การเจรจาสันติภาพรอบใหม่ ระหว่างรัสเซียและยูเครน จะมีความคืบหน้าอย่างไร ภายหลังรอบสาม ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร และหลายฝ่ายหวังว่าสงครามจะไม่ยืดเยื้อ จนเกิดผลกระทบเป็นวงกว้างไปมากกว่านี้ ทั้งด้านเศรษฐกิจและต่อมนุษยชาติ
รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ นักเศรษฐศาสตร์ ประเมินสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน ออกเป็น 6 ฉากทัศน์ โดยฉากทัศน์ที่หนึ่ง เป็นเพียงสงครามระยะสั้น สามารถยึดครองยูเครนได้ และสามารถตั้งรัฐบาลที่เป็นพันธมิตรกับรัสเซียได้ภายใน 15 วัน ซึ่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกมีจำกัดและไม่รุนแรง ส่วนเศรษฐกิจรัสเซีย เสียหายหนักจากการคว่ำบาตรของพันธมิตรชาติตะวันตก เกิดความสูญเสียของชีวิตมนุษย์และความเสียหายในพื้นที่สงครามรุนแรง
แต่ฉากทัศน์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นแล้ว เพราะรัสเซียไม่น่าจะสามารถยึดครองประเทศยูเครนได้ตามเป้าหมาย หรือเร็วกว่า 15 วัน จากแรงต่อต้านของประชาชนและกองทัพยูเครนอย่างเข้มแข็ง และยังมีทหารรับจ้างต่างประเทศสมัครไปรบในยูเครน
“การไม่สามารถโค่นล้มรัฐบาลโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนชาวยูเครน ภายในเวลาอันสั้น ทำให้สถานการณ์ทางการเมืองและการทหารของระบอบปูติน ไม่อยู่ในฐานะที่มีอำนาจต่อรองมากนัก ฉากทัศน์นี้อาจเกิดขึ้นได้ หากทั้งสองฝ่ายยุติการหยุดยิงและยุติสงคราม สามารถเจรจาสันติภาพกันได้ แต่เป็นสิ่งที่มีความเป็นไปได้น้อย”
...
ฉากทัศน์ที่สอง สงครามยืดเยื้อในยูเครน เป็นไปได้มากที่สุด เหมือนสถานการณ์สู้รบในซีเรียและอัฟกานิสถาน ภายหลังกองทัพรัสเซียสามารถยึดครองพื้นที่บางส่วนของยูเครนได้ และรัฐบาลยูเครนยังคงบริหารประเทศได้ในบางพื้นที่ แต่ผลกระทบต่อเศรษฐกิจยุโรปจะรุนแรงและยืดเยื้อ รวมทั้งมีผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยุโรป ส่วนผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกมีจำกัด แต่สงครามยืดเยื้อในยูเครน จะเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามตัวแทนระหว่างระบอบอำนาจนิยม กับระบอบเสรีประชาธิปไตย กลายเป็นสงครามเย็นรอบใหม่
ฉากทัศน์ที่สาม ขยายวงสู่สงครามยุโรป มีความเป็นไปได้ลดลง เพราะสมาชิกนาโตไม่ส่งกองทัพเข้าร่วมรบโดยตรง และหลีกเลี่ยงการดำเนินการใดๆ ในการเผชิญหน้าทางการทหารโดยตรง ระหว่างนาโตกับรัสเซีย แต่หากเกิดกรณีนี้ขึ้น จะส่งผลกระทบทำให้เศรษฐกิจเกิดวิกฤตการณ์ได้ หากสงครามขยายวงเป็นสงครามในยุโรปจะเกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก
“แม้จะไม่รุนแรงเท่าการแพร่ระบาดโควิดและล็อกดาวน์เศรษฐกิจเมื่อปี 2563 แต่น่าจะส่งผลกระทบทางลบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจของบางประเทศ ทิศทางขาขึ้นอัตราดอกเบี้ยโลกชะลอตัว และธนาคารกลางหลายประเทศอาจต้องออกมาตรการเพิ่ม เพื่อประคับประคองตลาดการเงิน”
ฉากทัศน์ที่สี่ ขยายวงสู่สงครามยุโรป และมีการใช้ขีปนาวุธนิวเคลียร์โจมตีกันไปมา มีความเป็นไปได้ต่ำ แต่หากเกิดกรณีนี้ขึ้นอาจเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ระดับเดียวกับวิกฤตการณ์เศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกในช่วงทศวรรษ ค.ศ. 1930
ฉากทัศน์ที่ห้า ขยายวงสู่สงครามโลก มีความเป็นไปได้น้อยเช่นเดียวกัน เพราะสหรัฐฯ และชาติตะวันตกพันธมิตรนาโต ลดความเสี่ยงด้วยการไม่เผชิญหน้ากับรัสเซียโดยตรง หากเกิดขึ้นอาจเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ ระดับเดียวกับวิกฤตการณ์เศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกในช่วงทศวรรษ ค.ศ. 1930 หรือรุนแรงกว่า เพราะโลกเชื่อมโยงกันมากกว่า เป็นโลกาภิวัตน์มากกว่าเมื่อ 90 ปีที่แล้ว
...
ฉากทัศน์ที่หก เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในรัสเซีย ระบอบปูติน หลุดพ้นจากอำนาจ สงครามยุติลงทันทีและตามมาด้วยการถอนกำลังทหาร ฉากทัศน์นี้เป็นไปได้ แต่ต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 1-2 ปี หากระบอบปูตินไม่ถอนกองทัพรัสเซีย ออกจากดินแดนของยูเครน และน่าจะมีสภาพเดียวกับสงครามเวียดนาม สงครามในซีเรีย หรืออัฟกานิสถาน
“หากถอนทหารและยุติการหยุดยิง ด้วยการเจรจา สถานการณ์น่าจะจบลงโดยเร็ว แต่ไม่น่าจะเป็นทางเลือกของระบอบปูติน เนื่องจากต้องการดินแดนบางส่วนมาผนวกรวมกับรัสเซีย และยังมีประเด็นความพยายามเข้าร่วมกับอียูและนาโตของยูเครน ทำให้กลุ่มผู้นำของมอสโกรู้สึกถึงความไม่มั่นคง แต่เรื่องนี้ มันเป็นเรื่องที่ต้องปล่อยให้ประชาชนชาวยูเครนตัดสินใจเลือกเอง ไม่ใช่เอากำลังไปรุกรานบีบบังคับ”
...
หรือหากระบอบปูติน ยึดพื้นที่ประเทศยูเครนได้ แล้วตั้งรัฐบาลหุ่นเชิด จะเกิดการต่อต้านจากประชาชน เกิดความวุ่นวายและเป็นสงครามกลางเมือง Civil War แบบเดียวกับในซีเรีย และสงครามอาจไม่ขยายวง หากนาโตไม่ส่งกองทัพเข้าร่วมรบ แต่หากสงครามขยายวง ต้องมาประเมินเศรษฐกิจโลกเศรษฐกิจไทยกันใหม่
แต่ไม่ว่าจะเกิดกรณีฉากทัศน์ใดก็ตาม จะทำให้ราคาน้ำมันในประเทศปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่ำ จากระดับปัจจุบัน 7-15 บาทต่อลิตร มีผลทำให้อัตราเงินเฟ้อในไทยในช่วงที่เหลือของปีเฉลี่ยที่ 6-10% และประเทศไทย อาจประสบปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดได้ในปีนี้ต่อเนื่องจากปีที่แล้ว หากเลือกชดเชยอุดหนุนราคา จะเพิ่มปัญหาหนี้สาธารณะ มีความเสี่ยงต่อฐานะการคลังในอนาคต และเงินเฟ้อ ช่วงที่เหลือของปี จะพุ่งสูงขึ้นกว่าเป้าหมายค่อนข้างมาก.