11 มี.ค. 2020 คือ วันที่องค์กรอนามัยโลก หรือ WHO ประกาศให้ โรคโควิด-19 เป็น "การระบาดใหญ่ (Pendemic)" หลังพบผู้ติดเชื้อใน 118 ประเทศและดินแดนทั่วโลกภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่เดือน หลังพบผู้ติดเชื้อคนแรกของโลกที่เมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ในเดือนธันวาคม 2019 นั่นเท่ากับว่า ตัดภาพมาถึงวันที่ 11 มี.ค. 2020 ชาวโลกได้อยู่ร่วมกับโควิด-19 มาครบ 2 ปีเต็มเข้าให้แล้ว

ระหว่าง 2 ปี อันยาวนานที่ทำให้มนุษยชาติทั้งต้องสูญเสีย เจ็บปวด และจำเป็นต้องห่างไกลกันอย่างชนิดไม่เคยปรากฏมาก่อน ล่าสุด ก้าวย่างของมนุษยชาติอยู่ ณ จุดใดของการสิ้นสุดกันแล้ว...

 โควิด-19 อยู่กับมนุษย์มาครบ 2 ปี แล้ว
โควิด-19 อยู่กับมนุษย์มาครบ 2 ปี แล้ว

สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ในวันครบรอบ 2 ปี

จำนวนผู้ติดเชื้อสะสมทั่วโลก : 453,925,620 คน
จำนวนรวมผู้ติดเชื้อในรอบ 28 วัน : 47,181,305 คน

...

จำนวนผู้เสียชีวิตสะสมทั่วโลก : 6,032,429 ศพ
จำนวนรวมผู้เสียชีวิตในรอบ 28 วัน : 238,018 ศพ

จำนวนการฉีดวัคซีนรวม : 10,664,892,901 โดส
จำนวนการฉีดวัคซีนในรอบ 28 วัน : 499,438,002 โดส

ประเทศที่มีผู้ติดเชื้อและมีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุดในรอบ 28 วัน

เยอรมนี จำนวนผู้ติดเชื้อ 4,746,018 คน จำนวนผู้เสียชีวิต 5,591 ศพ
จำนวนผู้ติดเชื้อสะสมรวมทั้งหมด 16,850,619 คน
จำนวนผู้เสียชีวิตสะสมรวมทั้งหมด 125,337 ศพ

หมายเหตุ อ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์มหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ (Johns Hopkins University) สิ้นสุดวันที่ 11 มี.ค. 2022

ความแตกต่างของสนามบินในสหรัฐอเมริกา ช่วงการแพร่ระบาดและปัจจุบัน
ความแตกต่างของสนามบินในสหรัฐอเมริกา ช่วงการแพร่ระบาดและปัจจุบัน

รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ล่าสุดจาก WHO :

จากข้อมูลอัปเดตด้านระบาดวิทยาโควิด-19 รายสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 19 ก.พ.-8 มี.ค. 2022 ของ WHO 

ระบุว่า จำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 รายใหม่ทั่วโลกลดลงอย่างต่อเนื่องในสัดส่วน 5% และ 8% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้านี้ โดยมีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่มากกว่า 10 ล้านคนทั่วโลก และผู้เสียชีวิตมากกว่า 52,000 ศพ

โดย ณ วันที่ 6 มี.ค.2022 มีผู้ติดเชื้อสะสมที่ได้รับการยืนยันแล้วมากกว่า 433 ล้านคน และเสียชีวิตสะสมมากกว่า 5,900,000 ศพ ทั่วโลก

โดยภูมิภาคเอเชียตะวันออก กลายเป็นภูมิภาคที่มีรายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่ในรอบสัปดาห์เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีจำนวนเพิ่มขึ้นถึง 46% เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า ซึ่งส่วนทางกับภูมิภาคอื่นๆ ในโลกที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยตะวันออกกลาง ลดลง 46% แอฟริกา ลดลง 40% เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ลดลง 31% อเมริกา ลดลง 24% และ ยุโรป ลดลง 18%

ด้านจำนวนผู้เสียชีวิตในรอบสัปดาห์ นั้น ภูมิภาคเอเชียตะวันออก มีรายงานผู้เสียชีวิตในรอบสัปดาห์เพิ่มขึ้นถึง 29% เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า ส่วนภูมิภาคตะวันออกกลาง สถานการณ์เริ่มทรงตัว หลังจำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 2% ส่วนแอฟริกา ลดลง 39% ยุโรป ลดลง 15% อเมริกา ลดลง 9% และ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ลดลง 3%

อย่างไรก็ดี WHO ได้ตั้งข้อสังเกตในประเด็นแนวโน้มการติดเชื้อโควิด-19 ที่เริ่มลดลงในหลายภูมิภาคของโลกว่า ควรมีการตีความด้วยความระมัดระวังเนื่องจากหลายประเทศใช้กลยุทธ์การทดสอบแบบกำหนดเป้าหมาย ซึ่งอาจทำให้ภาพรวมการติดเชื้อต่ำกว่าความเป็นจริง

...

สนามบินในสหรัฐฯเริ่มผ่อนคลายมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม
สนามบินในสหรัฐฯเริ่มผ่อนคลายมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม

2 ปีที่ผ่านมา มนุษยชาติอยู่จุดใดของการสิ้นสุด

ความคืบหน้า...

การเรียนรู้และวิธีการที่หลากหลายเพื่ออยู่ร่วมกับโควิด-19 :

การแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นตัวเร่งให้เกิดการกลายพันธุ์ของไวรัส ทำให้รัฐบาลหลายประเทศเริ่มเรียนรู้และมองหาวิธีที่แตกต่างกันเพื่อให้พลเมืองสามารถอยู่ร่วมกับโควิด-19 ให้ได้ เช่น การเลือกใช้มาตรการล็อกดาวน์บางส่วน, พาสปอร์ตวัคซีน, รวมถึงการผ่อนปรนมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมต่างๆ เมื่อจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศลดลง เพื่อผ่อนคลายเครียดและความเหนื่อยล้าให้กับประชาชน

ความก้าวหน้าของวัคซีน :

ก่อนหน้าการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 วัคซีนที่ถูกพัฒนาและนำมาใช้ได้เร็วที่สุด คือ วัคซีนโรคคางทูม ซึ่งต้องใช้เวลาในการพัฒนานานถึง 4 ปี แต่ภายในเวลาเพียงไม่ถึง 12 เดือน บริษัทไฟเซอร์ ประสบความสำเร็จในการพัฒนาวัคซีนต้านโควิด-19 ได้เป็นบริษัทแรก และภายในระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมานี้ มีวัคซีนรวมกันถึง 12 ชนิดที่ได้รับการอนุมัติให้ใช้ได้อย่างเต็มรูปแบบในส่วนต่างๆ ของโลก และ 19 ชนิดที่ถูกอนุมัติให้ใช้ในกรณีฉุกเฉิน นอกจากนี้ในปัจจุบันยังมีวัคซีนอีกมากกว่า 100 ชนิดที่อยู่ในขั้นตอนการทดสอบทางคลินิกด้วย

...

ว่าแต่...มาถึงวันนี้ “คุณ” ได้ฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 กันไปคนละกี่เข็มกันแล้วนะ?

หน้ากากอนามัยยังคงเป็นอีกหนึ่งอวัยวะของมนุษย์ต่อไป :

ในช่วงต้นของการแพร่ระบาด เกิดข้อถกเถียงอย่างกว้างขวางว่า หน้ากากอนามัย จำเป็นต่อการป้องกันการแพร่ระบาดหรือไม่ แต่ ณ วันนี้ หน้ากากอนามัยได้ “แสดงคำตอบ” ด้วยตัวของมันเองแล้วว่า “มันคือสิ่งที่มีความจำเป็น” โดยเฉพาะหลังพบข้อมูลที่ชัดเจนว่า ผู้ติดเชื้อไม่แสดงอาการสามารถแพร่เชื้อได้ ด้วยเหตุนี้ แม้แต่ ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐฯ หรือ CDC ก็ยังต้องกลับลำ เปลี่ยนคำแนะนำให้ ผู้ที่ฉีดวัคซีนครบสูตร กลับไปสวมหน้ากากอนามัยเวลาไปอยู่สถานที่เสี่ยง

ความแตกต่างของสนามบินในสหรัฐอเมริกา ช่วงการแพร่ระบาดและปัจจุบัน
ความแตกต่างของสนามบินในสหรัฐอเมริกา ช่วงการแพร่ระบาดและปัจจุบัน

...

สิ่งที่ยังต้องเฝ้าระวัง

1.การกลายพันธุ์ของไวรัส

การแพร่ระบาดในระดับสูง โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีอัตราการฉีดวัคซีนต่อจำนวนประชากรในระดับต่ำ ยังเป็นสิ่งที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด เพราะการแพร่ระบาดจะนำไปสู่การกลายพันธุ์ของไวรัส และหากโชคร้าย ไวรัสที่กลายพันธุ์สามารถเพิ่มอัตราการติดเชื้อ รวมถึงอาการเจ็บป่วยหนักมากขึ้น บางทีวัคซีนต้านโควิด-19 ที่มีอยู่ในเวลานี้ อาจใช้ไม่ได้ผล

2. ภูมิคุ้มกันลดลง

จากข้อมูลเท่าที่มีอยู่ในเวลานี้ “กลุ่มเปราะบาง” ผู้สูงอายุและมีโรคร่วม แม้จะได้รับวัคซีนครบสูตรแล้ว แต่เมื่อเวลาผ่านไประดับภูมิคุ้มกันมักจะลดลง ด้วยเหตุนี้กลุ่มเปราะบางจึงควรได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นต่อไป

3.อาการ Long COVID

การแพร่ระบาดที่ยังดำเนินอยู่ในเวลานี้ ซึ่งแม้แต่ในกลุ่มผู้ที่ได้รับวัคซีนครบสูตร รวมถึง กลุ่มคนที่หายจากอาการป่วยโรคโควิด ก็ยังมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อซ้ำได้ ย่อมทำให้มีความเสี่ยงที่ผู้ติดเชื้อ อาจเกิดอาการ Long COVID โดยจากข้อมูลในปัจจุบันอยู่ที่สัดส่วนประมาณ 1 ใน 10 ของผู้ป่วยโรคโควิด-19

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :

ความแตกต่างของสนามบินในสหรัฐอเมริกา ช่วงการแพร่ระบาดและปัจจุบัน
ความแตกต่างของสนามบินในสหรัฐอเมริกา ช่วงการแพร่ระบาดและปัจจุบัน

คำถามที่ยังไร้คำตอบ

1. โควิด-19 เกิดขึ้นจากอะไรกันแน่ :

หลังการปรากฏตัวครั้งแรกที่เมืองอู่ฮั่นประเทศจีน และลุกลามกลายเป็นประเด็นร้อนทางการเมืองระหว่างสหรัฐฯ และจีน แต่จนถึงทุกวันนี้ ก็ยังคงไร้คำตอบที่แน่ชัดว่า โรคระบาดที่คร่าชีวิตผู้คนไปมากมายและฉุดเศรษฐกิจโลกให้ดำดิ่งมีต้นกำเนิดมาจากอะไรกันแน่

อย่างไรก็ดี นักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขทั่วโลกส่วนใหญ่ยังคงมีความเชื่อมั่นว่า ต้นกำเนิดของโรคโควิด-19 น่าจะเกิดมาจากสัตว์มากกว่า “ทฤษฎีการรั่วไหลจากห้องปฏิบัติการ”

2. เมื่อไหร่ที่การแพร่ระบาดโควิด-19 จะสิ้นสุด :

“แม้ว่ารายงานผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตทั่วโลกจะลดลง และหลายประเทศได้ยกเลิกข้อจำกัดต่างๆ แต่...การแพร่ระบาดใหญ่ ยังไม่ได้สิ้นสุดลง”

ดร.เทดรอส อัดฮานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่ขององค์การอนามัยโลก 

คำกล่าวของ ผู้อำนวยการใหญ่ขององค์การอนามัยโลก สะท้อนถึงความวิตกกังวล ความเป็นจริง ณ เวลานี้ว่า การที่หลายๆ ประเทศ เริ่มลดการตรวจหาผู้ติดเชื้อลงอย่างฮวบฮาบ รวมถึงอัตราการฉีดวัคซีนในกลุ่มประเทศยากจนยังคงเป็นไปอย่างเชื่องช้า ซึ่งแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับอัตราการฉีดวัคซีนของประชากรในกลุ่มประเทศร่ำรวย นั้น นอกจากจะขัดขวางการศึกษาและติดตามโรคอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลที่ว่าไวรัสอยู่ที่ไหน แพร่กระจายโรคอย่างไร และวิวัฒนาการอย่างไร แล้ว ยังจะทำให้ การแพร่ระบาดโควิด-19 ทอดยาวออกไปอีกด้วย เพราะ....

“will not be over anywhere until it’s over everywhere”
“จะไม่มีที่ใดสิ้นสุด (การแพร่ระบาด) จนกว่า ทุกๆ ที่จะสิ้นสุด (การแพร่ระบาด)

หมายเหตุ สิ้นสุดวันที่ 11 มี.ค. 2020 จากข้อมูลของ Our World in Data มีประชากรโลกคิดเป็นสัดส่วนเพียง 63.4% ที่ได้รับวัคซีนต้านโควิด-19 อย่างน้อย 1 เข็ม จากปริมาณวัคซีนมากกว่า 10,000 ล้านโดสทั่วโลก โดยในจำนวนนี้ มีพลเมืองจากประเทศที่มีรายได้ต่ำ ได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็ม คิดเป็นสัดส่วนเพียง 13.7% เท่านั้น ในขณะที่พลเมืองของบางประเทศโดยในกลุ่มประเทศร่ำรวย เข้าสู่การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น เข็มที่ 3 หรือ เข็มที่ 4 กันแล้ว!

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง