีเจ้าหน้าที่ตรวจเช็กซ้ำอีกที ไล่ประกอบทีละส่วน จนเสร็จ ถ้าปีกหลุดได้ง่ายขนาดนั้น น่าจะเป็นปัญหาของผู้ผลิต ซึ่งทางโบอิ้ง น่าจะต้องมาสืบสวนสอบสวนอากาศยานอุบัติเหตุ
นอกจากข้อสังเกตทั้ง 2 ข้อที่กล่าวไปข้างต้น ครูการบิน ผู้คร่ำหวอดในวงการบินเครื่องบินพาณิชย์ ยังตั้งอีก 1 ข้อสังเกต คือ เวลานี้ถือเป็นช่วงไม่ปกติ เนื่องจากโควิด-19 ระบาด ทำให้มีการบินที่ลดลงไปมาก ทำให้นักบินเอง ไม่ได้บินเยอะเหมือนแต่ก่อน “ความเรื้อ” จากการทำงาน อาจจะทำให้เกิดความผิดพลาดได้ ซึ่งปกติอาจจะไม่ได้ผิดพลาด เพราะทำประจำ แต่เมื่อไม่ค่อยได้ทำ ก็อาจจะเกิด “ความเรื้อ” ได้
ก่อนหน้านี้ สายการบินในตะวันออกกลาง ก็เกิด “อุบัติการณ์” ที่ไม่ถึงขั้นอุบัติเหตุ โดยคนขับเครื่องบินได้เซตความสูงไว้ 0 เครื่องที่จะไต่ระดับขึ้นจากสนามบิน ก็กลับไม่ขึ้น แต่กลับกดหัวลง เฉียดบ้านคน ซึ่งเกิดจากความผิดพลาด ที่อาจจะไปเซตปุ่มอะไรบางอย่างไว้ ซึ่งถือเป็นเรื่องผิดพลาดที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ประเด็นนี้ เป็นสิ่งที่ สมาคมขนส่งทางอากาศยานระหว่างประเทศ (IATA) และสายการบิน แควนตัส แอร์เวย์ เขามองว่ามีความเสี่ยง ซึ่งส่วนตัว ไม่ทราบว่า การบินในจีน กลับมาเป็นภาวะปกติแล้วหรือไม่
...
ประเด็นการสอบสวนหลังจากนี้ คงต้องไปดูการสื่อสารระหว่างนักบิน และหอการบิน เพราะหากเครื่องบินหากมีความผิดปกติ หรือลดระยะความสูงผิดปกติ อย่างน้อยนักบิน หรือผู้ช่วยนักบิน น่าจะพูดอะไรบ้าง ซึ่งหากไม่มีคำพูดอะไรเลย ก็น่าจะเป็นเรื่องผิดวิสัย
ส่วนตัวก็ถือว่า “ช็อก” กับเหตุการณ์นี้เพราะมีแต่เรื่องผิดปกติมากๆ ไม่ใช่เรื่อง เกี่ยวกับทัศนวิสัย หรือสภาพอากาศ ที่อาจจะบินไปชนเขา หรือเคยเกิดขึ้นบ่อยๆ แต่นี่พุ่งลงมาจากความสูง 29,100 ฟุต ลงภายใน 3 นาที ถึงพื้นมันดูน่าฉงน เชื่อว่าหลายหน่วยงานในประเทศจีน น่าจะต้องมาสอบสวน รวมถึง ทางผู้ผลิตเองต้องรีบสอบสวนให้ชัดเจน เพราะเรื่องที่เกิดขึ้นมันส่งผลกระทบกับบริษัทที่ผลิตเอง ต้องรีบเคลียร์ให้เร็วที่สุด เพราะหากถูกระงับการบินทั้งหมดในรุ่นนี้ อาจจะกระทบไปมากกว่านี้
กระบวนการสอบสวนอากาศยาน “ผู้ผลิต” ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการถอดข้อมูลที่เกิดขึ้น ต้องมาให้ความกระจ่างด้านเทคนิค นอกจากนี้ ยังต้องมีกรมการบินพลเรือน ของประเทศนั้นๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง และอาจจะมีหน่วยงานจากสากล ที่เป็นกลางในการตรวจสอบ
...
หลักสูตรในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน
ครูการบิน อธิบายว่า ปกติเวลาเรียนการบิน จะมีการทบทวนทักษะต่างๆ กับเครื่อง ซิมมูเลเตอร์ ทุกๆ 6 เดือน โดยจะมีการซักซ้อมเหตุการณ์ต่างๆ อาทิ เครื่องยนต์เสีย เครื่องยนต์ไฟไหม้ สิ่งที่เรียกว่า “การแก้ไขสถานการณ์ที่เครื่องบินสภาวะไม่ปกติ ในท่าทางการบินที่ไม่ปกติ ซึ่งการแก้ไขดังกล่าว เช่น จู่ๆ เครื่องบินหัวสูงขึ้นมา เงยขึ้นมาแบบปกติ หรือ ถ้ากดหัวต่ำ เห็นแต่พื้นดินแบบนี้จะแก้ยังไง ซึ่งธรรมชาติของเครื่องบิน จะพยายามทำให้ตัวเองอยู่ในสภาวะปกติ ส่วนนักบินก็พยายามบังคับให้ออกมาในทิศทางที่แก้ไขได้ง่ายขึ้น
ขั้นตอนในการแก้ปัญหาเครื่องบินขัดข้อง
1.แก้ไขสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
2. พยายามสื่อสารไปยังหอบังคับการเพื่อขอความช่วยเหลือ ซึ่งเครื่องตกใน 3 นาที ถือว่ายังมีเวลาอยู่
ทั้งนี้ หากไม่มีการสื่อสารใดๆ ก็ยังตอบได้ยาก เพราะเราไม่ได้อยู่ในสถานการณ์แบบนั้นจริงๆ อาจจะไม่มีโอกาสได้พูดก็เป็นไปได้...
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
ขอบคุณที่มาภาพ : เพจ อยากเป็นนักบิน, China Eastern Airlines
อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ